อย่าให้กลายเป็นตำรวจนอกกฎหมาย : โดย วสิษฐ เดชกุญชร

ผมเห็นภาพข่าว พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ โต้คารมกับนายวสุ ผันเงิน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านใหม่ จังหวัดนนทบุรี ซึ่งเป็นผู้ต้องหา ด้วยความอ่อนใจ

ผมจำได้ว่าผมได้เขียนติงเอาไว้ในหนังสือพิมพ์ “มติชน” ฉบับวันอังคารที่แล้ว (16 พฤษภาคม 2560) นี่เอง ในบทความชื่อ “เมื่อตำรวจ (ดีใจจน) ลืมกฎหมาย” ว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับ พ.ศ.2560 ในมาตรา 29 วรรค 2 บัญญัติไว้ชัดเจนว่า “ในคดีอาญาให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า
ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่า บุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้”

ครั้งนั้น พล.ต.ท.ฐิติราช หนองหารพิทักษ์ ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ซักถามผู้ต้องหาต่อหน้าผู้สื่อข่าวด้วยถ้อยคำส่อไปในทางคุกคาม และปรักปรำ

ชั่วเวลาห่างกันเพียงสัปดาห์เดียว ภาพของการปฏิบัติต่อผู้ต้องหา เหมือนเป็นผู้กระทำความผิดก็เกิดขึ้นอีก คราวนี้โดยรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

Advertisement

การซักถามผู้ต้องหาของ พล.ต.อ.ศรีวราห์แม้จะกระทำภายในห้องที่ดูเหมือนจะจัดไว้โดยเฉพาะ แต่ก็เห็นได้ชัดว่าผู้อื่นที่มิใช่พนักงานสอบสวนก็อยู่ในห้องนั้น และผู้สื่อข่าวก็สามารถบันทึกภาพการซักถามได้โดยตลอด

ที่น่าเกลียดมากก็คือภาพคนในเครื่องแต่งกายชุดดำซึ่งคงจะเป็นตำรวจเอื้อมมือไปจับร่างกายของผู้ต้องหาในทำนองขู่หรือคุกคาม และผู้ต้องหาร้องบอกว่า “อย่ามาโดนตัวกู”

หน้าที่ในการพิจารณาความผิดเป็นของศาล พนักงานสอบสวนมีหน้าที่เพียงรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อยื่นฟ้องผู้กระทำความผิดต่อศาล และก่อนจะถึงศาลยังมีเจ้าพนักงานอัยการซึ่งจะต้องพิจารณาสำนวนการสอบสวนของตำรวจว่าสมควรจะฟ้องหรือไม่

Advertisement

พล.ต.อ.ศรีวราห์น่าจะตระหนักว่าการดำเนินการกับผู้ต้องหานั้นต้องปราศจากอคติและต้องเป็นไปในกรอบของกฎหมายเสมอ แม้โดยส่วนตัวจะเชื่อว่าผู้ต้องหากระทำความผิดจริง แต่ก็จะต้องไม่เอาความรู้สึกส่วนตัวนั้นไปใช้กับผู้ต้องหาไม่ว่าด้วยประการใดๆ

ผมได้เตือนไว้ในบทความที่เขียนเมื่อวันอังคารที่แล้วว่า การนำตัวผู้ต้องหาออกไปซักถามและปรักปรำในที่สาธารณะต่อหน้าผู้สื่อข่าวเช่นนั้น อาจเป็นความผิดทางอาญาตามมาตรา 157 ของประมวลกฎหมายอาญาที่บัญญัติว่า ผู้ที่เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดเป็นความผิด มีโทษทั้งปรับและจำคุก

ผู้ต้องหาในคดีที่ พล.ต.อ.ศรีวราห์รับผิดชอบนั้นเป็นถึงนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ย่อมมีความรู้เรื่องกฎหมายไม่มากก็น้อย หากผู้ต้องหาตัดสินใจที่จะยื่นฟ้อง พล.ต.อ.ศรีวราห์บ้างในข้อหาว่าปฏิบัติโดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่เขา ก็จะเสียหายทั้งแก่ส่วนตัว พล.ต.อ.ศรีวราห์เอง และแก่สำนักงานตำรวจแห่งชาติด้วย

ถึงเวลาแล้วที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและวิธีดำเนินการกับผู้ต้องหาของเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกระดับ เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมาย ก่อนที่ตำรวจจะกลายเป็นผู้อยู่นอกหรือเหนือกฎหมายเสียเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image