‘พิชัย’ฟ้องศาลระงับสรรหาบิ๊กมรภ.พระนคร จี้โละข้อบังคับห้ามแคนดิเดตลงสมัคร

เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม นายพิชัย สิริรัตนพลกุล อาจารย์คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏ(มรภ.) มรภ.พระนคร ผู้สมัครอธิการบดี มรภ.พระนคร เปิดเผยถึงการสรรหาอธิการบดีมรภ.พระนครหลังจากนายมีชัย ฤชุพันธุ์ นายกสภาฯ และนายถนอม อินทรกำเนิด อุปนายกและประธานคณะกรรมการสรรหาอธิการบดี รอบที่ 2 ลาออกจากตำแหน่งในการประชุมสภามรภ.พระนครเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม เนื่องจากการสรรหาอธิการบดีมรภ.พระนคร ล่มเป็นครั้งที่ 2 เพราะได้คะแนนโหวตไม่เกินกึ่งหนึ่งของคณะกรรมการสภาฯ ตามข้อบังคับมรภ.พระนครว่าด้วยการประชุมสภามหาวิทยาลัย(ฉบับที่ 3) พ.ศ.2559 ว่า คาดไม่ถึงที่นายมีชัย ประกาศลาออกกลางที่ประชุม ถือว่ามีความรับผิดชอบและเป็นสุภาพบุรุษ ส่วนตัวอยากให้กลับมาเป็นนายกสภาฯเพื่อสะสางปัญหาที่ซุกใต้พรม

นายพิชัย กล่าวต่อว่า เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2560 ตนได้ฟ้องคณะกรรมการสรรอธิการบดีรอบที่ 2 และสภามรภ.พระนคร ต่อศาลปกครองกลาง เนื่องจากประกาศคณะกรรมการสรรหาอธิการบดีเรื่องรายชื่อผู้ได้รับการกลั่นกรองเบื้องต้นเพื่อเข้ารับการสรรหาให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมรภ.พระนคร ที่ออกโดยนายถนอม ประธานคณะกรรมการสรรหาฯ เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2560 ไม่มีชื่อตนทั้งที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามประกาศคณะกรรมการสรรหาอธิการบดีเรื่องแนวทาง วิธีการและหลักเกณฑ์การพิจารณาในการสรรหาอธิการบดีมรภ.พระนคร ที่ระบุว่า 1.ต้องมีคุณสมบัติตามมาตรา 29 แห่งพ.ร.บ.มรภ.พ.ศ.2547 คือสำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และทำการสอนหรือมีประสบการณ์ด้านการบริหารมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปีหรือเคยดำรงตำแหน่งกรรมการสภาฯ หรือดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ และ2.มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามข้อบังคับมรภ.พระนครว่าด้วยคุณสมบัติและวิธีการสรรหาอธิการบดี พ.ศ.2555 ตนจึงได้ฟ้องศาลขอให้ 1.ยกเลิก เพิกถอนประกาศของคณะกรรมการสรรหาอธิการบดีเรื่องรายชื่อผู้ได้รับการกลั่นกรองเบื้องต้นเพื่อเข้ารับการสรรหาให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมรภ.พระนครลงวันที่ 24 เมษายน 2560 2.ยกเลิกเพิกถอนการสรรหาอธิการบดีมรภ.พระนครของคณะกรรมการสรรหาฯ 3.ยกเลิก เพิกถอนการสรรหาอธิการบดีมรภ.พระนครของสภามรภ.พระนคร ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2560 และ4.ขอให้ศาลไต่สวนเพื่อคุ้มครองบรรเทาทุกข์ของตนเพื่อให้มีการชะลอหรือระงับการสรรหาอธิการบดีเพื่อให้การสรรหาอธิการบดีเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายและดำรงไว้ในคุณธรรม ธรรมาภิบาลการบริการสาธารณะในทางอุดมศึกษาต่อไป

นายพิชัย กล่าวต่อว่า จากนั้นศาลนัดไต่สวนวันที่ 17 พฤษภาคม โดยทางสภาฯ ส่งนางจุไร วรศักดิ์โยธิน เลขานุการสภาฯ และรองอธิการบดี เป็นตัวแทนเข้าชี้แจงว่าที่ตนไม่ผ่านการสรรหา เพราะคณะกรรมการสรรหาเห็นว่าคุณสมบัติขัดกับข้อบังคับมรภ.พระนครว่าด้วยการประชุมสภามรภ.พระนคร (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2559 ข้อ 3 ที่กำหนดห้ามเสนอชื่อผู้ได้รับการเสนอชื่อหรือสมัครในครั้งก่อน ซึ่งตนได้แย้งว่าข้อห้ามดังกล่าว เป็นข้อห้ามของคณะกรรมการสรรหาฯ ที่ไม่ให้เสนอชื่อผู้ที่เคยได้รับการเสนอชื่อหรือสมัครรอบแรก เข้าสู่สภาฯ แต่ไม่ใช่ข้อห้ามสำหรับการสมัครหรือเข้าแสดงวิสัยทัศน์ต่อคณะกรรมการสรรหาฯ อีกทั้งถ้าให้ถือเป็นคุณสมบัติต้องห้ามของการลงสมัคร ก็ควรระบุไว้ในประกาศคณะกรรมการสรรหาอธิการบดีเรื่องแนวทาง วิธีการและหลักเกณฑ์การพิจารณาในการสรรหาอธิการบดีมรภ.พระนคร ให้ชัดเจน แต่นี่ไม่ได้ระบุไว้ และที่สำคัญเมื่อวันที่ 24 เมษายน ที่ตนไปยื่นหนังสือร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อนายกสภาฯ กรรมการสภาและคณะกรรมการสรรหาอธิการบดีชุดที่ 2 เพื่อขอให้ยกเลิกข้อบังคับมรภ.พระนครว่าด้วยการประชุมสภามหาวิทยาลัย (ฉบับที่ 3)พ.ศ.2559 โดยให้เหตุผลว่ากระทบสิทธิ์ของผู้สมัครซึ่งนายมีชัย โต้กลับมาว่าตนยังต้องการอะไรอีก ในเมื่อมีสิทธิ์สมัครและเข้าแสดงวิสัยทัศน์ต่อคณะกรรมการสรรหาฯ ได้เพียงแต่คณะกรรมการสรรหาฯ ไม่มีสิทธิ์หยิบชื่อตนเข้าสู่สภาฯ เท่านั้น ฉะนั้นชัดเจนว่าตนมีสิทธิ์สมัครและผ่านการกลั่นกรองเบื้องต้นเพื่อเข้ารับการสรรหาจากคณะกรรมการสรรหาฯ โดยหลังการชี้แจง นางจุไรก็ตอบไม่ได้

นายพิชัย กล่าวต่อว่า หลังการไต่สวนวันที่ 17 พฤษภาคม ศาลยังไม่ได้สั่งการทุเลาหรือระงับการสรรหาอธิการบดี เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม ตนจึงได้ฟ้องคณะกรรมการสรรหาอธิการบดี ที่มีนายถนอมเป็นประธาน ต่อศาลปกครองเพื่อขอให้ทุเลาหรือระงับการสรรหาอธิการบดี โดยตนได้ร้องเพิ่มเติมว่าประกาศคณะกรรมการสรรหาอธิการบดีมรภ.พระนคร เรื่องรายชื่อผู้ได้รับการกลั่นกรองเบื้องต้น ลงวันที่ 24 เมษายน 2560 ลงนามโดยนายถนอม ยังเป็นประกาศที่มิชอบด้วยเหตุว่านายถนอม ได้ออกข้อกำหนดเพิ่มเติมที่มิได้กำหนดไว้ในพ.ร.บ.มรภ.พ.ศ.2547 มาตรา 28-29 และข้อบังคับมรภ.พระนครว่าด้วยคุณสมบัติและวิธีการสรรหาอธิการบดี พ.ศ.2555 และที่แก้ไขเพิ่มเติมและประกาศคณะกรรมการสรรหาอธิการบดีมรภ.พระนคร ลงวันที่ 27 มีนาคม 2560 ว่า “โปรดเสนอรายชื่อบุคคลที่จะเลือกเป็นรองอธิการบดีพร้อมคำยินยอมโดยระบุคุณสมบัติความรู้ความสามารถและประสบการณ์ที่จะร่วมบริหารมหาวิทยาลัยไปสู่ความสำเร็จตามวิสัยทัศน์ที่กำหนดไว้ หากไม่เสนอแต่งตั้งรองอธิการบดีตามที่ระบุไว้ ถือว่าขาดคุณสมบัติการดำรงตำแหน่งอธิการบดี” ซึ่งจะต้องนำส่งเอกสารรายชื่อรองอธิการบดีก่อนวันที่ 3 พฤษภาคม ฉะนั้นถือเป็นการขัดต่อประกาศฯ ลงวันที่ 27 มีนาคม 2560 ของคณะกรรมการสรรหาฯ เองซึ่งในพ.ร.บ.มรภ.พ.ศ.2547 มาตรา 28-29 และข้อบังคับมรภ.พระนครว่าด้วยคุณสมบัติฯ พ.ศ2555 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ก็ไม่ได้กำหนดให้คณะกรรมการสรรหาฯ กระทำการดังกล่าวได้ แถมยังเกิดผลประโยชน์ทับซ้อนเกิดขึ้นในช่วงการนำเสนอวิสัยทัศน์ของผู้สมัครบางท่าน ในวันที่ 8 พฤษภาคม 2560 เนื่องจากข้อบังคับมรภ.พระนครว่าด้วยคุณสมบัติและวิธีการสรรหาอธิการบดี (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2556 ข้อ 3 กำหนดว่า “เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมและขจัดความทับซ้อนแห่งผลประโยชน์ ในการแต่งตั้งรองอธิการบดี สภาฯจะไม่ให้ความเห็นชอบกรรมการสรรหาอธิการบดีและกรรมการสภาฯ เป็นรองอธิการบดีภายใน 2 ปีนับแต่วันแต่งตั้งอธิการบดี เว้นแต่เป็นกรรมการสภาฯ ผู้ซึ่งได้แสดงเจตนาให้เป็นประจักษ์ว่า ตนไม่ใช้สิทธิในการลงคะแนนเลือกอธิการบดี” เป็นประกาศข้อบังคับที่ลงนามโดยนายมีชัย แต่ปรากฏว่าในการนำเสนอวิสัยทัศน์วันที่ 8 พฤษภาคมนั้น มีผู้สมัครท่านหนึ่งคือนายเดช บุญประจักษ์ ปัจจุบันรักษาการอธิการบดีมรภ.พระนครและกรรมการสภาฯ ได้เสนอรายชื่อนางจุไร วรศักดิ์โยธิน เป็นทีมงานรองอธิการบดีของตนต่อคณะกรรมการสรรหาฯ ในระหว่างการนำเสนอวิสัยทัศน์ ทั้งที่เวลานั้นนางจุไร เป็นรองอธิการบดี เลขานุการสภาฯ และกรรมการสรรหาอธิการบดี นางจุไรทำหน้าที่เป็นเลขานุการคณะกรรมการสรรหาและเป็นผู้ดำเนินการควบคุมกรนำเสนอวิสัยทัศน์ของผู้สมัครทั้งหมด เท่ากับเป็นการขัดต่อข้อบังคับมรภ.พระนครว่าด้วยคุณสมบัติและวิธีการสรรหาอธิการบดี(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2556

Advertisement

“ปัญหาทั้งหมดเกิดจากการที่คณะกรรมการสรรหารอบแรกที่มีนายวิษณุ เครืองาม เป็นประธาน ได้หยิบรายชื่อผู้ที่ทำผิดกติกาเข้าสู่สภาฯ โดยรอบแรกการประกาศรับสมัคร กำหนดกติกาชัดเจนว่าให้ผู้ผ่านการกลั่นกรองคุณสมบัติจัดเตรียมประวัติอย่างละเอียดพร้อมวิสัยทัศน์การบริหารเพื่อประกอบการสัมภาษณ์ไม่เกิน 15 หน้า จำนวน 7 ชุดซึ่งปรากฏว่าจากแคนดิเดต 7 คน มีเพียง 2 คนที่ปฏิบัติถูกต้องตามกติกา คือนายเปรื่อง กิจรัตน์ภร และผม แต่คณะกรรมการสรรหาฯ กลับหยิบชื่อนายพงศ์ หรดาล และนายวิชัย แหวนเพชรซึ่งจัดทำเอกสารเกิน 15 หน้า เข้าสู่สภาฯ ทั้งนี้ ในวันที่ 17 มีนาคมที่มีการประชุมสภาฯ เพื่อโหวตคัดเลือกนั้น ก่อนการประชุม ผมได้ทำหนังสือร้องเรียนเพื่อทักท้วงต่อคณะกรรมการสภาฯ ว่าคณะกรรมการสรรหาฯ ทำไม่ถูกต้อง ขอให้กรรมการสรรหาฯ ตรวจสอบและทบทวนการทำงาน เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ ต่อผู้บริสุทธิ์และเพื่อให้เกิดธรรมาภิบาล อีกทั้งขอให้ตรวจสอบผู้สมัครทุกท่านด้วยว่าเป็นผู้มีพฤติการณ์จาบจ้วง ล่วงละเมิดต่อสถาบันหรือไม่ เพราะถือว่าเป็นบุคคลที่ไม่มีศีลธรรมอันดีต่อบ้านเมือง ทั้งบอกว่าถ้าสภาฯ ยังเดินหน้าลงคะแนนเสียงต่อ ผมฟ้องร้องแน่นอน แต่วันนั้นนายวิษณุ บอกว่าเรื่องเอกสารเกิน 15 หน้า ไม่ใช่สาระสำคัญ นายมีชัย ในฐานะนายกสภาฯและประธานการประชุมสภาฯ จึงให้กรรมการสภาฯ เดินหน้าลงคะแนนเสียง ส่วนตัวผมเชื่อว่ากรรมการสภาฯ กลัวผิด คิดว่าถ้าไม่โหวตคะแนนให้ ถ้าทำให้ล่ม ตัวเองก็จะพ้นผิด แต่หาไม่รู้ว่าการที่กรรมการสภาฯ เดินหน้าลงคะแนนเสียงเท่ากับกระทำความผิดเบ็ดเสร็จซึ่งคราวนี้ไม่ใช่แค่คณะกรรมการสรรหาฯ ที่ทำผิด แต่รวมถึงกรรมการสภาฯ ด้วย” นายพิชัย กล่าว และว่า เพราะสภาฯ ทำไม่ถูกต้อง ผลลัพธ์คือไม่มีบุคคลได้รับการสรรหาทั้งสองท่านและมีผู้บริสุทธิ์ที่ถูกกระทบสิทธิ์ เป็นเหตุให้ต้องมีการประกาศสรรหาใหม่ โดยครั้งใหม่นี้ นายถนอมเป็นประธานกรรมการสรรหาฯ ปัญหาที่เกิดขึ้นในการสรรหาใหม่ครั้งนี้ ที่เป็นผลพวงมาจากการสรรหาเดิมที่ไม่โปร่งใส คือมีผู้บริสิทธิ์ที่กระทำถูกต้องตามข้อกำหนด แต่ต้องมาถูกกระทบสิทธิ์ในการสรรหาใหม่ครั้งนี้ ซึ่งมีตนและนายเปรื่อง ซึ่งเกิดจากการติดขัดข้อบังคับมรภ.พระนครว่าด้วยการประชุมสภามหาวิทยาลัย(ฉบับที่ 3)พ.ศ.2559 ทั้งที่เจตจำนงทำขึ้นเพื่อไม่ให้เกิดการสรรหาใหม่เป็นรอบที่ 3 เพราะสภาฯคิดว่าอาจจะมีคะแนนเท่ากันอีกในรอบที่ 2 หากยังเป็นผู้ถูกเสนอชื่อเดิมทั้งสอง ซึ่งในความเป็นจริงอาจจะเป็นหรือไม่เป็นก็ได้ แต่ละเอามาใช้ในกรณีนี้ไม่ได้ เพราะผู้ที่ถูกกระทบสิทธิ์ทั้งสอง เป็นผู้บริสุทธิ์ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมมาแต่แรก และเป็นความผิดพลาดของทางสภาฯ เองที่รับเสนอชื่อผู้ที่ทำผิดกติกาเข้าสู่การลงคะแนน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image