‘บิ๊กอู๋’ตรวจพื้นที่ก่อสร้างแฟลตดินแดงใหม่ เตรียมเสนอแผนก่อสร้างต่อเข้า ครม. ก.ย.นี้

เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวภายหลังนำคณะผู้บริหาร พม. ผู้บริหารการเคหะแห่งชาติ (กคช.) ลงพื้นที่ตรวจความคืบหน้าโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ในส่วนการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยแปลง G บริเวณหัวมุมถนนวิภาวดีรังสิต ตัดถนนอโศก-ดินแดง กรุงเทพฯ ว่าอาคารที่พักอาศัยแปลง G เป็นโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ระยะที่ 1 สูง 28 ชั้น จำนวน 334 หน่วย ขนาดห้องพัก 33 ตารางเมตร เพื่อรองรับผู้อยู่อาศัยเดิมแฟลต 18-22 จำนวน 280 หน่วย ขณะนี้ดำเนินการก่อสร้างคืบหน้าไปร้อยละ 12.30 ซึ่งเร็วกว่าแผนงานที่กำหนดร้อยละ 2.48 และจะใช้ระยะเวลาในการก่อสร้าง 540 วัน หรือ 18 เดือน ก่อนย้ายขึ้นอาคารได้ประมาณเดือนมิถุนายน 2561

ทั้งนี้ เราได้คำนึงถึงความปลอดภัยในการก่อสร้างทุกขั้นตอน ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมบริเวณชุมชนใกล้เคียง จึงได้กำชับให้บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง ดำเนินการติดตั้งผนังกันเสียงด้านที่ติดกับชุมชน รวมทั้ง ได้มีการติดตั้งเครื่องวัดเสียงและตรวจวัดฝุ่นละอองในอากาศ ตามมาตรการการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งที่ผ่านมาไม่มีปัญหาอุปสรรคหรืออุบัติเหตุใดๆ เกิดขึ้นในพื้นที่ก่อสร้างหรือบริเวณชุมชนใกล้เคียง

รมว.พม.กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกัน กคช.ได้เร่งดำเนินโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ระยะที่ 2, 3 และ 4 เพื่อรองรับผู้อยู่อาศัยเดิม แปลง A, D1 และ C รวมจำนวนทั้งสิ้น 6,212 หน่วย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดหาผู้รับจ้างเพื่อจัดทำรายงาน EIA คาดว่าจะสามารถนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีทั้ง 3 ระยะภายในเดือนกันยายนนี้ นอกจากนี้ ในส่วนโครงการระยะที่ 3 และ 4 ที่เปิดรองรับผู้อยู่อาศัยใหม่ด้วย จำนวน 13,746 หน่วย กคช.กำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการร่วมลงทุนกับภาคเอกชนอยู่

 

Advertisement

 

Advertisement

 

ด้านผู้อยู่อาศัยที่รอจะได้ขึ้นอาคารแปลง G นางสมบัติ กุดวง อายุ 66 ปี ชาว จ.ขอนแก่น แต่ย้ายมาอยู่อาศัยที่แฟลต 21 ตั้งแต่ปี 2511 หรืออยู่มา 49 ปี กล่าวว่า ขณะนี้อยู่กับลูกสาว 2 คน เราคาดหวังเหลือเกินว่าจะได้ย้ายเข้าไปอยู่ห้องใหม่ในเร็ววัน เพราะห้องที่อยู่ปัจจุบันสภาพทรุดโทรมแล้ว อาทิ มีปัญหาน้ำรั่วซึมบนเพดาน ขณะที่ตนก็รับได้กับค่าเช่าห้องใหม่ ที่จ่ายค่าเช่าเท่าเดิมราคา 600 บาทต่อเดือน และจ่ายค่าส่วนกลางเพิ่มเดือนละ 800 กว่าบาท ซึ่งเหมาะสมกับผู้มีรายได้น้อย

นางสาวรัตนา ชนะมาร อายุ 46 ปี ชาว จ.ชัยภูมิ แต่ย้ายมาอยู่อาศัยแฟลต 21 ได้ 20 ปี กล่าวว่า ตนอยู่คนเดียวในสภาพห้องไม่ทรุดโทรมเท่าไหร่ เพราะซ่อมปรับปรุงอยู่ตลอด แต่ตนก็เห็นด้วยกับโครงการ เพราะอยากได้อะไรใหม่ๆ แม้ขนาดห้องใหม่จะเล็กกว่าเดิม แต่ก็มีราคาค่าเช่าที่รับได้ คือ ค่าเช่าเท่าเดิมเดือนละ 600 บาท บวกค่าส่วนกลาง 800 กว่าบาท ดีกว่าไปอยู่คอนโดรอบๆ นี้ ที่มีราคาค่าเช่าต่อเดือนแตะหลักหมื่นบาท ซื้อใหม่ก็หลายล้านบาท

ส่วนผู้อยู่อาศัยแฟลตอื่นๆ ที่ตั้งตารอจะเข้ามาอยู่อาศัยในอาคารใหม่เช่นกัน นางโสภา โชติกบูลย์ อายุ 55 ปี และ นางเตือนใจ ชีลานนท์ อายุ 52 ปี ซึ่งอยู่อาศัยแฟลต 30 อยู่ในโครงการระยะที่ 2 กล่าวร่วมกันว่า เราอยู่อาศัยที่นี่มา 20-30 ปี จากห้องพื้นปูนธรรมดาก็มาตกแต่งปูกระเบื้อง แต่ตอนนี้ทุกห้องมีสภาพเหมือนกันคือ ค่อนข้างทรุดโทรม ทั้งนี้ ตอนแรกไม่เห็นด้วยกับโครงการ เพราะทราบว่าจะได้ไปอยู่ในห้องที่มีพื้นที่เล็กลง แต่เพราะคำนึงถึงอนาคตลูกหลานว่าจะต้องอยู่ในห้องสภาพทรุดโทรมอย่างนี้ไปตลอด จึงเริ่มเปลี่ยนใจมาร่วมสนับสนุนโครงการ อย่างไรก็ตาม เราคาดหวังมากให้ กคช.ทำโครงการนี้ให้สำเร็จ เพื่ออนาคตของลูกหลานเรา

 

สมบัติ กุดวง, โสภา โชติกบูลย์, เตือนใจ ชีลานนท์
เตือนใจ ชีลานนท์, รัตนา ชนะมาร
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image