บัสอีสานตอนบน ขอ“นายกฯตู่” ทบทวนเหมาเข่งบังคับประกันชั้น3

ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.อุดรธานี มาเมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 22 พฤษภาคม ที่ห้องประชุมมณฑลทหารบก 24 ค่ายประจักษ์ศิลปาคม นาย พ.อ.พิทักษ์ จันทร์เขียว รอง ผบ.มทบ.24 รับหนังสือร้องเรียนถึง พล.เอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จากนายชีระวิทย์ บุญไชยธนินทร์ ประธานชมรมผู้ประกอบการเดินรถอีสานตอนบน และผู้ประกอบการ 20 ราย ได้รับความเดือดร้อนจากประกาศของกรมการขนส่งทางบก ลงวันที่ 31 มี.ค. 60 และขอให้มีการทบทวน

นายชีระวิทย์ บุญไชยธนินทร์ ประธานชมรมผู้ประกอบการเดินรถอีสานตอนบน กล่าวว่า ตามที่ คสช.มีคำสั่งที่ 15/2560 วันที่ 21 มี.ค. 60 เพิ่มมาตรการความปลอดภัย ในรถโดยสารสาธารณะ เพราะมาตรการที่มีอยู่ไม่สามารถรองรับ ความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินประชาชนได้ โดยให้กรมการขนส่งทางบก กำหนดให้รถโดยสารทำประกันภัย เพิ่มจาก พรบ.คุ้มครองผู้ประสบภัย เป็นเงื่อนไขในการจดต่อทะเบียน แต่ประกาศของกรมการขนส่งทางบก วันที่ 31 มี.ค.60 ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง ทำให้ผู้ประกอบการรถโดยสารระยะสั้น ได้รับความเดือดร้อนมากที่สุดที่เคยเกิด

“รถโดยสารระยะสั้นที่เดือดร้อน คือรถวิ่งระหว่างจังหวัดไม่เกิน 300 กม. ที่ผ่านมาได้ทำประกันภัยภาคบังคับ หรือ พรบ.คุ้มครองผู้ประสบภัย ปีละ 7,000 – 8,000 บาท หากมีการเหมาออกนอกเส้นทาง ก็จะซื้อประกันภัยภาคสมัครใจ เพิ่มเติมเป็นครั้งคราวเพื่อลดความเสี่ยง แต่ประกาศกรมการขนส่งฯ กำหนดให้ต้องทำประกันภัยชั้น 3 ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายรถไม่เกิน 40 ที่นั่งอีกปีละ 19,000-30,000 บาท และหากมากกว่า 50 ที่นั่ง ปีละมาก กว่า 40,000 บาท ไม่รวมที่ต้องติดเข็มขัดนิรภัย และติดจีพีเอส”

ประธานชมรมผู้ประกอบการเดินรถอีสานตอนบน กล่าวต่อว่า รถโดยสารต่างจังหวัดระยะสั้น มีความเสี่ยงเรื่องอุบัติเหตุต่ำ ไม่ได้ใช้ความเร็วสูง ไม่มีปัญหาโชเฟอร์หลับใน หรือปัญหาถนนจุดเสี่ยง ที่ผ่านมาไม่เคยเกิดปัญหา กรมฯไม่ได้มาศึกษารายละเอียด ประกาศออกมาแบบ “เหมาเข่ง” เอาเราไปรวมกับรถตู้โดยสาร หรือรถวิ่งระหว่างจังหวัดระยะไกล เช่น อุดรธานี-เชียงใหม่ หรือ หนองคาย-ภูเก็ต ทำให้ผู้ประกอบการบางราย อาจจะต้องหยุดวิ่งไปก่อน โดยมีปัญหาเหมือนกันทั่วประเทศ

Advertisement

นายชีระวิทย์ บุญไชยธนินทร์ กล่าวถึงข้อเสนอว่า อยากให้ท่านนายกฯทบทวนประกาศ ของกรมการขนส่งฉบับนี้ใหม่ ให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง , อาจจะยกเว้นรถโดยสารระยะสั้น เหมือนกับยกเว้นในรถสอบแถว และรถโดยสารระหว่างอำเภอ หรือกำหนดระยะทางที่รับยกเว้น , ระหว่างนี้ให้กรมการขนส่งทางบก รับจดต่อทะเบียนรถโดยสารเหล่านี้ ให้มีเฉพาะ พรบ.คุ้มครองผู้ประสบภัยไปก่อน ยังไม่ต้องทำประกันภัยชั้น 3 เพราะเริ่มมีรถครบกำหนดจดต่อทะเบียนแล้ว หากไม่จดต่อทะเบียนก็จะถูกจับกุม

นายไกรสร แจ่มหอม นักวิชาการขนส่งชำนาญการ สนง.ขนส่ง จ.อุดรธานี กล่าวว่า ยังมีผู้ประกอบการรถโดยสาร ระหว่างจังหวัดระยะสั้น ไม่ค่อยพบมีสถิติอุบัติเหตุร้ายแรง ไม่มีเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่ รายย่อย แต่ยังมีลักษณะเป็น “สามีขับภรรยาเก็บค่าโดยสาร” ผู้ประกอบการรายย่อยก็บ่นเรื่องนี้ ทาง สนง.ขนส่ง จ.อุดรธานี จะรีบรายงานเรื่องนี้ไปยังกรมการขนส่งทางบก ทั้งกรณีการขอให้ทบทวนประกาศ และขอให้ผ่อนผันชั่วคราว ประกอบกับเหตุผลที่ชมรมฯแจ้งมา เชื่อว่าในพื้นที่อื่นก็มีปัญหาคล้ายๆกัน

พ.อ.พิทักษ์ จันทร์เขียว รอง ผบ.มทบ.24 กล่าวว่า คสช.มีแนวนโยบายชัดเจน ที่จะช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ความเดือดร้อนของผู้ประกอบการ จนต้องหยุดวิ่งรถก็จะเดือดร้อนถึงผู้โดยสาร ถือว่าเรื่องนี้เป็นกรณีเร่งด่วน จะนำเข้าสู่การพิจารณาของกองทัพ ในการประชุมครั้งนี้ทันที และรายงานให้สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณา ระหว่างนี้เป็นไปได้หรือไม่ ที่ขนส่งจะจดต่อทะเบียนไปให้ก่อน และยังมีเรื่องนี้สนใจอีกคือ การทำประกันภัย 2 ชนิด คือ พรบ.คุ้มครองผู้ประสบภัย กับประกันภัยชั้น 3 มีลักษณะซ้ำซ้อนกัน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image