3 ปี หลังการปฏิวัติ โดย : พิชัย นริพทะพันธุ์

3 ปีผ่านไปแล้วที่ประเทศไทยมีการปฏิวัติ หลายคนคงไม่คิดว่าประเทศจะไม่กลับสู่ระบอบประชาธิปไตยได้นานขนาดนี้ หากย้อนกลับไปหลังการปฏิวัติแล้วบอกจะอยู่กันนานถึงขนาดนี้ ประชาชนส่วนใหญ่คงจะรับกันไม่ได้ หลายคนอาจจะบอกว่าต้องฉีกตำรารัฐศาสตร์ทิ้งกันเลย แต่ก็ต้องยอมรับถึงความสามารถ รวมถึงคำสัญญาที่บอกว่าขอเวลาอีกไม่นานที่ทำให้ลากกันมาได้ถึงตรงนี้ และยังไม่มีทีท่าว่าจะคืนอำนาจให้กับประชาชนในเวลาอันใกล้นี้เลย และดูเหมือนประชาชนจำนวนมากก็ไม่เดือดร้อน เหมือนกับสามารถอยู่กันไปได้เรื่อยๆ ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าน่าประหลาดใจ แต่ที่แน่ๆ คือ ประชาชนส่วนใหญ่เริ่มรู้ซึ้งถึงความยากลำบากกันแล้ว เพราะผลกระทบจากการทวนกระแสโลก ย่อมส่งผลทางเศรษฐกิจตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หลายคนที่เคยปากแข็งเชียร์อย่างสุดใจก็เริ่มจะเสียงอ่อนลงเพราะปัญหาเศรษฐกิจได้รุมเร้าเข้าสู่ตัวเองและครอบครัวอย่างยากที่จะปฏิเสธ

หลายคนเฝ้าคอยว่า คสช.จะแถลงผลงานว่ามีอะไรบ้าง เพื่อจะได้นำมาแก้ต่างให้ เพราะยังนึกไม่ออกว่าจะมีผลงานอะไร แต่ก็ต้องผิดหวัง เพราะ คสช.ได้เลื่อนการแถลงออกไป ทั้งนี้ สาเหตุหลักที่จับความได้คือ เพราะมีหลายคนจากทุกภาคส่วนออกมาชี้ให้เห็นว่า 3 ปีที่ผ่านมามีแต่ความล้มเหลวในทุกด้าน ซึ่งหาก คสช.มีความมั่นใจในผลงานของตัวเองอย่างแท้จริง ก็ไม่เห็นน่าจะต้องกังวลที่จะแถลงผลงาน นอกเสียจากว่าจะเห็นว่าเหตุผลของคนวิพากษ์วิจารณ์มีน้ำหนักมากกว่า เพราะแม้กระทั่งผลงานที่ คสช.ภาคภูมิใจที่สุด ที่บอกว่าทำให้เกิดความสงบ คนส่วนใหญ่ก็พอทราบกันแล้วว่าความไม่สงบก่อนการปฏิวัตินั้นเป็นฝีมือของใคร และใครมีส่วนอยู่เบื้องหลัง และหากปฏิบัติการเข้มงวดเหมือนตอนหลังปฏิวัติ ความสงบก็คงเกิดขึ้นเช่นกัน ไม่มีความจำเป็นต้องปฏิวัติแต่อย่างไร ผลงานความสงบนี้จึงไม่อาจจะขายได้แล้วเมื่อเวลาผ่านมา แม้กระทั่งความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ที่เป็นความรับผิดชอบโดยตรงยังทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ไม่ได้ลดลงแต่อย่างไร

เหตุผลของการปฏิวัติที่อ้างว่าเข้ามาเพื่อปราบทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องหลัก แต่พอเวลาผ่านไป ประชาชนจำนวนมากสงสัยว่าปัจจุบันการทุจริตคอร์รัปชั่นกลับมีมากกว่าเดิมมาก แถมยังตรวจสอบไม่ได้ อีกทั้งใครคิดตรวจสอบก็จะโดนปิดปาก ทั้งนี้ ความสงสัยของประชาชนเริ่มมาตั้งแต่การซื้อไมโครโฟนราคาแพง อุทยานราชภักดิ์ ปัญหาเครือญาติของผู้นำ ทั้งการขายที่ดินที่ต้องโอนผ่านบริษัทในต่างประเทศ การนำเงินหลวงเข้าบัญชีส่วนตัว การสร้างฝาย และการประมูลงานในกองทัพของหลานชาย ปัญหาการขุดลอกคลองของ อผศ. ปัญหาการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ ฯลฯ ซึ่งไม่ได้มีการชี้แจงอย่างโปร่งใส และไม่มีฝ่ายค้านในสภาคอยตรวจสอบ เวลาสื่อมวลชนถามก็ถูกตวาดใส่

อีกทั้งยังจะมีการออกกฎหมายใหม่มาควบคุมสื่อมวลชนเพิ่มขึ้นอีก ยิ่งทำให้ประชาชนเห็นชัดว่าคอร์รัปชั่นไม่ได้หมดไป แต่กลับมีมากขึ้น ประกอบกับองค์การโปร่งใสสากลได้ลดอันดับความโปร่งใสของไทยลงมาอยู่อันดับที่ 101 จากอันดับเดิมที่ 76 และยังบอกว่าไทยมีการจ่ายใต้โต๊ะมากกว่ากัมพูชาและเมียนมาเสียอีก ยิ่งตอกย้ำการทุจริตคอร์รัปชั่นให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

Advertisement

ข้ออ้างที่บอกว่าต้องการให้ประเทศสงบ แต่ต้องแลกมาด้วยการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนทั้งประเทศ โดยใครเห็นต่างและมีแนวคิดไม่เหมือน จะถูกกดดันและถูกจับเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะนักศึกษาที่มีความคิดก้าวหน้าจะถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษ ถึงขนาดตำหนิการคัดเลือกประธานสภานักศึกษาของมหาวิทยาลัยที่มีความคิดก้าวหน้า แต่ที่หนักที่สุดคือความพยายามที่จะควบคุมสื่อมวลชน ที่เปรียบเสมือนเป็นกระบอกเสียงให้กับประชาชนในภาวะที่บ้านเมืองไม่ปกติ ซึ่งตอกย้ำการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชนมากยิ่งขึ้น โดยหลักคิดสากลยังบอกว่า สิทธิของประชาชนสำคัญกว่าความสงบมาก ซึ่งรัฐบาลจะอ้างความสงบเพื่อจะมาละเมิดสิทธิของประชาชนไม่ได้

3 ปีที่ผ่านมานี้ ความล้มเหลวที่สุดที่ปฏิเสธไม่ได้เลยคือความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ประชาชนส่วนใหญ่เดือดร้อนกับปัญหาเศรษฐกิจกันอย่างแสนสาหัส ผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนกี่ครั้ง รัฐบาลก็สอบตกเรื่องเศรษฐกิจทุกครั้ง ประชาชนส่วนใหญ่มีรายได้ลดลงมาก โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย เช่น เกษตรกร ผู้ใช้แรงงาน และคนหาเช้ากินค่ำ แม้แต่พ่อค้า-แม่ค้าในตลาดก็ขายของได้ลดลงต่ำกว่าครึ่ง ในขณะที่ค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้นมาก แถมรัฐบาลยังพยายามที่จะเก็บภาษีเพิ่มขึ้นอีกหลายทาง เช่น ภาษีที่ดินและทรัพย์สิน ภาษีมรดก เพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม ฯลฯ

ซึ่งเมื่อมองในภาพรวม การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยขยายตัวต่ำที่สุดในอาเซียนมาตลอด 3 ปีที่มีการปฏิวัติ และยังมีแนวโน้มที่จะโตต่ำสุดต่อไปเรื่อยๆ หากไม่มีการเปลี่ยนแปลง ทั้งธนาคารโลก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) ต่างก็ออกมาเตือนถึงปัญหานี้ โดยเฉพาะธนาคารโลกที่ระบุว่าหากไทยโตได้แค่ปีละ 3% กว่า ไทยต้องใช้เวลา 20 ปี กว่าจะเป็นประเทศรายได้สูง และจะทำให้ประชาชนรายได้น้อยลำบากกันอย่างมาก แต่รัฐบาลก็ยังแสดงความดีใจเมื่อเศรษฐกิจโตได้ 3.2% เมื่อปีที่แล้ว และ 3.3% ในไตรมาสแรกของปีนี้ ที่ถือว่าต่ำมาก ต่ำกว่าศักยภาพของประเทศไทยมาก และยังต่ำกว่าที่รัฐบาลได้พยายามขายฝันว่าปีนี้จะโตได้ถึง 4-5% ซึ่งคงจะเป็นไปไม่ได้แล้ว

Advertisement

นอกจากนี้ นักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศขาดความเชื่อมั่น การลงทุนภาคเอกชนได้หดหายไปเรื่อยๆ โดยการลงทุนตลอด 3 ปีที่มีการปฏิวัติ ยังน้อยกว่าการลงทุนใน 1 ปีในภาวะปกติ โดยเรื่องปัญหาการลงทุนภาคเอกชนหดหายนี้ ผู้เขียนได้พยายามเตือนรัฐบาลหลายหน แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ออกมาปฏิเสธตลอด แถมยังหาว่าผู้เขียนใส่ร้ายรัฐบาล จนกระทั่งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้เปิดเผยตัวเลขการลงทุนทั้ง 3 ปีออกมาเอง อีกทั้งปัญหาการลงทุนดังกล่าวยังถูกตอกย้ำโดยนายบรรยง พงษ์พานิช อดีตซุปเปอร์บอร์ดที่ได้ลาออกไปก่อนหน้านี้ ที่ได้ออกมาระบุว่าเป็นการลงทุนที่หดตัว ไม่ใช่ขยายตัว และต่อมา ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาฯอังค์ถัด ได้แสดงความเป็นห่วงและออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดเผยตัวเลขการลงทุนที่แท้จริง และยังห่วงปัญหาเศรษฐกิจโดยรวม ทั้งๆ ที่ก่อนหน้าไม่กี่เดือน ดร.ศุภชัยเพิ่งออกมาเชียร์รัฐบาลอยู่เลย

นอกจากนี้ โครงการประชารัฐกลับกลายเป็นการเอื้อประโยชน์กลุ่มทุนที่สนับสนุนรัฐบาล มากกว่าจะเป็นการลงทุนเพื่อช่วยเหลือประชาชนอย่างแท้จริง เพราะยังไม่เห็นประชาชนรายได้น้อยกลุ่มใดได้ประโยชน์อะไรจากโครงการดังกล่าวเลย

ปัญหาการลงทุนภาคเอกชนที่หดหายนี้ อยากให้รัฐบาลได้ศึกษาปัญหาให้ดี เพราะจากข้อมูลที่ได้รับ นักลงทุนญี่ปุ่นที่เป็นนักลงทุนต่างประเทศรายใหญ่ที่สุดของไทยที่มีสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่งของการลงทุนต่างประเทศทั้งหมด มีความไม่พอใจรัฐบาลในหลายประการ ประกอบกับความไม่แน่นอนเรื่องการเจรจาการค้ากับหลายประเทศจากภาวะการเมืองปัจจุบัน จึงทำให้นักลงทุนญี่ปุ่นหันไปลงทุนในประเทศอื่นแทนที่จะลงทุนในประเทศไทย ส่งผลให้การลงทุนในไตรมาสแรกเหลือเพียง 80,000 ล้านบาท ซึ่งต่ำมาก และการที่นายสมคิด จาตุศรี
พิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจจะเดินทางไปเยือนประเทศญี่ปุ่นในเร็วๆ นี้ ก็อยากจะให้ทำการบ้านให้ดี ไม่เช่นนั้นก็จะเป็นการไปที่เสียเที่ยว เหมือนครั้งที่แล้วที่ไปเยือนประเทศญี่ปุ่นแต่ไม่เกิดประโยชน์อะไร การลงทุนกลับลดลง ไม่ได้เพิ่มขึ้น

หากการลงทุนภาคเอกชนยังซบเซา จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อการพัฒนาของประเทศในอนาคต รวมถึงการจ้างงานและการส่งออกในอนาคตที่จะลดลงไปด้วย และเป็นเวลา 3 ปีแล้วที่การลงทุนภาคเอกชนได้หดหายไป ยิ่ง คสช.ลากการเลือกตั้งไปอีก การลงทุนภาคเอกชนก็จะยิ่งซบเซาลงอีกอย่างแน่นอน

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า 3 ปีหลังการปฏิวัติ แม้ คสช.จะพยายามใช้คำพูดหรูๆ ว่าประสบความสำเร็จ แต่ความเป็นจริงได้พิสูจน์แล้วว่าผลงานล้มเหลวทุกด้าน ซึ่งน่าจะเป็นสาเหตุหลักให้ต้องเลื่อนการแถลงผลงานออกไป

ก็อยากให้ คสช.ได้วิเคราะห์สาเหตุของความล้มเหลวนี้ว่าเกิดมาจากการเข้าบริหารในงานที่เกินกว่าความรู้ความสามารถที่มี หรือภาวะการเมืองที่ไม่เป็นที่ยอมรับของประชาคมโลก หรือทั้งสองอย่าง เพื่อเป็นบทเรียนให้กับประเทศที่จะไม่ต้องกลับมาสู่วัฏจักรเดิมๆ กันอีกและรีบหาทางแก้ไข เพื่อให้ประเทศไทยได้กลับมามีศักดิ์ศรีเหมือนเดิมในเวทีโลก

พิชัย นริพทะพันธุ์
อดีต รมว.พลังงาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image