‘ไทย’ใน’คานส์’ โดย ปราบต์ บุนปาน

REUTERS/Stephane Mahe



สําหรับคนที่ตามข่าวบันเทิงมานาน

ในยุคหนึ่ง (ก่อนทศวรรษ 2540) เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส นั้นถือเป็น “ฝันเกินเอื้อม” ของคนไทย

แต่แล้ว “หนังไทย” กับ “เทศกาลคานส์” ก็ไม่ใช่อะไรที่ไกลห่างกันอีกต่อไป

เมื่อผู้กำกับไทยซึ่งเติบโตจากอุตสาหกรรมโฆษณา ได้เข้ามาร่วมฟื้นฟูอุตสาหกรรมภาพยนตร์หลังวิกฤตเศรษฐกิจ 2540

Advertisement

ในจำนวนนี้ มีหนังของ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง และ เป็นเอก รัตนเรือง ที่ได้รับการคัดเลือกเข้าไปฉายใน “สายรอง” และ “กิจกรรมการฉายภาพยนตร์คู่ขนาน” ของ “เทศกาลคานส์”

ถัดมา จึงเข้าสู่ “ยุคทอง” ของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ที่ค่อยๆ ไต่ระดับจากการได้รับรางวัลใน “สายรอง” ไปถึงการได้ “รางวัลรอง” ใน “สายการประกวดหลัก”

ก่อนจะขึ้นคว้ารางวัลสำคัญสูงสุดของเทศกาลหนังเมืองคานส์ หรือ “รางวัลปาล์มทองคำ” ได้จากผลงานเรื่อง “ลุงบุญมีระลึกชาติ” เมื่อปี 2553

Advertisement

ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน มักมีข่าว “หนังสั้น” ของเด็กไทยได้ไปฉายที่เทศกาลหนังเมืองคานส์ แต่บ่อยครั้ง เมื่อตรวจสอบให้ดีก็จะพบว่าหนังสั้นเหล่านั้นถูกผู้สร้างส่งเข้าไปโชว์ตัวใน “ตลาดหนัง”

ไม่ได้อยู่ในสายการประกวด “หลัก-รอง” หรือ “กิจกรรมคู่ขนาน” ที่ได้รับการยอมรับด้วยฐานะ “ผลงานเข้าประกวด”

ยกเว้น “Graceland” ของ อโนชา สุวิชากรพงศ์ หนังสั้นไทยเรื่องแรกที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าฉายใน “สายการประกวดหนังสั้นระดับนักเรียน” ของคานส์ เมื่อปี 2549

ช่วงหลังๆ ความสัมพันธ์ระหว่าง “เมืองไทย” กับ “เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์” มีสีสันหลากหลายขึ้น

นอกจากการรอคอยให้ “หนังไทย” ถูกคัดเลือกเข้าไปฉายประกวดแล้ว

ยังมี “ดาราไทย” ได้ไปเดินโชว์ตัวบนพรมแดง ในฐานะ “แบรนด์แอมบาสเดอร์” ของสินค้าความงามบางชนิด


ตัวอย่างชัดเจนสุด ก็คือ “ชมพู่ อารยา” ที่บินไปเทศกาลเมืองคานส์ด้วยสถานะดังกล่าวมาต่อเนื่องหลายปี

การไปร่วมงานที่คานส์ในลักษณะนี้อาจไม่เตะตาสื่อต่างชาติมากนัก

แต่ต้องยอมรับว่าการมี “ดาราระดับแมสของท้องถิ่น” ไปปรากฏกายใน “เทศกาลหนังยักษ์ใหญ่ระดับโลก” ได้ส่งผลให้เทศกาลหนังที่เคยถูกมองเป็นกิจกรรมศิลปะชั้นสูงไกลเกินเอื้อม มีความเชื่อมโยงใกล้ชิดกับมวลชน/ผู้ชมระดับท้องถิ่นของบางประเทศมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ยังมี “นักแสดงไทย” ซึ่งได้ร่วมแสดงในภาพยนตร์ของคนทำหนังต่างชาติ จนมีสิทธิไปเดินพรมแดงที่คานส์

ที่เพิ่งเป็นประเด็น “ทอล์กออฟเดอะทาวน์” ก็คือการที่ เก่ง ลายพราง เซเลบออนไลน์ “สายเทา/มืด” ได้ไปร่วมกิจกรรมเดินพรมแดงของเทศกาลเมืองคานส์ จากการร่วมแสดงในภาพยนตร์เรื่อง “A Prayer Before Dawn” ซึ่งได้รับคัดเลือกให้เข้าฉายอย่างเป็นทางการในโปรแกรม “Midnight Screenings” (และมีเสียงตอบรับค่อนข้างดี)

หนังเป็นผลงานของผู้กำกับชาวฝรั่งเศส ที่เล่าเรื่องราวจากชีวิตจริงของ บิลลี่ มัวร์ อดีตชายขี้ยาชาวอังกฤษ ซึ่งมาติดคุกที่เมืองไทย แต่การฝึกฝนมวยไทยและสภาพแวดล้อม “ดุ-ดิบ” ในเรือนจำ ก็ค่อยๆ หล่อหลอมให้เส้นทางชีวิตหลังจากนั้นของเขาเปลี่ยนแปลงไป

ที่เป็นประเด็นถกเถียงขึ้นมาก็เพราะหากมอนิเตอร์ไปยังสื่อหลักของเทศกาลหนังเมืองคานส์แล้ว เก่ง ลายพราง พร้อมด้วย วิทยา ปานศรีงาม และ พรชนก มาบกลาง ตัวแทนทีมนักแสดงชาวไทยจากหนัง A Prayer Before Dawn นั้นดูเหมือนจะได้รับความสนใจจากฝรั่งมากกว่า “ชมพู่” เสียอีก

อย่างไรก็ตาม ถ้ามองทุกอย่างในมุมบวกแบบ “วิน-วิน” เหตุการณ์คู่ขนานทำนองนี้ย่อมส่งผลให้ “ความเป็นไทย” ในเทศกาลหนังเมืองคานส์มีหลายเฉดสีมากขึ้น

หากการปรากฏตัวของ “ชมพู่” ได้ช่วยทำให้เทศกาลหนังเมืองคานส์ กลายเป็นประเด็น “แมส” สำหรับสังคมไทย

การไปปรากฏกายบนพรมแดงของ “เก่ง” ก็น่าจะส่งผลให้เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ สามารถเข้าถึง “มวลชนรากหญ้า” ชาวไทย ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นไปอีก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image