วิจัยชี้กลืน’บอลลูน’ รักษาโรคอ้วนได้

ผลการวิจัยเปิดเผยที่การประชุมวิชาการยุโรปเกี่ยวกับโรคอ้วน ที่เมืองปอร์โต ประเทศโปรตุเกส เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมา พบว่าการบอลลูนลดน้ำหนักที่สามารถกลืนลงไปในกระเพาะได้สามารถใช้งานได้ดีกับการรักษาโรคอ้วน โดยปลอดภัยและไม่มีผลข้างเคียง

การผ่าตัดใส่บอลลูนลงในกระเพาะอาหารเป็นวิธีที่ใช้กันมานานหลายสิบปีเพื่อช่วยผู้ป่วยโรคอ้วนลดน้ำหนัก โดยบอลลูนดังกล่าวจะใส่น้ำเพื่อลดอาการหิวและกระตุ้นให้เกิดความอิ่มได้เร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม จนถึงเวลานี้วิธีการดังกล่าวยังต้องใช้วิธีการผ่าตัดที่มีงบประมาณสูงและต้องใช้การดมยาสลบ หรือยาระงับประสาท

โรเบอร์ตา เลนกา นักวิจัยทางการแพทย์จากมหาวิทยาลัยซาปิเอนซา ในกรุงโรม ประเทศอิตาลี ได้ทดลองใช้ “บอลลูน” ที่สามารถกลืนลงไปได้โดยไม่ต้องใช้การผ่าตัดกับผู้ป่วยโรคอ้วนจำนวน 42 คน แบ่งเป็นชาย 29 คน หญิง 13 คน มีดัชนีมวลกายระหว่าง 30-45 ซึ่งจัดอยู่ในประเภทคนอ้วน โดยทั้งหมดจะต้องกลืนบอลลูนที่ถูกพับให้เล็กเท่าแคปซูล และจะขยายตัวด้วยของเหลวที่ส่งไปตามสายขนาดเล็กที่ถอดออกจากบอลลูนได้หลังเสร็จกระบวนการที่กินเวลาเพียงไม่กี่วินาทีเท่านั้น

บอลลูนดังกล่าวสามารถอยู่ในกระเพาะอาหารได้นาน 16 สัปดาห์ ช่วงเวลาซึ่งผู้ป่วยจะต้องควบคุมอาหารที่ลดแป้งและแคลอรี โดยในช่วงสุดท้ายบอลลูนจะปล่อยของเหลวออกมาผ่านวาล์วที่เปิดออกโดยอัตโนมัติ ก่อนจะถูกย่อยสลายออกมาทางระบบขับถ่าย

Advertisement

ผลการทดลองพบว่า ผู้ป่วยโรคอ้วนสามารถลดน้ำหนักได้มากถึง 15 กิโลกรัม คิดเป็น 31 เปอร์เซ็นต์ ของน้ำหนักตัวที่เกินค่ามาตรฐานความอ้วน และไม่มีรายงานผลข้างเคียง หลังจากการทดลองดังกล่าวคนไข้ทั้งหมดจะต้องเปลี่ยนไปบริโภคอาหารที่เป็นผักและมีโปรตีนและแป้งระดับต่ำ

ด้านซิมอน คอร์ค นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน ที่ไม่ได้มีส่วนในการวิจัยดังกล่าวระบุว่า วิธีนี้ไม่ใช่วิธีที่จะลดน้ำหนักในระยะยาว อย่างไรก็ตาม วิธีนี้ก็เป็นวิธีที่ใช้ได้ผลดีกับคนไข้บางราย ขณะที่ข้อดีที่ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดก็ถือเป็นความก้าวหน้าในแง่บวกสำหรับวิธีการกลืนบอลลูน

ทั้งนี้ ระบบรักษาโรคอ้วนด้วยการกลืนบอลลูน ได้เข้าไปทำตลาดในประเทศฝรั่งเศส อิตาลี สเปน เบลเยียม กรีซ รวมถึงซาอุดีอาระเบีย และคูเวต แล้ว โดยบริษัทผู้คิดค้นวิธีการดังกล่าวอยู่ระหว่างการเตรียมยื่นจดทะเบียนกับองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาอยู่ในเวลานี้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image