วงเสวนา ‘วังต้องห้าม’ เผยความลับใต้ดิน 15 เมตร ชี้สุดอัศจรรย์ อิฐ 1 ก้อนทุ่มเวลา 2 ปี

จากซ้าย นพ.บัญชา พงษ์พานิช, ชาญ ธนประกอบ ดำเนินรายการโดย อดินันท์ เหมือนยัง

เมื่อเวลา 13.00 น วันที่ 22 พฤษภาคม ที่มติชนอคาเดมี มีการจัดเสวนาเรื่อง “เปิดวังต้องห้าม สวรรค์บนดิน สุนทรียศิลป์แห่งแผ่นดินมังกร” วิทยากร ได้แก่ นายชาญ ธนประกอบ หนึ่งใน 2 ผู้แปลหนังสือ “ร้อยเรื่องราววังต้องห้าม” จัดพิมพ์โดย สนพ.มติชน และ นพ.บัญชา พงษ์พานิช ผอ.หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศในงานคึกคักอย่างมาก มีผู้เข้าทยอยมาจับจองที่นั่งตั้งแต่ช่วงก่อนเวลา 12.00 น. บางรายนำหนังสือที่ซื้อไว้ก่อนหน้านี้มาขอลายเซ็นผู้แปล บางรายมาซื้อหนังสือในงานและเปิดชมภาพตามเนื้อหาที่วิทยากรบรรยายตลอดงาน

นายชาญกล่าวว่า นี่คือหนังสือที่น่าประทับใจอย่างยิ่ง เพราะมาจากการค้นคว้าจนตกผลึก เขียนโดย จ้าวกว่างเชา ต้นฉบับพิมพ์โดยกองงานพิพิธภัณฑสถานกู้กง เนื่องในวาระครบรอบ 90 ปี ข้อมูลจึงลึกซึ้ง ครบถ้วน หากท่านใดเคยเดินทางไปยังพระราชวังต้องห้ามแล้ว แต่ยังไม่เข้าใจ ขอให้อ่านหนังสือเล่มนี้ จะเข้าใจมากขึ้น ส่วนผู้ที่อยากไป แต่ไม่ทราบว่าจะเริ่มต้นอย่างไร การอ่านหนังสือก่อน จะช่วยปูพื้นฐาน ทำให้ดื่มด่ำกับสถานที่ดังกล่าวเมื่อประสบกับสายตาของตนเอง

วังฮ่องเต้อยู่ที่ไหน ตรงนั้นคือศูนย์กลางแผ่นดิน คติจีนโบราณไม่สนใจว่าโลกกลมหรือแบน แต่บอกว่าล้อมรอบด้วยทะเลสี่ทิศ คนในอาณาเขตทะเลทั้งสี่เป็นพี่น้องกัน ดังนั้น เราจะไม่ได้ยินคำว่าชาวจีนในต่างประเทศ แต่เรียกว่า ชาวจีนโพ้นทะเล คืออยู่ในทะเลที่ไกลออกไป ฟ้าสูงแค่ไหน แผ่นดินใหญ่แค่นั้น ทั้งหมดนี้ปกครองโดยโอรสสวรรค์

Advertisement
ผู้ฟังล้น ทะยอยจองที่นั่งตั้งแต่ก่อนเที่ยง

“ฮ่องเต้คือโอรสสวรรค์ จุติมาปกครองอาณาจักร จริงๆ แล้วนี่ไม่ใช่วังอย่างที่เข้าใจกัน แต่เป็นเมืองจักรพรรดิ การที่บอกว่าเป็นวังต้องห้ามหรือ เมืองห้าม คือ ห้ามเข้า ห้ามออก สามัญชน ห้ามเข้า เพราะเป็นที่อยู่ของโอรสสวรรค์ ส่วนห้ามออกคือ ผู้หญิงที่ถูกคัดเลือกเป็นนางกำนัล มีโอกาสก้าวเข้าไปครั้งเดียว และไม่มีโอกาสออกมาเด็ดขาด การสร้างสถานที่ยิ่งใหญ่ขนาดนี้ วางแผนอยู่ 10 ปี ลงมือสร้างจริง 4 ปี เหตุที่ต้องวางแผนนาน เพราะยุคนั้นประชากรน้อย อาหารไม่พอ ต้องมีการย้ายคนเข้ามาก่อนโดยมีแบบแผน เพื่อเตรียมการ เฉพาะท่อนซุงที่จะใช้เป็นฐานอาคาร ต้องตัดมาจากยูนนาน ซึ่งไกลจากปักกิ่งเป็นพันกิโลเมตร คิดดูว่าเมื่อ 600 ปีก่อน จะลำเค็ญขนาดไหน ไม่มีสิบล้อ ไม่มีรถไฟ การขนย้ายต้องล่องตามน้ำ พอถึงท่าเรือต้องรอฤดูหนาว ขุดคูเอาน้ำสาดบนทางเพื่อให้เป็นน้ำแข็ง แล้วค่อยกลิ้งท่อนซุงไป

สำหรับการสร้าง สมัยนั้นยังไม่มีเครื่องตอกเสาเข็ม ต้องเจาะทีละต้น ปัจจุบันเคยมีการเจาะที่พื้นลึก 15 เมตร ใต้สุด เป็นทราย หิน และมีท่อนซุงแบบวางตั้งและวางนอน ตามด้วยเศษอิฐ ตามด้วยหินดินทราย ช่างสมัยนั้นเก่งมาก คำนวณได้ว่า อาคารกว้างขนาดนี้ ความหนักแค่ไหน ต้องเจาะลึกเท่าไหร่ จึงรับน้ำหนักได้ ถ้าไปที่วัง จะเห็นเลยว่าอิฐมีความแวววาว แต่ละก้อนไม่ธรรมดา ทำจากดินเหนียว ทุบ ตี กรอง ใช้ฟืนเล็ก ฟืนใหญ่ ฟืนกิ่ง ฟืนก้าน เผาอยู่ 4 เดือน แล้วทำให้เย็น สรุปคือทำอิฐก้อนหนึ่งใช้เวลา 2 ปี การก่อสร้างใช้เดือยต่อให้เข้ากันสนิท และอยู่มาจนถึงปัจจุบัน” นายชาญกล่าว

ชาญ ธนประกอบ แจกลายเซ็นต์

นายชาญยังกล่าวถึงประเด็นการปกครองของจีน ซึ่งมีความเชื่อว่าตนไม่ได้รุกรานใคร แต่เป็นการเอาชนะด้วยวัฒนธรรม ประเทศราชที่จีนเคยมีสัมพันธไมตรี เช่น มองโกล ก็รู้สึกเลื่อมใสจีน หรือตอนแมนจูเข้ามา ก็ไม่ได้รู้สึกต่อต้านใดๆ ในการเข้ามาอยู่ในวังแห่งนี้ และอยู่ต่อมาถึง 268 ปี นอกจากนี้ ยังเล่าเกร็ดประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจมากมาย สร้างความครึกครื้นให้วงเสวนาอย่างมาก

“เรื่องฮ่องเต้ว่าราชการ มีเกร็ดเยอะ อย่างปฐมกษัตริย์ราชวงศ์หมิง พระองค์ทรงยกเลิกตำแหน่งอัครเสนาบดี แต่ทำงานดี วันเดียวอ่าน 400 ฎีกา ในขณะที่บางพระองค์อยู่ในบัลลังก์ 40 ปี ไม่ออกว่าราชการเลย 33 ปี ซึ่งเป็นเรื่องมหัศจรรย์มากที่บ้านเมืองยังอยู่ดังเดิม” นายชาญกล่าว

นพ.บัญชากล่าวว่า ตนเคยเดินทางไปยังพระราชวังดังกล่าวถึง 3 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อราว 20 ปีก่อน คิดว่าทำไมจึงใหญ่โตขนาดนี้ ทำอย่างไรจะดูได้อย่างครอบคลุม ครั้งที่ 2 เมื่อ 10 ปีก่อนและล่าสุด เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ได้ซื้อหนังสือพระราชวังต้องห้าม ซึ่งจัดพิมพ์โดย สนพ.มติชนไปอ่านบนเครื่องบิน พบว่ามีข้อมูลละเอียดยิบ และช่วยไขปัญหาต่างๆ มากมาย นอกจากนี้ ยังเป็น “ที่สุดในโลก” ใน 4 เรื่อง ได้แก่ 1.เป็นงานก่อสร้างที่มีงานพิมพ์เขียวที่ใหญ่ที่สุดในโลก 2.เป็นฐานตัวถู่ (แปลว่าดิน) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก 3.เป็นกลุ่มพระราชวังที่สร้างด้วยไม้ใหญ่สุดในโลก 4.เป็นจัตุรัสที่ใหญ่สุดในโลก

“เมืองห้าม หรือวังต้องห้ามแห่งนี้แบ่งเป็นสัดส่วน มี 3 ชั้น มีบทบาทเป็นศูนย์กลางแห่งสวรรค์และอาณาจักร หนังสือเล่มนี้ทำแผนผังให้เห็นหมดเลยว่าอาคารใดคือที่ตั้งของอะไร และยังไขเรื่องสำคัญ บอกว่าวังขนาดใหญ่ยึดหลักสมดุล แต่ไม่สมมาตร คือ มีแกนกลาง แต่ 2 ซีกไม่ได้เหมือนกันเป๊ะ มีความหมายแฝงมากมาย หากมีสิงโต ก็ต้องมีตัวผู้ตัวเมีย ฝั่งหนึ่งมีนาฬิกาแดด อีกฝั่งมีตาชั่ง ฟากหนึ่งเป็นทหาร อีกฟากเป็นพลเรือน เป็นต้น มีความเป็นหยิน-หยาง ส่วนเรื่องความใหญ่นั้น ไม่แปลกใจเลย เพราะจีนไม่เคยคิดอะไรเล็กๆ เขาคิดใหญ่แล้วพยายามทำออกมาจนได้ รู้สึกทึ่งในความสามารถ” นพ.บัญชากล่าว

นพ.บัญชายังกล่าวอีกว่า หนังสือเล่มนี้มีส่วนที่ว่าด้วยเรื่องช่าง ซึ่งทำให้เข้าใจและมองเห็นภาพ สำหรับอาคารต่างๆ ที่เห็นทุกวันนี้ ได้รับการบูรณะตลอดมา เพราะบางส่วนถูกไฟไหม้บ้าง ถูกรื้อบ้าง มีเพียงหลังเดียวที่อยู่มาแต่ดั้งเดิม คือ “หอบรรพชน” สถานที่แห่งประวัติศาสตร์นี้มีความต่อเนื่องในการเลือกหยิบคุณค่ามาใช้ อยู่ที่เราจะเลือกเก็บ ปล่อยให้ทิ้งร้าง หรือรื้อทิ้ง ตนมองว่าเราควรเรียนรู้อดีต เข้าใจปัจจุบัน เพื่อมุ่งสู่อนาคต เช่นเดียวกับหนังสือเล่มนี้ที่ถูกจัดพิมพ์ขึ้นมา

ปริวัฒน์ จันทร ผู้เขียน “เจิ้งเหอ แม่ทัพขันที ซำปอกง” ลุกขึ้นกล่าวข้อมูลเสริม สร้างสีสันให้วงเสวนาอย่างมาก

นายปริวัฒน์ จันทร ผู้เขียนหนังสือ “เจิ้งเหอ แม่ทัพขันที ซำปอกง” ซึ่งเดินทางมาในฐานะผู้ฟัง กล่าวว่า ตนเดินทางไปที่พิพิธภัณฑ์กู้กงมาแล้วหลายครั้ง เมื่อเห็นหนังสือเล่มนี้แล้วตัดสินใจซื้อทันที อ่านอย่างตื่นตาตื่นใจ ขอแนะนำให้ผู้ที่จะเดินทางไปยังพระราชวังต้องห้าม หรือเคยไปมาแล้ว ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ เชื่อว่าจะทำให้มีอรรถรสและมีความสุขมากขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจบการเสวนา ผู้ชมได้ยกมือถามประเด็นที่สนใจอย่างคึกคัก

ทั้งนี้ มติชนอคาเดมี จัดทัวร์ เลาะรั้วชมวัง .. ชิมถังหูลู่ “ร้อยเรื่องราววังต้องห้าม” ระหว่างวันที่  29 มิ.ย. – 3 ก.ค. 60 วิทยากรโดย นพ.บัญชา พงษ์พานิช สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
0-2954-3977-84 ต่อ 2115, 2116, 2123, 2124

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image