สุจิตต์ วงษ์เทศ : คนชอบดูลิเกแต่งตัวสวย เล่นสนุก รวดเร็วทันใจ ไม่รำเยิ่นเย้อยืดยาด

มหกรรมลิเก อ่างทอง ปี 2556 จ. อ่างทอง (ภาพจาก http://www.tiewpakklang.com/news/suphanburi/6567/)

ลิเกไทย ถ้าอยากให้มีแบบแผนกันนักก็อาจหาได้ โดยสรุปจากคำบอกเล่าของผู้สร้างสรรค์วิกลิเกยุคแรกสุด สมัย ร.5 ว่า

(1) แต่งตัวสวยงาม (2) เล่นสนุกขบขัน (3) เล่นเร็ว ทันใจ

แต่อย่าด่วนทึกทักเอาเองตามชอบใจว่าต้องอย่างโน้น อย่างนี้ อย่างนั้น ถึงจะเรียกลิเกไทย อย่างที่ชอบอ้างกันในปัจจุบัน

เพราะลิเกมีกำเนิดและเติบโตอย่างเข้าถึงลักษณะเสรีสุดๆ ด้วยการแหกคอกนอกครู จากสิ่งที่เรียกอย่างโน้น อย่างนี้ อย่างนั้น ซึ่งแปลว่าไม่มีกรอบนั่นแหละ

Advertisement

ลิเกรำ

คนที่ชอบดูลิเกสมัยก่อนๆ ไม่ได้ต้องการจะดูร้องดูรำ แต่อยากดูเล่นตลกขบขัน รวดเร็ว ทันใจ ไม่เยิ่นเย้อยืดยาด

ต่อมามีลิเกพวกหนึ่งในกรุงเทพฯ จะหาจุดขายของกลุ่มตนว่ารำงามรำสวย จึงขอเรียนท่ารำบางท่าจากครูละครกรมศิลปากร แล้วเรียกคณะของตนให้ต่างไปว่า ลิเกรำ

มากกว่า 50 ปีมาแล้ว เศรษฐีบ้านนอกจ้างลิเกรำราคาแพงจากกรุงเทพฯ ไปเล่นงานศพในวัดสำคัญของดงศรีมหาโพธิ์ จ. ปราจีนบุรี ด้วยคาดหวังว่าจะเป็นที่ถูกอกถูกใจคนดูบ้านนอกที่ได้ดูของดีเลิศจากกรุงเทพฯ

“ลิเกรำ” (ยุคนั้นมีคณะเดียว) หมายถึง ลิเกร้องเอง รำเอง ที่ได้รับยกย่องจากแม่ยกกรุงเทพฯ ว่ารำงามรำสวยเหนือลิเกคณะอื่นๆ ที่รำน้อย หรือไม่รำเลย เพราะรำไม่เป็น ไม่ถนัดรำ และไม่อยากรำ เนื่องจากคนดูไม่อยากดู

หลังงานศพ ชาวบ้านที่ไปดูลิเกงานศพด่ากันพึมว่าลิเกอะไรดูไม่รู้เรื่อง เอาแต่รำทั้งคืน ไม่รู้จักเล่น

ลิเกรู้จักเล่น หรือเล่นเป็น ในความหมายของชาวบ้านคือแต่งตัวสวยๆ เริ่ดๆ เข้าไว้ รำแต่น้อยๆ หรือไม่ต้องรำ ขอให้เล่นมากๆ คือ ร้องกับเจรจาด่าทอ ตลกคะนอง

 

ลิเกยุคแรกเริ่ม

ลิเกปิดวิกเล่นเป็นที่ทางอย่างถาวร สมัย ร.5 เป็นของพระยาเพชรปาณี อยู่ป้อมมหากาฬ ชานกำแพงพระนคร (ที่กรมศิลปากรปิดปาก ไม่ยอมดูแลรักษาแหล่งประวัติศาสตร์สังคมการละเล่นที่มีกำเนิดในกรุงเทพฯ)

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จไปดูลิเกที่วิกพระยาเพชร แล้วถามด้วยความสงสัยว่าทำไมคนชอบดูลิเก? แล้วทำไมลิเกไม่ค่อยประณีตในกระบวนร้องและรำ? [มีลายพระหัตถ์ พ.ศ. 2483 ในสาส์นสมเด็จ]

พระยาเพชรปาณี เจ้าของวิกลิเกทูลสมเด็จฯ ว่า

“คนที่ชอบดูยี่เกไม่เอาใจใส่ในการขับร้องฟ้อนรำ หรือเพลงปี่พาทย์”, “ชอบแต่ 3 อย่างคือ แต่งตัวสวย, เล่นขบขัน, เล่นให้เร็วทันใจ”, “ถ้าฝืนความนิยม คนก็ไม่ดู”

 

ผู้หญิงชอบดูลิเกหรูๆ ดึงดูดผู้ชายไปดูผู้หญิง

สมเด็จฯ ถามว่า ทำไมทำเครื่องเล่นลิเกหรูหรานอกรีต เช่น มีโบว์แพรที่บ่า ฯลฯ?

พระยาเพชรฯ ทูลว่าแต่งอย่างนั้นผู้หญิงเห็นว่าสวย มักติดใจ ชอบไปดู เมื่อมีผู้หญิงไปดูมาก พวกผู้ชายก็มักพากันไปดูพวกผู้หญิง

นี่คือการตลาดง่ายๆ ให้คนไปดูลิเกมากๆ ยุคแรกลิเกมีกำเนิดในกรุงเทพฯ สมัย ร.5

แต่การตลาดลิเกยุคนี้ เปลี่ยนไปแล้ว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image