อาศรมมิวสิก : นิชฌาน พิทยาธร นักแซกโซโฟนหน้าใหม่ : โดย สุกรี เจริญสุข

เริ่มครึ่งหลังของฤดูกาลที่ 12 วงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย (Thailand Philharmonic Orchestra, TPO) เมื่อวันที่ 5-6 พฤษภาคม 2560 แสดงที่อาคารมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา โดยวงทีพีโอมีนักดนตรีหน้าใหม่ที่ยอมเซ็นสัญญา 17 คน ผ่านการคัดเลือกเข้ามาแทนคนเก่า ซึ่งการคัดเลือกนักดนตรีครั้งนี้ เป็นการเปลี่ยนผ่านและเป็นพัฒนาการที่สำคัญยิ่งของวงออเคสตราของไทย

นักดนตรีใหม่ได้นั่งตำแหน่งใหม่ โดยเฉพาะนักดนตรีในตำแหน่งหัวแถวซึ่งได้เปลี่ยนเกือบหมด สมาชิกเก่าจำนวนหนึ่งหลุดหายไป มีคนใหม่เข้ามาแทน แถมยังเข้ามาแทนในตำแหน่งหลักเสียด้วย ทำให้เกิดอาการรู้สึกหวาดเสียวมากขึ้น เพราะสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปนี้เป็นคำตอบว่า การจัดการคิดถูกหรือไม่

การคัดเลือกนักดนตรีทั้งวงนั้น ถูกต้องที่สุดหรือผิดพลาดอย่างมหันต์กันแน่

เมื่อมีนักดนตรีหน้าใหม่เข้ามาอยู่ในวงทีพีโอ แถมนักดนตรีหน้าใหม่ก็เข้ามานั่งในตำแหน่งที่ต้องนำเสียงของวงอีก จึงทำให้ต้องลุ้นกันสุดตัว ลุ้นว่าถูก ลุ้นว่าผิด ลุ้นว่าจะรอดหรือไม่รอด วงจะออกมาอย่างไร พาวงไปตลอดรอดหรือไม่ เล่นล่มหรือเปล่า นักดนตรีในวงด้วยกันจะยอมรับได้ไหม ผู้ฟังยอมรับได้หรือเปล่า เสียงจะออกมาดีหรือแย่กว่าวงเดิม เป็นต้น ซึ่งเป็นคำถามที่มีอยู่ในใจตลอดเวลา ต้องลุ้นเพราะเป็นคำตอบว่า ในการตัดสินใจคัดเลือกนักดนตรี (ผิดหรือถูก) วิธีการคัดเลือกนักดนตรี การจัดวงดนตรี เสียงที่ออกมาก็จะฟ้องว่าผิดพลาด ล้มเหลว หรือประสบความสำเร็จ ล้วนขึ้นอยู่กับการแสดงในครั้งแรกนี้ทั้งสิ้น

Advertisement

ประกอบกับรายการแสดงครั้งนี้ มีนักแซกโซโฟนหน้าใหม่ซึ่งเป็นผู้เดี่ยวเพลงใหม่กับวงทีพีโอด้วย คือ นิชฌาน พิทยาธร นักเรียนซึ่งเพิ่งจะเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโครงการเตรียมอุดมดนตรีของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล

เมื่อรวมๆ กันแล้ว ก็เป็นความเสี่ยงที่ท้าทายยิ่ง ลุ้นทุกขั้นตอน ลุ้นทุกตำแหน่ง ลุ้นทั้งรายการก็ว่าได้ ซึ่งเป็นการลุ้นของทุกๆ คน ตั้งแต่นักดนตรี เพื่อนๆ นักดนตรี ผู้จัดการวงดนตรี ผู้อำนวยการวงดนตรี ผู้ฟัง และผู้ที่ติดตามความเปลี่ยนแปลงของวงทีพีโอ ลุ้นโดยไม่กะพริบตา

นิชฌาน พิทยาธร

วันแรกที่ซ้อม (1 พฤษภาคม 2560) ที่อาคารมหิดลสิทธาคาร (17.00-21.30 น.) เมื่อผ่านไปได้ 15 นาที ก็รู้สึกว่าโล่งอกโล่งใจทันทีไปเปลาะหนึ่ง เพราะเสียงที่ได้ยินใหม่จากวงทีพีโอ เป็นเสียงที่อิ่มอุ่น โดยพื้นฐานแล้ว เสียงของวงทีพีโอดีขึ้นมากกว่าเดิมเป็นกองๆ ทีเดียว แอบอมยิ้มอยู่ในใจ เสียงเครื่องสายนั้นเต็มเสียง ก็เริ่มหายใจโล่งอกในยกแรก เมื่อนักดนตรีหัวโต๊ะเครื่องสายไม่น่าเป็นห่วงแล้ว ก็เหลือนักดนตรีหัวโต๊ะพวกเครื่องเป่า ทรอมโบน ทรัมเป็ต โอโบ ทิมปานี จะไปไหวไหม โดยเฉพาะจากคำวิจารณ์ของนักดนตรีด้วยกัน ครั้นเมื่อผ่านไป 1 วัน ก็ตอบได้ว่า วงทีพีโอวงใหม่ สอบผ่านทั้งวง เหลือแต่ว่าวันแสดงจะได้รับเสียงปรบมือจากผู้ชมมากน้อยเพียงใด เสียงปรบมือจะหนาแน่นเหมือนเดิมหรือเปล่า

Advertisement

โดยปกติแล้ว นักเดี่ยว (Soloist) จะเข้าฝึกซ้อมกับวงในวันที่ 3 ของการซ้อม เพราะส่วนใหญ่นักเดี่ยวที่ร่วมแสดงกับวงทีพีโอก็จะผ่านการแสดงในเวทีอื่นๆ มาก่อนพอสมควรแล้ว เพียงแต่ต้องซ้อมเพื่อปรับการเล่นให้เข้ากับวงและผู้ควบคุมวงดนตรี ก็น่าจะไม่มีปัญหาใดๆ แต่ในครั้งนี้ มีนักเดี่ยวแซกโซโฟนหน้าใหม่วัยยังละอ่อน “นิชฌาน พิทยาธร” ขึ้นเวทีเล่นกับวงออเคสตราครั้งแรกในชีวิต ก็ถือเป็นความเสี่ยงที่สาหัสอีกเรื่องหนึ่ง

ในที่สุดก็ขอให้ผู้ควบคุมวงดนตรี (Conductor) เริ่มซ้อมกับนักเดี่ยวหน้าใหม่ตั้งแต่วันที่ 2 ให้เร็วขึ้นอีกวันหนึ่ง เผื่อว่า “ขาดเหลือ” จะได้ช่วยเหลือได้ทัน ซึ่งก็ปรากฏว่าเป็นจริงอย่างนั้น เพราะบทเพลงใหม่ (Four Pictures from New York) ดุริยกวีจากอิตาลี (Roberto Molinelli) นักประพันธ์เพลงหน้าใหม่ อายุ 54 ปี ประพันธ์เพลงสำหรับแซกโซโฟนและออเคสตราขึ้น 4 ท่อน เพื่อบรรยายบรรยากาศของนิวยอร์ก (1) ยามรุ่งอรุณ (2) ในบาร์แทงโก (3) นิวยอร์กยามค่ำคืน และท่อนสุดท้าย (4) เป็นเสียงดนตรีบรรยากาศของ
บรอดเวย์ (Broadway Night) ซึ่งเพลงยังเป็นเพลงใหม่สำหรับผู้ฟัง แซกโซโฟนก็เป็นเครื่องดนตรีที่มีโอกาสน้อยที่จะเล่นกับวงออเคสตรา หาวงเล่นก็ยาก เพราะแซกโซโฟนไม่ใช่เครื่องดนตรีในวงออเคสตรา

แถมเป็นเครื่องดนตรีสมัยใหม่ มีนักประพันธ์เพลงแต่งให้เล่นน้อย

สําหรับวงทีพีโอนั้น ได้เปิดโอกาสให้แซกโซโฟนบ่อยพอสมควร ผ่านการจัดงานประกวดแซกโซโฟนของลอนเด็กซ์ (Jean-Marie Londeix) ระดับนานาชาติ ทุกๆ 3 ปี ซึ่งวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นเจ้าภาพจัดการประกวดแซกโซโฟนนานาชาตินี้มา 4 ครั้งแล้ว โดยในรอบสุดท้ายจะต้องมีเพลงที่แต่งขึ้นใหม่

สำหรับแซกโซโฟนและออเคสตรา ที่สำคัญก็คือ รอบสุดท้ายก็ต้องเล่นกับวงออเคสตรา ทำให้เกิดเพลงใหม่ๆ สำหรับแซกโซโฟนมากขึ้น ทำให้นักแซกโซโฟนคุ้นเคยกับการเล่นกับวงออเคสตรามากขึ้นด้วย ส่วนผู้ชนะเลิศก็จะได้แสดงกับวงทีพีโอ ซึ่งเป็นการผูกติดกันไว้ระหว่างเพลงใหม่ นักแซกโซโฟน และวงออเคสตรา

ในปีนี้ วันที่ 21-22 กรกฎาคม 2560 ก็จะมีการประกวดแซกโซโฟนนานาชาติอีกเป็นครั้งที่ 5 ซึ่งรอบสุดท้ายก็จะมีนักแซกโซโฟน 5 คน ที่จะต้องแข่งเดี่ยว โดยได้เล่นร่วมกับทีพีโอด้วย เป็นเรื่องน่าตื่นเต้น เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เป็นประวัติศาสตร์ของวงการดนตรีโลกทีเดียว และเป็นเรื่องที่น่าดูยิ่ง

นิชฌาน พิทยาธร (เปา) เป็นนักแซกโซโฟนหน้าใหม่ (อายุ 18 ปี) และเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เริ่มเรียนแซกโซโฟนกับอาจารย์พร้อมวุฒิ สุดตะกู ซึ่งสอนแซกโซโฟนอยู่ที่โครงการสอนดนตรีสำหรับบุคคลทั่วไป ศูนย์การค้าซีคอนสแควร์ ถนนศรีนครินทร์ ถือเป็นหุ้นส่วนของโครงการวิจัยพรสวรรค์ศึกษาที่ได้เริ่มโครงการสอนดนตรีเด็กในศูนย์การค้าเมื่อ พ.ศ.2538 เป็นต้นมา

นิชฌาน พิทยาธร ได้ผ่านเวทีประกวดในระดับชาติมาหลายเวที มีโอกาสได้ออกไปแสดงในเวทีนานาชาติก็หลายครั้ง ผ่านการเรียนกับนักแซกโซโฟนระดับนานาชาติก็หลายคน ประมาณว่า นิชฌาน เป็นนักแซกโซโฟนรุ่นใหม่ที่น่าจับตาทีเดียว

เมื่อนิชฌานชนะเลิศการประกวดเยาวชนดนตรีแห่งประเทศไทยก็ได้สร้างโอกาสและมีสิทธิที่จะได้เล่นกับวงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทยในปีถัดไป

เมื่อซ้อมวันแรก ก็ต้องขอให้อาจารย์ดริน พันธุมโกมล อาจารย์เปียโนแจ๊ซ ช่วยเหลือ เพื่อที่จะเขียนแนวทำนองของแซกโซโฟนท่อนที่ 3 ให้ใหม่ เพราะผู้ประพันธ์ได้เปิดโอกาสให้นักแซกโซโฟน “ด้นเอาเอง” แต่เนื่องจากนิชฌาน พิทยาธร เป็นนักดนตรีรุ่นใหม่ เล่นเพลงคลาสสิก เป็นเพลงใหม่ แถมยังใหม่กับการเล่นกับวงออเคสตรา ในเวลาเดียวกันก็ใหม่กับการด้นเพลงแบบแจ๊ซอีก ก็ได้แต่ไถๆ ไป จะเป็นจุดอ่อนให้ผู้ฟังต่อว่าวิจารณ์ได้ เมื่ออาจารย์ดริน พันธุมโกมล ได้เขียนแนวทำนองท่อน 3 ให้ใหม่แล้ว ก็ได้ดนตรีแนวแจ๊ซ (Sentimental Evening) ขึ้น ทำให้นิชฌาน พิทยาธร เล่นผ่านไปได้อย่างปลอดภัย ซึ่งก็ไม่มีใครรู้เบื้องหลังของการลุ้นครั้งนี้ ความสำเร็จของการแสดงได้สร้างความประทับใจให้แก่ผู้ฟังเป็นอย่างยิ่ง

การแสดงของนิชฌาน พิทยาธร เดี่ยวแซกโซโฟนกับวงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย เป็นความสำเร็จที่โล่งอกยิ่ง เพราะว่าต้องลุ้นในหลายๆ เรื่องในเวลาเดียวกัน แต่เมื่องานท้าทายผ่านไปแล้ว ก็สามารถสรุปบทเรียนได้ว่า (1) ความเปลี่ยนแปลงจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับองค์กร เพื่อพัฒนาให้เกิดความเจริญก้าวหน้า ซึ่งเราต้องกล้าเปลี่ยนแปลง (2) อนาคตเป็นโลกของคนรุ่นใหม่ คนรุ่นใหม่มีโอกาสและมีศักยภาพสูง (3) ไม่ต้องวิ่งไปหาโลกอีกต่อไป ต้องชักชวนโลกให้มาที่นี่ เมื่อความไพเราะของโลกมาอยู่ที่ศาลายา แม้แต่เทวดาก็อยากฟัง (4) ต้องมีความกล้าหาญพอที่จะทำเรื่องกระจอกๆ ของเราให้โลกได้รู้จัก

วันนี้ สามารถบอกได้ว่า เด็กไทยมีศักยภาพความเป็นเลิศทางดนตรีมากพอที่จะสู้กับโลกตะวันตกได้แล้ว แม้จะเป็นส่วนน้อยอยู่ แต่อย่างน้อย เด็กอย่างนิชฌาน พิทยาธร ก็สามารถที่จะไปอยู่ที่ไหนก็ได้ในโลกนี้

สุกรี เจริญสุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image