คอลัมน์เดินไปในเงาฝัน : ผู้เปลี่ยนแปลงโลก

หลายวันมานี้มีโอกาสพูดคุยกับผู้บริหารแบงก์หลายคน และหลายคนพูดไปในทำนองเดียวกันว่าเมื่อโลกของธุรกิจเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน เราในฐานะคนทำธุรกิจเกี่ยวกับการให้บริการทางการเงินการธนาคารก็ต้องปรับเปลี่ยนตามไปด้วย

ไม่เช่นนั้นอาจตกขบวนการเปลี่ยนแปลงได้

เพราะปัจจุบันเทคโนโลยีพัฒนาไปเร็วมาก ทั้งยังตอบสนองผู้ใช้บริการหลากหลายช่องทางมากกว่าเดิม ที่สำคัญ ยังทำงานตลอดทั้งคืน ไม่เหมือนกับพนักงานออฟฟิศที่ทำงานเป็นเวลา

เกินเวลาก็ต้องจ่ายค่าล่วงเวลา

Advertisement

แต่สำหรับเทคโนโลยีไม่จำเป็นเลย ขอให้โปรแกรมเมอร์เขียนโปรแกรมอะไรลงไปอย่างที่ต้องการ เครื่องมือดังกล่าวจะตอบสนองอย่างไม่เกี่ยงงอน

นอกจากนั้น ผู้บริหารเหล่านั้นยังเปรยให้ฟังถึงพนักงานออฟฟิศในปัจจุบันว่า นอกจากจะหาคนที่ “ใช่” สำหรับองค์กรยากแล้ว ในกลุ่มธุรกิจประเภทเดียวกันล้วนต่างต้องการ “คนเก่ง” และ ”คนดี” เหมือนกัน

ทว่า คนเหล่านี้มีจำนวนจำกัด

Advertisement

หรือถ้ามาทำงานจริง คนเหล่านี้จะอยู่กับองค์กรเพียงชั่วระยะเวลาหนึ่ง จึงทำให้ผู้บริหารฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ปวดหัว เพราะพัฒนาพวกเขาไปในระดับหนึ่ง เขาก็ออกไปอยู่ที่อื่น

หรือไปทำธุรกิจของตัวเอง

ไม่บางทีก็ไปทำธุรกิจสตาร์ตอัพ ฟรีแลนซ์ อันเป็นเทรนด์ของคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน ยกเว้นเสียแต่ธนาคารเหล่านั้นพยายามออกโปรดักต์ใหม่ๆ หรือพยายามสร้างธุรกิจใหม่ขึ้นมาเพื่อตอบสนองพวกเขา

พร้อมกับวางเส้นทางการเติบโตในอาชีพให้ชัดเจนว่าเมื่ออยู่กับองค์กรถึง 5 ปี เขาและเธอจะเติบโตไปอย่างไร สามารถย้ายข้ามสายงานได้หรือไม่

ทำงานในต่างประเทศได้หรือเปล่า

หรือถึงระดับหนึ่งจะได้เงินเดือนเท่าไหร่ และตำแหน่งจะขยับไปได้ไกลอย่างไรบ้าง

สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่ต้องการ เพราะเขามีความชัดเจนในตัวเองตั้งแต่แรก

ฉะนั้น หากองค์กรหนึ่งองค์กรใดไม่สามารถตอบสนองสิ่งเหล่านี้ให้กับพวกเขาได้ เขาไม่มีทางอยู่กับเราหรอก และเรื่องเหล่านี้ก็ไม่เฉพาะแต่ธุรกิจธนาคารอย่างเดียว

หากธุรกิจอื่นๆ ก็มีปัญหาแบบเดียวกัน

เพราะต้องยอมรับว่าโลกในปัจจุบันถูกขับเคลื่อนด้วยคนรุ่นใหม่ และคนรุ่นใหม่เหล่านี้คือผู้เปลี่ยนแปลงโลก และไม่เฉพาะแต่ในเรื่องเทคโนโลยีและธุรกิจเพียงอย่างเดียว

หากในแวดวงศิลปะทุกแขนงก็เกิดการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน

คำถามจึงเกิดขึ้นว่า แล้วต่อไปจะเป็นอย่างไร?

เพราะประชากรสูงวัยของโลกมีจำนวนเพิ่มขึ้น แต่ประชากรที่ลืมตาขึ้นมาดูโลกกลับมีจำนวนลดลง ในทางเดียวกัน ภาคการศึกษาก็เปิดหลักสูตร สาขามากมาย เช่นเดียวกับภาคอุตสาหกรรมก็ต่างขยายธุรกิจกันมากขึ้น จนทำให้เกิดความต้องการบุคลากรมากขึ้นด้วย

ผลตรงนี้ จึงทำให้โลกของการศึกษาเองจึงต้องปรับตัว เพราะผู้เรียนมีจำนวนลดลง ยกตัวอย่างในระดับอุดมศึกษาของประเทศไทย ขณะนี้มหา’ลัยภาครัฐต่างเปิดหลักสูตร สาขาเพื่อรองรับนิสิต นักศึกษาที่สนใจในเรื่องต่างๆ มากขึ้น

บางสาขาไม่มีผู้เรียน

หรือเอาต์ไปแล้วในสายตาของเด็กๆ ผู้บริหารจำเป็นต้องยุบทิ้ง เพื่อเปิดหลักสูตรที่มีผู้เรียนสนใจจริงๆ อาทิ หลักสูตรแอนิเมชั่น ดิจิทัล,หลักสูตรหุ่นยนต์ และหลักสูตรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรม

ที่ผู้เรียนสมัยนี้ให้ความสนใจ

เหตุนี้เอง จึงทำให้นักศึกษาไหลไปอยู่กับมหา’ลัยเอกชนค่อนข้างน้อย และจะน้อยลงไปเรื่อยๆ หากบางหลักสูตร บางสาขาไม่ตอบโจทย์ผู้เรียนจริงๆ

จนในที่สุดมหา’ลัยเหล่านั้นจำต้องปิดตัวเองลง เพราะในระนาบเดียวกัน มหา’ลัยที่มีชื่อเสียงระดับท็อปเทนของโลกก็ต่างเปิดการเรียนการสอนออนไลน์กันมากขึ้นด้วย

คนสมัยใหม่มีความรู้ภาษาอังกฤษดี ขณะเดียวกันก็ยังมีภาษาที่สองสามที่เขารู้ พูด อ่าน เขียนได้อีก ฉะนั้น จึงไม่แปลกเลยว่าโลกในอนาคตข้างหน้าจะเชื่อมโยงเข้าหากันทั้งหมด

สำคัญไปกว่านั้น บุคคลตัวอย่างที่เป็นไอดอลของเขาไม่ว่าจะเป็นมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก,แจ๊ก หม่า และอีกหลายคน ล้วนต่างไม่ได้จบการศึกษาในระบบ แต่กลับสร้างฐานะตัวเองจนกลายเป็นมหาเศรษฐีระดับโลก

กล่าวกันว่า การดำรงชีวิตแบบคนเหล่านี้เองที่กลายเป็นแรงบันดาลใจจนทำให้คนรุ่นใหม่ในปัจจุบันอยากออกมาประกอบอาชีพของตัวเอง

เพราะอยากทดสอบศักยภาพในตัวของเขา

อยากทดสอบความคิด

และอยากทดสอบว่าสิ่งที่เขาจะทำต่อไปข้างหน้าจะเปลี่ยนแปลงโลกได้หรือเปล่า เพราะฉะนั้น โลกต่อไปในวันข้างหน้าจึงเป็นโลกของคนรุ่นใหม่

และก็จะมีมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก 2 และแจ๊ก หม่า 2 ให้เราเห็นอีกเรื่อยๆ

ผลเช่นนี้ จึงทำให้ผู้บริหารแบงก์หลายคนค่อนข้างกังวลต่อการทำธุรกรรมทางการเงินต่อไปในอนาคต พวกเขาจึงเปลี่ยนจากเกมบุก มาเป็นเกมตั้งรับ

ด้วยการสร้างบุคลากรรุ่นใหม่ขึ้นมาจำนวนหนึ่งที่สามารถเป็นที่ปรึกษาได้ทุกเรื่องสำหรับลูกค้า ดังนั้น ถ้าลูกค้าอยากรู้เรื่องอะไร อยากลงทุนอะไร หรือมีเงินอยู่ประมาณเท่านี้ แต่อยากทำให้เงินจำนวนนี้งอกเงย บุคลากรพวกนี้จะต้องตอบคำถามให้ได้ และจะต้องตอบให้เห็นผลตอบแทนอย่างตาโตด้วย

เพราะแบงก์รู้แล้วว่ากระแสฟินเทคจะส่งผลอย่างไรต่อการทำธุรกิจธนาคาร

แค่คิดก็สนุกแล้ว

ผมจึงเชื่อไงว่าการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของโลกใบนี้ ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับอะไรก็ตาม ล้วนส่งผลดีต่อไปในอนาคตทั้งสิ้น

แต่ทั้งนั้นคงขึ้นอยู่กับผู้บริหารระดับสูง

และบุคลากรในองคาพยพนั้นๆ ด้วยว่าจะพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงไปด้วยกันหรือเปล่า เพราะเราเห็นมาตลอดตั้งแต่ช่วงผ่านมา ที่หลายๆ ธุรกิจต่างมุ่งเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงกันพัลวัน

เราจึงมาลุ้นกันต่อว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะส่งผลอย่างไรต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องบ้าง

แค่คิดก็สนุกแล้วจริงๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image