นักวิชาการวิเคราะห์ บึ้มรพ.พระมงกุฎเกล้า แนะรัฐปรับท่าทีนโยบายความมั่นคง

จากกรณีเหตุลอบวางละเบิด โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า ทำให้มีผู้บาดเจ็บเป็นจำนวนมากในวันนี้  โดย กฤดิกร วงศ์สว่างพานิช นักวิชาการอิสระด้านการก่อการร้ายและความรุนแรง ได้นำเสนอมุมมองการวิเคราะห์เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผ่านเฟสบุ๊กส่วนตัว มีรายละเอียดระบุว่า

 

“เรื่องระเบิดโรงพยาบาลนั้นแย่มั้ย เลวมั้ย ต้องประณามมั้ย…”แน่นอน” ครับ เป็นอย่างที่ว่ามาทั้งหมด และผมเองก็ขอร่วมในการกร่นด่าประณามนี้ด้วย

อย่างไรก็ดี จากที่ทางตำรวจแถลงว่าการระเบิดโรงพยาบาลอะไรนั้นเป็นสิ่งที่ไม่มีใครเค้าทำกันในทางสากล แม้แต่ในช่วงสงคราม (ซึ่งถูก) แต่ในอีกอย่างหนึ่งมันก็บ่งชี้ว่า เรากำลังทรีตปัญหาการก่อการร้ายด้วยสายตาแบบ “สงคราม” ซึ่งมันคนละอย่างกัน

Advertisement

และนับตั้งแต่หลังสงครามเย็นมา ที่การก่อการร้ายมีแน้วโน้มจะจ้องให้เกิดเหยื่อจำนวนมาก (massive casualties) และไร้ความเป็นมนุษย์ยิ่งกว่าเดิม (less humane) ที่เราเรียกกันว่า New Terrorism นั้น ต้องพึงรับรู้ด้วยว่า พื้นที่ “ต้องห้าม/ยกเว้น” ที่ยอมรับร่วมกันตามกติกาของโลกสมัยใหม่นั้น ไม่ได้รับการ “ยกเว้น” อีกต่อไป (แน่นอน ไม่ได้แปลว่า “ไม่ควรประณาม” ขอย้ำอีกรอบ)…เพราะนั่นคือ ข้อตกลงของ “พวกเรา” ไม่ใช่ของ “พวกเขา”

ฉะนั้นผมคิดว่าวิธีคิดที่ควรปรับกันใหม่จริงๆ ซึ่งเคยพูดไปหลายรอบแล้วก็คือ การยอมรับความจริงว่าประเทศไทยคือประเทศที่ไม่ได้ห่างไกลการก่อการร้าย เราอยู่กับการก่อการร้ายตลอดเวลา จงยอมรับในความจริงข้อนี้ และทรีตภัยการก่อการร้ายในฐานะการก่อการร้าย ไม่ใช่ในฐานะสงคราม

แม้ว่าจะยังไม่รู้ว่าผู้ก่อเหตุคือใคร แต่ในระดับหนึ่งผมคิดว่าต่อให้ยังไม่สามารถฟันธงได้ว่าใครทำ (แต่สมมติฐานมันก็พอมีกันบ้างทุกคนนั่นแหละนะ) แต่สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนอยู่แล้วก็คือ “เมสเสจที่ผู้ก่อเหตุต้องการจะสื่อถึงคือใคร”

Advertisement

ก่อเหตุในวันครบรอบ 3 ปีการรัฐประหาร
ก่อเหตุในโรงพยาบาลทหาร
ก่อเหตุแถวห้องวีไอพีที่ตั้งชื่อตามนามสกุลคนกุมบังเหียนด้านความมั่นคงของรัฐบาลนี้

มันชัดยิ่งกว่าชัดอยู่แล้วครับว่า แม้จะตอบไม่ได้โดยชัดเจนว่าใครทำ แต่คนที่ทำเขาต้องการจะบอกว่าเขามีปัญหากับรัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงของรัฐบาลนี้เป็นพิเศษ

ฉะนั้น พร้อมๆไปกับการประณามผู้ก่อเหตุ ผมว่าเราต้องกดดันให้รัฐบาลพิจารณาที่จะทบทวนท่าทีด้านนโยบายความมั่นคงตัวเองได้แล้ว ว่าที่ผ่านมามัน ไม่นำมาซึ่งการแก้ปัญหาอย่างไร มันทำให้ปัญหาบานปลายแค่ไหน มันควรมีทางออกอื่นอย่างไรบ้าง

อีกทั้งเราต้องเข้าใจว่า ผู้ก่อเหตุก่อการร้ายนั้น เค้าไม่ได้มาแยแสนะครับว่าเราจะก่นด่า ประณาม ดราม่าใส่พวกเขามากเพียงใด เพราะเขารู้อยู่แล้วว่าทำไปแล้วโดนด่า โดนประณาม หรือเสี่ยงชีวิตตัวเอง ฉะนั้นการด่าประณาม การไล่ฆ่าล้างบางมันจึงไม่เคยตอบโจทย์ปัญหาลักษณะนี้

การทำแบบนี้เป็นการบ่งด้วยซ้ำว่าการที่จะทำให้ “สารที่พวกเขาคิดจะสื่อ” เป็นที่ได้ยิน มันต้องทำใน กทม. เท่านั้น เพราะเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นในไทยมาหลายรอบ แต่นอก กทม. ก็เงียบงันกันไปทุกรอบ ต่อไปถ้าเฉพาะใน กทม. ถึงจะมีคน “สนใจ” ก็มีโอกาสที่ กทม. จะกลายเป็นเป้าหมายมากขึ้นเรื่อยๆ ได้

แน่นอน ผมไม่ได้บอกให้เรากลับไปแยแสตามเดิม เพราะนั่นจะยิ่งแย่ใหญ่ การเงียบงัน ไม่แยแสยิ่งทำให้อะไรๆ มันรุนแรงขึ้น ที่ผมอยากจะบอกก็คือ การจะลดความรุนแรงลงได้ มีแต่แสดงให้เห็นชัดว่า “มีความพร้อมจะรับฟังข้อเสนอของพวกเขา และพร้อมจะพูดคุยอย่างจริงจัง และนำมาปฏิบัติจริงๆ” ครับ

ลักษณะดังกล่าวนี้ สำเร็จมาแล้วทั้งจากกรณีในอัฟริกาใต้ หรือ IRA (ที่ทุเลาลงมาก) เพราะสิ่งที่ผู้ก่อเหตุต้องการคือ การได้รับความสนใจที่พร้อมจะนำไปสู่การปฏิบัติตามข้อเรียกร้องได้

ผมคิดว่าเราควรคิดจริงจังถึงเรื่องนี้ได้แล้ว ไม่ใช่ปล่อยให้ดาวบนบ่ามันมาถ่วงให้ชีวิตคนจมลงไปพร้อมกับความมั่นคง


หมายเหตุ : กฤดิกร วงศ์สว่างพานิช จบการศึกษา ปริญญาตรีภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รัฐศาสตร์ จุฬาฯ และ MSc Econ in Terrorism and International Relations University of Wales, Aberystwyth ทำวิทยานิพนธ์ปริญญาโท หัวข้อ The Delegitimation of (Non-State) Vilolence: Constructing Terror in Medernity” ผู้เขียนหนังสือ THOU SHALL FEAR : เจ้าจงตื่นกลัว การก่อการร้าย ความรุนแรง โดยสำนักพิมพ์มติชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image