สถานะ ‘คสช.’ บนเส้นทาง อำนาจ ใต้กฎ ‘อนิจจัง’

ความเชื่อมั่นที่ว่า “คสช.” ต้องการสืบทอดอำนาจ และอำนาจในตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” จะต้องเป็นของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างไม่ต้องสงสัย

มาจากปัจจัยอย่างน้อย 3 ปัจจัย

1 ความเชื่อมั่นต่อการดำรงอยู่ของ “คสช.” อย่างไม่มีอะไรแปรเปลี่ยน 1 ความเชื่อมั่นต่อการดำรงอยู่อย่างเป็นเอกภาพระหว่าง “คสช.” กับ “กองทัพ”

1 ความเชื่อมั่นต่อความศักดิ์สิทธิ์ของ “รัฐธรรมนูญ”

Advertisement

หากพิจารณาอย่างถึงที่สุดจาก 3 ปัจจัยนี้ที่สำคัญอย่างยิ่งยวดย่อมเป็นปัจจัยแห่งการดำรงอยู่ของ “คสช.” อย่างไม่มีอะไรแปรเปลี่ยน

นั่นก็คือ อยู่ในมือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

เพราะเมื่อ “อำนาจ” ยังดำรงอยู่อย่างเข้มแข็ง มั่นคง นั่นหมายถึงการแสดงพลานุภาพในการแต่งตั้งคนของตน หรือคนที่ซื่อสัตย์ต่อ “คสช.” เข้าไปดำรงตำแหน่งในกองทัพอย่างต่อเนื่องและเป็นจริงกระทั่งยังความศักดิ์สิทธิ์ให้กับ “รัฐธรรมนูญ”

Advertisement

แต่ “อำนาจ” ทั้งหมดนี้ดำรงอยู่อย่างแน่นอน ตายตัวหรือ

เอากันง่ายๆ ในการแต่งตั้งให้นายทหาร นายตำรวจ รับราชการ ในแต่ละครั้ง แต่ละวาระ คสช.จะสามารถดำเนินไปด้วยความราบรื่น เรียบร้อยหรือไม่

ราบรื่น เรียบร้อยเหมือนเดือนตุลาคม 2558 หรือ

ราบรื่น เรียบร้อยเหมือนเดือนตุลาคม 2559 หรือ

เพราะเพียงแต่การพิจารณาแต่งตั้ง โยกย้าย นายทหารก่อนเดือนตุลาคม 2559 ก็มากด้วยข่าวสารที่แตกกระจายเป็นอย่างสูง

ที่เคยเป็น “เต็งหนึ่ง” กลับมิใช่

เนื่องจากมีปัจจัยอื่นเบียดแทรกเข้าไปมีส่วนและทำให้กระบวนการแต่งตั้ง โยกย้าย นายทหารเกิดการแปรเปลี่ยน

ถามว่า “ตัวแปร” เมื่อเดือนตุลาคม 2559 จะไม่มีในเดือนตุลาคม 2560 หรือ

ความหมายของ “ตัวแปร” เช่นนี้เท่ากับหมายความว่า อำนาจมิได้อยู่ในมือของ “คสช.” อย่างเบ็ดเสร็จอีกแล้ว

เมื่ออำนาจมิได้อยู่ในมือของ “คสช.” อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เงื่อนไขและโอกาสในการปฏิบัติตามความต้องการผ่านบทบัญญัติของ “รัฐธรรมนูญ” ก็ไม่แน่ว่าจะเป็นไปตามนั้น

ตัวอย่างง่ายๆ ก็คือ จำนวน 250 ส.ว.

จำนวน 250 ส.ว.ซึ่งถือว่าเป็นหมัดเด็ดที่จะประกันการสืบทอดอำนาจให้กับ “คสช.” อย่างแน่นอน เพราะเพียงแต่ไปหาอีก 126 ส.ส.ก็สามารถกุมเสียงข้างมากได้

และสามารถกำหนดตัว “นายกรัฐมนตรี” ได้

แต่คำถามที่เสนอเข้ามาก็คือ เป็นไปได้หรือที่ทั้ง 250 ส.ว.จะเป็นของ “คสช.” อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

เป็นไปได้หรือที่จะไม่มี “อำนาจ” จากปัจจัย “อื่น” เบียดแทรกเข้ามา

เป็นไปได้หรือที่สถานการณ์อาจจะควบคุมไม่ได้เหมือนกับที่รัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ประสบตั้งแต่ปลายปี 2522 ทั้งที่ “ลากตั้ง” มาด้วยมือของตัวเอง กระทั่งในที่สุดก็จำใจต้องลาออกด้วยความเศร้ารันทดในเดือนกุมภาพันธ์ 2523

นี่คือสภาวะ “ไม่แน่นอน” อันเนื่องจาก “อำนาจ”

ความจริง นับแต่ปลายปี 2559 เป็นต้นมา สังคมไทยได้มีปัจจัย “ใหม่” ปรากฏและแสดงตัวอย่างไม่ขาดสาย

เป็นปัจจัยอันไม่เพียงแต่อยู่ในลักษณะแห่ง “อำนาจใหม่” ในทางการเมือง หากแต่ยังสามารถส่งผลสะเทือนได้ในระดับที่แน่นอนหนึ่ง

ไม่ว่าจะเป็นปัจจัย “รัฐธรรมนูญ” ไม่ว่าจะเป็นปัจจัย “การเลือกตั้ง”

สถานะของ “คสช.” ในวาระ 3 ปีบ่งชี้ “อำนาจ” ที่ดำรงอยู่อย่างเป็น “อนิจจัง” ได้อย่างเด่นชัด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image