ผลสำรวจชี้ รัฐเหลวคุมราคาสลากกินแบ่ง 80 บาท พบตามวัดซื้อแพงสุดใบละ 150 บาท

เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม โรงแรมแมนดาริน มูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน เครือข่ายประชาชนปฏิรูปสลาก ร่วมกับ เครือข่ายเด็กรุ่นใหม่ไม่พนัน และศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ จัดเสวนาหัวข้อ “2ปีแก้ปัญหาสลาก80บาท ก้าวให้พ้นหวยออนไลน์” เพื่อสะท้อนความคิดเห็นต่อการทำงานของคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลช่วงสองปีที่ผ่านมา

นายธน หาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ กล่าวว่า จากการสำรวจปัญหาการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคา หลังจากที่สำนักงานสลากฯได้พิมพ์สลากเพิ่มเป็น 71 ล้านฉบับ พบว่า แม้ประชาชนหาซื้อสลากฯได้ในราคา 80 บาท แต่โดยภาพรวมแล้วพบการขายสลากเกินราคาในทุกที่ เฉลี่ยอยู่ที่ 81.23 บาท  โดยสถานที่ขายเกินราคาสูงที่สุด 3 แหล่งคือ ร้านอาหาร เฉลี่ยใบละ 85.26 บาท  รองลงมา คือวัดหรือศาสนสถาน ใบละ 85.04 บาท และสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ใบละ 84.69 บาท โดยราคาสูงสุดที่มีการจำหน่ายตามแหล่งต่างๆ อยู่ที่ 100-120 บาท ยกเว้นที่วัดหรือศาสนสถานพบว่าราคาสูงสุดถึงใบละ 150 บาทเลยทีเดียว

“การสำรวจยังพบว่า การจำหน่ายสลากแบบรวมชุด ซึ่งพบว่าขายอยู่ที่ใบละ 100 บาท และสูงสุดอยู่ที่ใบละ150 บาท ทั้งนี้ เมื่อถามถึงเหตุผลในการซื้อสลากเกินราคา พบว่า ผู้ซื้อร้อยละ 46 ระบุว่า ไม่ได้ใส่ใจที่ต้องซื้อสลากแพง และยอมซื้อแพงเพื่อช่วยคนขาย ขณะที่ร้อยละ 39.5 ตอบว่า ไม่มีทางเลือก และร้อยละ14 รู้สึกว่าถูกโกงจากการต้องซื้อสลากแพง” นายธนกล่าว

นายธนากร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดการพนัน กล่าวว่า ปัจจุบันสลากฯได้ครองแชมป์การพนันอันดับหนึ่งแซงหวยใต้ดินแล้ว เป็นความสำเร็จในการแก้ปัญหาสลากเกินราคา ที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของคอพนัน ถึงสลากฯจะขายดีแต่หวยใต้ดินก็ไม่ได้หมดไป และกลายเป็นว่าสลากฯกับหวยใต้ดิน ที่เรียกรวมๆว่า“หวย” มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการเสี่ยงโชคของคนไทย ทำให้ทุกวันที่ 1และ16 ของทุกเดือน คนไทยไม่มีแก่จิตแก่ใจจะทำอะไร แม้ว่าการแก้ปัญหาของคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลชุดปัจจุบันจะน่าชื่นชม แต่ต้องยอมรับว่าก็มีผลข้างเคียงต่อสังคม และดูเหมือนว่าจะไม่เกิดผลที่ยั่งยืน

Advertisement

“ควรวางหลักให้กิจการสลากหลุดพ้นจากอิทธิพลครอบงำของฝ่ายการเมือง โดยปรับโครงสร้างของคณะกรรมการสลากฯให้มีสัดส่วนของภาคนอกราชการมากขึ้น มีที่มาอย่างโปร่งใส และคัดสรรคุณภาพ เพราะหากยังใช้โครงสร้างแบบเดิมๆ เมื่อคสช.จากไปสภาพปัญหาแบบเดิมๆจะกลับมา” นายธนากรกล่าว

 

พิธีกร, ผศ.ดร.รัตพงษ์ สอนสุภาพ, ธนากร คมกฤส, ธน หาพิพัฒน์

 

Advertisement

ด้าน ผศ.ดร.รัตพงษ์ สอนสุภาพ ผู้อำนวยการหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาผู้นำทางสังคม ธุรกิจและการเมือง กล่าวว่า แม้การพิมพ์สลากเพิ่มเป็นการแก้ปัญหาระยะสั้นเท่านั้น เพราะโควต้าองค์กร มูลนิธิ ยังคงอยู่ในระบบ แม้ว่าการทำงานของบอร์ดชุดนี้จะพยายามทลายระบบนี้ลง แต่เป้าหมายหลักของการมีสลากคือหาเงินส่งเข้ารัฐ ด้วยเหตุนี้ทำให้สำนักงานสลากฯยังต้องหาหลักประกันความเสี่ยงในการจำหน่ายสลาก ทั้งนี้ ยังมีข้อกังวลใจคือความไม่แน่นอนทางการเมือง เพราะธุรกิจสลากเป็นธุรกิจที่อิงกับการเมือง ดังนั้นควรกระจายสลากอย่างเป็นธรรมไปตามโครงสร้างการค้าสลาก โดยต้องถึงมือผู้ค้าสลากรายย่อยให้มากที่สุด รวมถึงรายได้จากการจำหน่ายสลากควรนำไปช่วยเหลือทางสังคม ซึ่งเป็นหลักสากลที่ต่างประเทศทำกัน และปกป้องเด็กและเยาวชนในการเข้าถึงสลากก่อนวัยอันควร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image