กลุ่มแพทย์รวมตัวจวก ‘สธ.’ แก้ปมภาระงานไม่ได้ เหตุติดกับดัก สปสช. ปัญหางบประมาณ

จากกรณี นพ.ฐาปกรณ์ ทองเกื้อ หรือหมอบอล อายุ 30 ปี แพทย์ประจำโรงพยาบาลลำปลายมาศ อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ ป่วยหนัก แต่ยังเห็นแก่คนไข้รักษาพยาบาลจนตัวเองเสียชีวิตนั้น ได้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง โดยส่วนหนึ่งเรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุขแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจังและเป็นรูปธรรมเสียที เนื่องจากที่ผ่านมาบุคลากรทางการแพทย์รับผลกระทบจากการปฏิบัติหน้าที่มากมาย ซึ่งด้าน นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)  ประกาศว่าขณะนี้อยู่ระหว่างร่างระเบียบช่วยเหลือและการเยียวยาบุคลากรทางการแพทย์แล้วนั้น

ล่าสุดเมื่อวันที่  23  พฤษภาคม  ที่โรงแรมมารวยการ์เด้นท์ กลุ่มบุคลากรสาธารณสุข ทั้งอดีตแพทย์ในกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) และอาจารย์ประจำโรงเรียนแพทย์ จัดงานแถลงข่าวเฉพาะกิจหาทางออกจากกรณี “หมอบอล ตายขณะรักษาผู้ป่วย… คนสธ.ต้องตาย เจ็บ ถูกทอดทิ้งในหน้าที่อีกกี่คน” โดยระหว่างการแถลงได้มีการยืนสงบนิ่ง1 นาที เพื่อไว้อาลัยให้แก่บุคลากรสาธารณสุขทุกคนที่ได้รับผลกระทบและเสียชีวิตจากการทำงาน

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา

โดย ศ.นพ.ธีระวัฒน์  เหมะจุฑา  อาจารย์สาขาประสาทวิทยา คณะแพทยศาสตร์  โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาขาดไทย  กล่าวว่า  ที่ตนต้องออกมาแสดงความคิดเห็น เนื่องจากอยู่ในแวดวงสาธารณสุขเช่นกัน เพราะจากงานที่ต้องศึกษาเรื่องเชื้อโรคสัตว์ป่า ซึ่งก็ต้องลงพื้นที่ไปยังชุมชน ไปยังโรงพยาบาล(รพ.)ต่างๆ เพื่อดูว่ามีเชื้อเล็ดลอดในรพ.ด้วยหรือไม่ ซึ่งหลังจากลงไปในโรงพยาบาลศูนย์(รพศ.) ซึ่งเป็นโรงพยาบาลระดับจังหวัดนั้น ก็พบปัญหามากมายที่สะสมมานานราว 16 ปี ตั้งแต่มีการปฏิรูประบบสาธารณสุข ที่เกิดเป็นสำนักต่างๆ ขึ้นทำหน้าที่ทำงานแทนกระทรวงสาธารณสุข

“อย่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  ที่เราเห็นมีการโฆษณาบุหรี่ เหล้า โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง  เบาหวาน ความดัน ไต เป็นต้น เพื่อลดอุบัติการณ์การเกิดโรค เรียกว่า  สสส.ทำงานแทนกรมอนามัย ได้รับงบประมาณจากภาษีบาป ในช่วง 13-14 ปี ได้งบกว่า 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งผลในการป้องกันโรคก็ไม่ได้สัมฤทธิ์ผล โรงงานยาสูบยังได้กำไรมากมาย ก็ทำให้เปอร์เซ็นต์ที่จัดแบ่งสสส. เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ซึ่งจริงๆการป้องกันโรคเราสามารถให้ชุมชนทำงานร่วมกันได้ อย่างที่ลงพื้นที่ต้องขอชื่นชมการทำงานของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) และพยาบาล   อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) พวกเขาทำงานด้วยใจ แต่ปัญหาคือ แม้จะมีองค์ความรู้ในการให้ข้อมูลส่งเสริมและป้องกันโรค หรือตรวจวินิจฉัยเบื้องต้น แต่ก็ไม่สามารถตรวจเชิงลึก และจ่ายยาเพื่อติดตามและยับยั้งโรคได้” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

Advertisement

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวอีกว่า จากปัญหาเหล่านี้สุดท้ายประชาชนก็ต้องไปรักษาที่โรงพยาบาลระดับจังหวัดกันหมด จึงไม่แปลกที่จะเห็นภาพความแออัด หมอ พยาบาล บุคลากรสาธารณสุขทำงานหนักกันมาก ปัญหาที่ผ่านมาส่วนหนึ่งผู้บริหารส่วนกลางไม่เคยทราบเรื่อง   เพราะเมื่อลงพื้นที่ตรวจสอบมาตรฐานก็ทำแบบรู้ล่วงหน้า   มีการรายงานตัวเลขผ่านสไลด์กรณีภาระงานแพทย์  อัตราการครองเตียงไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง  ดังนั้น ผู้บริหารต้องทราบเรื่องจริงและแก้ปัญหาให้ตรงจุด

“สธ.ไม่มีความสามารถในการอะไรได้ เพราะถูกครอบโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสำนักงาน ส. ทั้งหลาย พอมีการชี้แจงข้อเท็จจริงก็มีเครือข่ายออกมาปกป้องหาว่าพวกเราจะล้มบัตรทอง ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่ ” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา

ด้าน พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา กรรมการแพทยสภา   กล่าวว่า ปัจจุบันแพทย์ พยาบาล บุคลากรในโรงพยาบาลรัฐทำงานหนักกันมาก  เมื่อเทียบกับข้าราชการที่ทำงานปกติวันละ  8 ชั่วโมง หยุดเสาร์อาทิตย์ ตกเดือนหนึ่งทำงาน 20-22 วัน ส่วนบุคคลกรทางการแพทย์ทำงานเกิน 24 ชั่วโมง หลายคนควงเวรต้องทำงานมากกว่า 35-40 วัน แต่กระทรวงไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เพราะติดกับดักคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.)ไม่เพิ่มจำนวนข้าราชการ และติดกับดักไม่เพิ่มงบประมาณ เพราะงบฯ ทั้งหมดถูกส่งไปยังสปสช.  ที่ทำหน้าที่บริหารระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทอง  ซึ่งออกกฎเกณฑ์และแนวทางค่ารักษาต่างๆ ทำให้โรงพยาบาลได้รับเงินคืนเพียงร้อยละ 50-70 ของค่าใช้จ่ายจริง ทำให้โรงพยาบาลขาดทุน

Advertisement

พญ.เชิดชู กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังติดกับดักมาตรฐานทางการแพทย์ แพทย์ไม่มีทางเลือกในการรักษาที่เหมาะสมกับแต่ละคน ไข้ไม่ได้รับการรักษาตามความเหมาะสมของตัวเอง ถือเป็นการรักษาแบบเหมาโหล ที่สำคัญประชาชนก็ติดกับดัก ตรงเข้ารับบริการง่าย ใช้ยามากจนเกินไป เพราะมีสิทธิบัตรทองไม่ต้องเสียเงิน ป่วยเล็กน้อยก็เข้ารับการรักษา จนมีสมัยหนึ่งถึงขนาดขอยาแลกไข่ ดังนั้น นายกรัฐมนตรีต้องให้ความสนใจและปฏิรูประบบสาธารณสุข ไม่เช่นนั้นปัญหาแพทย์ทำงานหนัก และเสียชีวิตก็จะมีอีกเรื่อยๆ  ซึ่งส่วนหนึ่งที่ไม่สามารถปรับปรุงและวางระบบภายในรพ.ให้ดียิ่งขึ้น เพราะไม่มีงบประมาณ ประชาชนที่มีเงินก็ยอมไปใช้บริการรพ.เอกชน เห็นได้ว่ารพ.เอกชนเฟื่องฟูมาก ขณะที่คนไม่มีเงินก็ต้องจำยอมอยู่กับรพ.รัฐ

“เรื่องนี้น่าแปลกใจว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) และปลัดสธ.ไม่ออกมาสร้างขวัญและกำลังใจให้บุคลากรทางการแพทย์เลย การที่ปลัดสธ.ออกมาพูดถึงระเบียบช่วยเหลือเยียวยาต่างๆ นั้น ตอนนี้ก็ยังไม่เห็น และเบื้องต้นที่บอกว่าจะช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ที่เสียชีวิต 4 แสนบาท น้อยเกินไป ตรงนี้ต้องปรับแก้ และหากออกเป็นระเบียบจริงๆ ก็ต้องผลักดันให้เป็นกฎหมายบังคับใช้ ตั้งเป็นกองทุน ซึ่งทางเราเคยเสนอร่างพ.ร.บ.คุ้มครองบุคลากรสาธารณสุขที่ปฏิบัติหน้างาน โดยต้องมีกฎหมายมาคุ้มครอง หากได้รับผลกระทบจากต้องมีเงินทดแทน และต้องมีการเยียวยาอุปการะพ่อแม่ ลูก” พญ.เชิดชู กล่าว

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image