Media Ombudsman / โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

องค์กรวิชาชีพสื่อนำโดยสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติร่วมกันแถลงข่าวแนวทางการควบคุมกันเองล่าสุด โดยให้องค์กรสมาชิก โดยเฉพาะองค์กรประกอบการธุรกิจสื่อทุกแขนงจัดตั้งกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนภายในองค์กร หรือ Media Ombudsman ขึ้นเพื่อทำหน้าที่เป็นกลไกรับเรื่องราวร้องเรียนจากผู้ที่ถูกสื่อละเมิด หรือเห็นว่าสื่อทำผิดจริยธรรม นำมาพิจารณาและตัดสิน

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวถือเป็นความพยายามขององค์กรวิชาชีพสื่อที่จะพัฒนากลไกและกระบวนการควบคุมจรรยาบรรณสื่อด้วยกันเองขึ้นใหม่ เพื่อแสดงให้เห็นว่าสื่อมวลชนรับฟังเสียงเรียกร้องของผู้คน พร้อมที่จะปฏิรูปเพื่อเป็นหลักประกันให้กับผู้ที่ถูกละเมิดและสังคมโดยรวม

เป็นไปตามหลักการ ควบคุมตนเองก่อนการควบคุมกันเอง

ที่ผ่านมาสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติได้แก้ไขธรรมนูญของสภาเพื่อเปิดช่องให้องค์กรสมาชิกได้จัดตั้งคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนภายใน โดยโครงสร้าง องค์ประกอบมีที่มาทั้งจากสื่อมวลชนและผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก ในส่วนของสื่อมาจากเจ้าของ บรรณาธิการ และผู้ปฏิบัติงาน ผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก มาจากด้านกฎหมาย ด้านคุ้มครองผู้บริโภค นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน รวมกันไม่น้อยกว่า 3 คน และไม่เกิน 7 คน

Advertisement

โดยกำหนดกระบวนการร้องเรียน ผู้ร้องสามารถร้องได้ทั้งต่อสื่อมวลชนโดยตรง หรือร้องผ่านสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติก็ได้ โดยสภาจะส่งเรื่องไปยังสื่อมวลชนที่ถูกร้องให้พิจารณาสอบสวนข้อเท็จจริงและกำหนดมาตรการตัดสิน หากผู้ร้องไม่พอใจผลการตัดสินสามารถอุทธรณ์ต่อสภาการหนังสือพิมพ์ได้ เวลาการพิจารณาต้องเสร็จภายใน 30 วัน

แม้เป็นความตั้งใจที่จะแก้ไขจุดอ่อนของกระบวนการควบคุมกันเองของสื่อที่ผ่านมาก็ตาม ยังมีประเด็นน่าจะต้องสานเสวนากันต่อไปอีกเช่นเดิมว่า แนวทางใหม่จะเกิดสภาพบังคับองค์กรสื่อทุกแขนงให้ความร่วมมือ ปฏิบัติอย่างจริงจัง ด้วยมาตรฐานเดียวกันได้อย่างไร

หากเกิดการวางเฉย ไม่ยินยอมพร้อมใจ หรือสมัครใจที่จะทำ จะมีมาตรการใดกดดันให้ยอมรับและปฏิบัติในที่สุด ถ้าไม่มีการยกร่างกฎหมายขึ้นมา รองรับกลไกและกระบวนการดังกล่าว

กระนั้นก็ตาม ถึงมีกฎหมายรองรับ ถ้าสื่อยังคงไม่ทำตามอีก จะมีมาตรการกำกับอย่างไร

ทางออกขององค์กรวิชาชีพสื่อต่อประเด็นปัญหาการขาดสภาพบังคับนี้ หากสื่อยังเลือกแนวทางไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายเฉพาะออกมารองรับเพราะสุ่มเสี่ยงต่อการแทรกแซงจากภาครัฐ จึงมีหนทางคือ ใช้พลังทางสังคมมาหนุนช่วย โดยทำให้กระบวนการทั้งหมด เกิดความเปิดเผยโปร่งใส ตั้งแต่เริ่มแรก จนถึงขั้นตอนสุดท้าย

รายงานต่อสาธารณะว่า สื่อที่ถูกร้องเรียน ดำเนินการหรือเพิกเฉยอย่างไร แจ้งความคืบหน้าเป็นระยะในทุกขั้นตอน ให้สังคมได้รับรู้ประกอบการติดตาม

ใช้มาตรการประจานทางสังคมอย่างจริงจัง หนักหน่วง โดยองค์กรสื่อทุกแขนงต้องปฏิเสธแนวคิด ความเชื่อที่เคยมีมาว่าแมลงวันไม่ตอมกันเอง แต่จะปฏิบัติในทางตรงกันข้าม คือตอมกันเองอย่างเข้มข้น

ใครมีกรณีร้องเรียนเรื่องอะไรแม้จะยังไม่ตัดสินก็ตาม ต้องบอกกับสังคมทันทีว่าเกิดกรณีร้องเรียนใดขึ้นกับสื่อใด เรื่องที่ร้องเป็นความจริงหรือไม่ก็ตาม แต่การร้องเรียนเกิดขึ้นจริงแล้ว ก็ต้องรายงานให้สังคมรับรู้และติดตามว่าผลสุดท้ายแล้วเป็นอย่างไร เป็นบรรทัดฐานการปฏิบัติของสื่อเช่นเดียวกับที่กระทำต่อบุคคลสาธารณะที่ตกเป็นข่าว ถูกร้องเรียน ถูกกล่าวหากรณีต่างๆ

อาทิ การยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลด้วยข้อกล่าวหาต่างๆ มากมาย แม้ยังไม่มีการชี้แจง ทั้งในสภาและพิสูจน์ความจริงในพื้นที่ สื่อมวลชนก็ต้องรายงานสิ่งที่เกิดขึ้น (การกล่าวหา) ต่อสาธารณะ ตามบทบาทของสุนัขเฝ้าบ้าน

ทำนองเดียวกัน เมื่อเกิดกรณีกล่าวหาร้องเรียนต่อสื่อ สื่อจึงสมควรต้องปฏิบัติเพื่อกำกับควบคุมตัวเองและกันเอง ด้วยมาตรฐานเดียวกัน คือบอกกล่าวต่อสาธารณะ

จะอ้างว่าการบอกกล่าวเรื่องที่ถูกกล่าวหาทันที จะทำให้เกิดความเสียหาย คนเชื่อไปก่อนแล้วว่า ทำผิดจริงไม่ได้ เพราะยังมีผู้คนอีกมากมาย ไม่เชื่อว่าทำผิดจริง กรณีร้องเรียนเป็นเรื่องจริง เพราะเชื่อในการทำหน้าที่เพื่อส่วนรวมของสื่อมากกว่า

ถึงมีกลไก กระบวนการกำกับควบคุมกันเองขึ้นใหม่ สื่อมวลชนเองก็ยังคงดำรงสิทธิที่จะใช้สิทธิทางกฎหมาย ฟ้องร้องดำเนินคดีกับสื่อด้วยกันเอง เช่นเดียวกับผู้เสียหายที่ถูกสื่อละเมิด หากกลไกควบคุมกันเองตัดสินไม่เป็นที่พอใจ ก็ยังมีสิทธิฟ้องร้องดำเนินคดีต่อศาลได้

ฉะนั้น สื่อควรจะเริ่มตอมกันเองโดยรายงานต่อสังคมถึงความเป็นไปในการจัดตั้งกลไก กระบวนการควบคุมกันเองในรูปแบบของผู้ตรวจการภายในนี้ เสียตั้งแต่บัดนี้ มีเกิดขึ้นแล้วที่ไหนบ้าง องค์ประกอบเป็นใคร มีเรื่องร้องเรียนแล้วเท่าไหร่ เรื่องราวเป็นอย่างไร

สังคมจะได้รับรู้ว่าองค์กรสื่อใดบ้างยินยอม หรือไม่ยินยอมพร้อมใจร่วมมือปฏิบัติ และหาทางกำหนดมาตรการลงโทษทางสังคมต่อสื่อแขนงนั้นๆ อาทิ ไม่เปิดรับ ไม่ให้การสนับสนุน หรือเขียนแสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์ไปยังองค์กรวิชาชีพสื่อให้เผยแพร่ด้วยความกล้าหาญทางจริยธรรม ผิดเป็นผิด ถูกเป็นถูก

แม้กระทบต่อองค์กรต้นสังกัดของคณะผู้บริหารองค์กรวิชาชีพ คนใดคนหนึ่งก็ตาม ต้องยึดประโยชน์สาธารณะเป็นตัวตั้ง อย่างไรก็ตาม แนวทางการจัดตั้งคณะกรรมการรับเรื่องร้องเรียนภายในดังกล่าว ยังไม่ตอบโจทย์หลัก ประเด็นโครงสร้างสภาวิชาชีพสื่อ ตามกฎหมายที่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศส่งให้รัฐบาลไปพิจารณา ทั้งสองประเด็น

คือ ยังควรมีสภาวิชาชีพสื่อมวลชนอยู่อีกหรือไม่ และควรหรือไม่ควรมีกฎหมายเฉพาะรองรับ ซึ่งต้องติดตามท่าทีของรัฐบาลว่าจะออกมาอย่างไร หลังพบปะหารือผู้แทนองค์กรวิชาชีพสื่อแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image