วิษณุ แนะ ทุกกระทรวง หาคนรับผิดชอบรัฐธรรมนูญ ม.77

(แฟ้มภาพ)

 

เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม ที่สโมสรกองทัพบก นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดสัมมนา “แนวทางการดำเนินการตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย” จัดโดยสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี มีตัวแทนข้าราชการจากทุกกระทรวงเข้ารับฟัง

โดย นายวิษณุ กล่าวว่า มาตารา 77 อาจเป็นเรื่องใหม่ของรัฐธรรมนูญ แต่ก่อนหน้านี้ในแต่ละหน่วยงานมีการปฎิบัติเกี่ยวกับการรับฟังความคิดเห็นก่อนออกกฎหมายอยู่แล้ว แต่ไม่เป็นระบบ เมื่อมาอยู่ในรัฐธรรมนูญจะกลายเป็นระบบที่ทุกหน่วยงานต้องดำเนินการเช่นเดียวกัน และในมาตรา 77 วรรค 1 ที่กำหนดให้ประชาชนเข้าถึงกฎหมายต่างๆโดยสะดวก สามารถดูได้ในเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา และหน่วยงานต่างๆสามารถลงในเว็บไซต์ตัวเองได้ ส่วนวรรค 2 ที่ระบุให้รับฟังความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงไม่จำเป็นต้องรับฟังประชาชนทั้งประเทศ ไม่ได้ให้ทำประชาพิจารณ์ ประชามติ ซึ่งวิธีการทำได้ทั้งเชิญผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมสอบถาม ขึ้นเว็บไซต์ ในระยะเวลาที่เหมาะสมให้มีการตอบโต้กลับมา ตรงนี้ไม่จำเป็นต้องขึ้นร่าง พ.ร.บ. ที่เสร็จสิ้นแล้ว สามารถทำหลักการมาขึ้นเพื่อรับฟังก่อนได้ อีกทั้งการเสนอร่างกฎหมายให้รัฐบาลหลังจากนี้จำเป็นต้องมีเอกสารประกอบ 3 อย่างด้วยกัน คือ ความจำเป็นในการออกกฎหมายตามแบบฟอร์มของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี รายงานการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และบทวิเคราะห์ผลกระทบทุกด้าน ซึ่งเอกสารทั้งหมดนี้ต้องส่งให้ทุกขั้นตอนในการร่างกฎหมายทั้งกฤษฎีกา และคณะรัฐมนตรี(ครม.) สภา

นายวิษณุ กล่าวว่า ขณะที่วรรค 3 เป็นเรื่องเนื้อหาของกฎหมาย ซึ่ง พ.ร.บ.ทุกฉบับต้องตอบคำถามสำคัญ 5 ข้อให้ได้ คือ 1.ระบบกรรมการให้มีเท่าที่จำเป็นไม่เช่นนั้นจะล่าช้าและเปิดช่องให้ทุจริตเรียกเงินใต้โต๊ะได้ 2.ระบบอนุญาตให้มีเท่าที่จำเป็น เนื่องจากมีวิธีเขียนกฎหมายที่ไม่ต้องขออนุญาตแต่รัฐยังสามารถควบคุมได้ 3.ต้องกำหนดหลักเกณฑ์ในการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ให้ชัดเจน 4.กำหนดกรอบเวลาในการดำเนินการแต่ละขั้นตอน และ 5.พึงกำหนดโทษอาญาเท่าที่จำเป็น อย่างไรก็ตาม สำหรับการดำเนินการตามมาตรา 77 และแต่ละกระทรวงควรมีผู้รับผิดชอบ ให้เกิดความชัดเจน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image