เยี่ยมบ้าน ส.พลายน้อย 88 ปี วันนี้…สบายดี “สนุกกับการค้นพบสิ่งใหม่ๆ ในทะเลหนังสือ”

“ผมเพิ่งรู้ว่าทศกัณฐ์มีลิ้น 2 แฉก อ่านเจอในศึกรามายณะ บอกว่าได้จากต้นฉบับภาษาอังกฤษที่แปลมาจากฉบับวาลมิกิ ยังอยากจะหาต้นฉบับภาษาอังกฤษนั้น แต่ยังไม่เจอ….”

นัยน์ตาเป็นประกายทันทีเมื่อพูดถึงการสืบค้นข้อมูลไขข้อสงสัย และนำเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยมาเขียนเล่าให้ผู้อ่าน

สมบัติ พลายน้อย ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ.2553 เจ้าของนามปากกา ส.พลายน้อย ที่ไม่ว่าเด็กเล็กหรือผู้ใหญ่ย่อมต้องเคยอ่านผลงานเขียนมาแล้ว โดยเฉพาะคนที่ชอบอ่านสารคดีเกร็ดความรู้ ไม่ว่าจะเป็นเกร็ดพงศาวดาร นิทาน ประเพณี เรื่องผี ตำนานขนม ฯลฯ

…อารมณ์เหมือนนั่งฟังคุณตาเล่านิทานให้ฟัง

Advertisement

หลายๆ คนก็ได้อาศัยเรื่องเล่าของคุณตาไปเขียนการบ้านส่งครู ฯลฯ

แม้ว่าจะเป็นผลงานเดิมๆ ที่เคยตีพิมพ์ตั้งแต่เมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว วันนี้ยังคงได้รับการปรับปรุงบ้าง และตีพิมพ์ซ้ำใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า ด้วยสไตล์การเขียนที่อ่านเข้าใจง่าย และมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยน่าสนใจแทรกให้อ่าน อย่างที่ไม่มีหนังสือเล่มไหนให้ จึงมีแฟนคลับหน้าใหม่รุ่นหลานๆ เติมเข้ามาอยู่เรื่อยๆ

อย่าง “ขนมแม่เอ๊ย” ผลงานอีกเล่มที่ให้ความรู้เกี่ยวกับขนมชนิดต่างๆ รวมทั้งที่เป็นขนมในงานเทศกาลงานบุญ ที่อาจารย์สมบัติเล่าด้วยใบหน้ายิ้มละไมว่า ยังคงตีพิมพ์และขายดีอยู่ตลอด สามารถนำรายได้จากการตีพิมพ์มาเป็นค่าเทอมของหลานได้สบาย

Advertisement

ขณะเดียวกัน ยังคงมีงานเขียนสดที่ตีพิมพ์ใหม่ๆ เป็นประจำอย่างต่อเนื่องในหนังสือพิมพ์รายวันมติชน ทุกวันอาทิตย์ คอลัมน์จิปาถะ เรื่อง “หนุมาน : เทพแห่งสรรพวิทยา” ที่เขียนเล่นๆ จนกระทั่งปัจจุบันมาถึงตอนที่ 90 แล้ว

เก็บเกี่ยวสาระน่ารู้ ได้ความสนุกผ่านตัวอักษรของ ส.พลายน้อย มานาน “มติชน” จึงถือเอาวาระที่ 24 พฤษภาคม ปีนี้ อาจารย์สมบัติจะอายุครบ 88 ปี พาไปเยี่ยมบ้านในซอยสมเด็จเจ้าพระยา 4 ไปพูดคุยกันแบบสบายๆ ถามไถ่สารทุกข์สุกดิบ พร้อมกับ ออส่วน และห่อหมกปลาช่อน เมนูที่อาจารย์สมบัติบอกว่า…คิดถึง

โดยเฉพาะห่อหมกปลาช่อน ที่แค่เห็นห่อ เรื่องราวครั้งเก่าก็ย้อนกลับมาเป็นฉากๆ เรื่องราวเมื่อครั้งที่ยังอยู่ที่อยุธยา

“ห่อหมกปลาช่อนต้องอยุธยา แถวสถานีรถไฟในอำเภอเมือง ขายกันห่อละบาท ที่อยุธยาเมื่อก่อนปลาช่อนเยอะมาก ขายกันเป็นเข่งๆ พ่อค้าเวลาที่ได้ปลามาเยอะ แกรู้ว่าพ่อชอบปลาช่อน พอเจอพ่อจะให้พ่อเหมากลับบ้าน ต้องเกณฑ์คนมาทำปลาช่อนตากแห้ง เรียกว่า “ปลาริ้ว” คือบั้งเป็นริ้วๆ ถ้าตัวใหญ่หน่อยก็บั้งเป็น 5-6 ริ้ว

ได้มาเข่งหนึ่งร่วม 100 ตัวกินกันจนเบื่อ พุงปลาก็เอามาทำต้มยำ เหมือนกับตอนน้ำท่วมปี 2485 ปีนั้นกุ้งเยอะ ต้องต้มตากแดดทำกุ้งแห้ง น้ำที่ต้มกุ้งจะมีมันกุ้งลอยเป็นแพ ใช้คลุกข้าวกินกันจนเบื่อ…แต่พอขึ้นมากรุงเทพฯก็ไม่มีแล้ว”

อาจารย์สมบัติเล่าขณะที่เอร็ดอร่อยกับออส่วน

อิ่มแล้วไปอัพเดตเรื่องราวเรื่องเล่าทั้งอดีตและปัจจุบันกัน วันนี้คุณตา ส.พลายน้อย เป็นอย่างไรบ้าง…

 

‘อุตสาหกรรมทำมิกตี้ไพร้’ สารคดีเรื่องแรก

แม้ว่าจะนั่งจับเข่าคุยกับอาจารย์สมบัติมาก็หลายครั้ง แต่เรื่องราวของคนทั้งชีวิต ต่อให้นั่งเล่านั่งเขียนทุกบททุกตอนก็ยังไม่หมด โดยเฉพาะคนที่ความทรงจำยังแจ่มชัดราวกับเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน

ถามว่า ส.พลายน้อย เขียนหนังสือมามากน้อยแค่ไหน อาจารย์สมบัติที่วันนี้ 88 ปีเต็มแล้ว แม้จะให้ตัวเลขชัดเจนไม่ได้ แต่ถ้าพิจารณาจากตู้หนังสือในบ้านที่อาจารย์บอกว่าเพิ่งมาเก็บเป็นจริงเป็นจังในช่วงหลัง ที่เห็นอยู่เต็มตู้จึงเป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น

“ผมเขียนหนังสือตั้งแต่ยังเป็นนักเรียน ไม่ได้เขียนเป็นอาชีพ เขียนลงในนิตยสารโบว์แดงรายสัปดาห์ ได้เงิน 20 บาท ก็เลี้ยงเพื่อนหมด และมีเขียนเรื่องสั้นส่งหนังสือพิมพ์ไทยใหม่วันจันทร์ ไม่ได้สตางค์หรอก ได้หนังสือ 1 เล่ม เล่มที่ได้ตีพิมพ์

“มาเขียนเป็นบทความจริงจังที่ได้ค่าเรื่องในปี 2497 ลงในนิตยสารกระดึงทอง แต่…ก่อนหน้านี้ก็มีลงในนิตยสารชาวกรุง เขียนเป็นสารคดีเรื่องแรก ‘อุตสาหกรรมทำมิกตี้ไพร้’ (เห็นคนฟังทำหน้างง จึงเฉลยพร้อมกับหัวเราะเสียงดัง) คือไม้ตีพริก เมื่อก่อนที่อยุธยาทำไม้ตีพริกเยอะ”

 

เขียนภาษาง่าย ไม่ตามสมัย

“สำหรับการเลือกเรื่องมาเขียนนั้น จะหยิบเอาเรื่องที่เป็นสาระน่าสนใจ น่ารู้ สนุก จะดูว่าคนอ่านแล้วได้อะไร ก็จะมีคนอ่านส่วนหนึ่งชอบ เพราะอ่านแล้วได้รู้เรื่องอะไรหลายเรื่อง เพราะพอกล่าวถึงอะไรแล้วจะมีแทรกเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยตลอด ไม่ปล่อยให้ผ่านไป

“ฉะนั้น เรื่องเก่าๆ ที่เขียนมา 50-60 ปี ก็ยังเอามาเขียนได้อีก อาจจะเป็นเพราะว่าเรื่องเป็นสาระ และภาษายังใช้ได้ เพราะภาษาที่เขียนเมื่อ 50 ปีที่แล้วกับตอนนี้บางทีไม่ต่างกันเลย ผมไม่ตามสมัย ใช้ภาษาง่ายที่สุด ให้คนอ่านแล้วเข้าใจทันที บางคนบอกว่าภาษาง่ายเกินไปไม่ได้คิด (หัวเราะ) ผมก็เขียนเล่าเท่านั้น ถ้าเขียนยาก เขาก็จะไม่อ่านอีก”

เขียนทั้งเรื่องสั้นและสารคดี โดยการหยิบข้อมูลจะมี 2 ลักษณะ เขียนจากประสบการณ์ และจากเอกสารที่ค้นคว้า หรือบางทีก็ใช้ทั้งสองอย่าง

“ผมเป็นนักอ่านตั้งแต่ยังเป็นนักเรียน เข้าห้องสมุดมากที่สุด บางวันก็ไม่ได้กินข้าว ไปอยู่ที่ห้องสมุด-เป็นการประหยัดอย่างหนึ่ง (หัวเราะ) หรือบางทีก็ห่อข้าวไปกิน

“ถ้าห้องสมุดไม่มีหนังสือที่อยากได้ก็จะมาซื้อในกรุงเทพฯ ที่เวิ้งนาครเขษม สมัยก่อนเป็นตลาดใหญ่ ตั้งแต่เจริญกรุงไปจนถึงเยาวราชโน่น เจออะไรที่ชอบก็ซื้อ เป็นคนที่เห็นหนังสือสำคัญกว่าข้าว บางครั้งซื้อจนไม่มีเศษสตางค์จะขึ้นรถรางกลับบ้าน พอขึ้นรถราง คนเก็บสตางค์ก็ทำเป็นมองไม่เห็น ไม่ชอบเก็บสตางค์ แกเป็นคนขายหนังสือ เห็นหน้าผมบ่อย พอสะกิดจะจ่ายก็ทำเป็นไม่มอง” (หัวเราะ)

เสี้ยวเดียวของผลงาน ส.พลายน้อย

กลั่นกรอง ลำดับความคิดแล้วจึงเขียน

ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับคนที่เขียนสารคดีมาสารพัดเรื่องเป็นร้อยเล่ม เขียนมานานหลายสิบปีมีเขียนเรื่องซ้ำมั้ย?

“บางทีเผลอๆ จำไม่ได้ว่าเขียนหรือยัง (ยิ้ม) แต่ก็ส่วนน้อย จะเป็นเรื่องนิดๆ ที่เขียนแทรกเท่านั้น”

เรื่องเดิมพอเอามาเขียนใหม่ ความสนุกจะไม่เหมือนกัน ตอนเขียนให้ต่วย (ลุงต่วย-วาทิน ปิ่นเฉลียว) เอาต้นฉบับให้แล้วลืมทิ้งไว้บนรถ บอกให้เขียนใหม่ เขียนได้แต่หมดความสนุก ไม่มีความกระตือรือร้น

ถามว่าแล้วต้องสร้างอารมณ์ก่อนเขียน?

(หัวเราะ) ต้องกลั่นกรองก่อน นั่งนึกว่าจะเอาอะไรมาเขียน ลำดับเรื่องไปเรื่อยๆ แล้วจึงลงมือเขียน บางทีข้างนอกบ้านเขาตีกันเสียงดัง ผมไม่รู้เรื่องเลย นั่งเขียนหนังสืออยู่ตรงนี้ เมื่อก่อนคนแถวนี้ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าผมทำอาชีพอะไร คงสงสัยว่าวันๆ ไม่ออกไปไหน

บางเรื่องไม่คิดว่าจะทำได้ก็ทำได้ อย่างรายการภาษาไทย (ตอนทำรายการวิทยุศึกษา สถานีวิทยุของกระทรวงศึกษาธิการ) อาจารย์เกษม บุญศรี ประธานสภาราษฎรไทย 2 สมัย นั่นเปรียญ 9 ประโยค ไม่สบาย เลยโยนมาให้ผมเขียนให้ ผมก็ลองดู ใช้เวลากลางคืนกลับมาบ้านก็นั่งเขียน อาศัยประสบการณ์อ่านหนังสือมาเยอะ พอเขียนไปส่ง เขาบอกว่าดี โอ้..ก็เลยต้องทำแทน

เป็นบทวิทยุ 15 นาที เขียนอยู่เป็นปี ตอนหลังมารวมพิมพ์ลงในวารสาร แล้วรวมเป็น

พ็อกเก็ตบุ๊ก 400-500 หน้า ชื่อ “เกร็ดภาษาหนังสือ” คนกลับชอบอ่านจนถึงปัจจุบัน

 

ไดอารี่ ผู้ช่วยมือหนึ่ง

สำหรับคนใกล้ชิดจะทราบว่า เมื่อตอนน้ำท่วมใหญ่ 2554 คลองสานเป็นอีกย่านที่เฉียดฉิวจากการมาเยือนของน้องน้ำ

ภายในบ้านที่มากมายด้วยทะเลหนังสือของอาจารย์สมบัติ ได้กัลยาณมิตรเข้ามาช่วยแพคเก็บหนังสือสำคัญๆ ใส่ลังกระดาษกว่า 10 ลังย้ายไปอยู่ในที่ปลอดภัย

แน่นอนว่าการค้นหาหนังสือสักเล่มเพื่อใช้ประกอบในการเขียน…ไม่ง่าย

“ตู้ใส่หนังสือภาษาอังกฤษยังอยู่ ก็จะค้นจากตู้นี้ ที่สะสมมีทั้งหนังสือจีน ญี่ปุ่น อินเดีย และประเทศในเอเชีย อินโดนีเซีย เพราะประเทศต่างๆ ในเอเชียมีความสัมพันธ์กับอินเดีย แม้ว่าจะรับรามายณะมาจากอินเดีย แต่ก็เอาความคิดของเขาใส่เข้าไป ตอนนี้กำลังค้นว่านางสีดาไปอยู่ลังกาแต่งตัวอย่างไร ทางอินโดนีเซียว่าเอาใบหญ้ามาแต่งตัว ก็เข้าเค้า”

ผมอ่านหนังสือมาก เมื่อก่อนเชื่อความจำตัวเองมาก จำได้ว่าเรื่องนี้อยู่เล่มไหน เปิดไปไม่เคยผิด พอแก่แล้วไม่ค่อยเชื่อความจำตัวเองแล้ว บางครั้งเปิดหนังสือไม่เจอ เวลาที่ผมเจออะไรที่แปลก ที่น่าสนใจ ก็จะจดไว้ในไดอารี่ มีหลายเล่มมาก ทำให้ไม่ต้องค้นข้อมูลจากหนังสือเล่มจริง ยกเว้นพจนานุกรม

“ผมมีหนังสือประชุมพงศาวดาร 60-70 ภาค ที่ค่อยๆ ซื้อทีละเล่มจากสนามหลวง ใช้เวลาเก็บอยู่หลายปี วรรณคดีมีแทบทุกเรื่อง อ่านรู้บ้างไม่รู้บ้างก็ซื้อ ทั้งภาษาอังกฤษ ภาษาลาว

“ตอนนี้ที่ใช้มากจะเป็นพจนานุกรมสันสกฤต ใช้เขียนเรื่องหนุมาน แล้วยังมีพจนานุกรมภาษามลายู ภาษาอิตาเลียน ภาษาญี่ปุ่น ภาษาลาว ฯลฯ เพราะบางทีเราอ่านหนังสือของประเทศต่างๆ มีแทรกภาษาของเขา ถ้าเราไม่มีพจนานุกรมภาษาเขา เราก็ไม่รู้ความหมาย แล้วก็พยายามคบกับคนที่รู้ภาษาเหล่านี้ไว้ เวลาไม่

แน่ใจเรื่องการออกเสียงก็จะไปขอความรู้ ไดอารี่นี่ตอนหลังกระจัดกระจายหายไปหมดแล้ว”

พระไตรปิฎก อ.เปลื้อง ณ นคร มอบให้เมื่อวันแซยิด 60 ปี

เรียก’นักเขียน’มันจักจี้ใจ

ผมเป็นแค่’คนชอบเขียน’

เขียนทั้งเรื่องสั้น บทความ สารคดีมาสารพัดกว่าครึ่งชีวิต แต่เมื่อถามว่าเขียนหนังสือเป็นอาชีพได้มั้ย?

ส.พลายน้อย ตอบพร้อมกับรอยยิ้มบางๆ “ไม่ได้หรอก เพราะเขียนไม่ได้สตางค์ มาได้ตอนหลัง”

เมื่อก่อนบางเรื่อง อย่างเขียนบทละครวิทยุได้อย่างสูง 70-80 บาท ถ้าเขียนสารคดีให้บางเล่มได้ 50 บาท 100 บาท และไม่ใช่ว่าได้เงินทุกอาทิตย์ทุกเดือน เพราะเขียนตามใบสั่ง มันอยู่ไม่ได้

ทีแรกเห็นคนอื่นเขียนก็คิดว่าเราก็เขียนได้ เลยเขียนมาเล่นๆ ถ้าเป็นชิ้นเป็นอันจริงๆ ก็ตั้งแต่ปี 2500 เลยไม่ถือว่าเป็นอาชีพ

ผมไม่ยอมรับ ไม่อยากให้เรียกว่า “นักเขียน” มันจักจี้ใจ เพราะเราไม่มีชื่อเสียง รู้สึกว่ามันสูงส่ง เหมือนใช้คำว่า “นักประพันธ์” มีคนพิมพ์นามบัตรมาให้ใช้ว่านักเขียนอาวุโส ผมก็ไม่ใช้ ผมเป็นแค่ “คนชอบเขียน” แต่ตอนหลังเขาเรียกก็ตามใจ

 

ความคิดเหมือนต้นไม้ อ่านมาก ค้นมาก มันจะแตกไปเรื่อยๆ

แล้วมีเคล็ดลับในการฝึกเขียนงานให้ได้ดีอย่างไร?

สายตามองทอดไปไกลก่อนจะบอกว่า “มีนักปราชญ์คนหนึ่งบอกว่า ความอยากรู้ทำให้เกิดความรู้ คือต้องศึกษาค้นคว้า อ่าน พอมีความรู้ก็มีช่องทางเหมือนจุดเทียนระเบิดน้ำ แต่บางเรื่องเขียนโดยไม่รู้เลย แต่นึกสนุกรับปากก็มี เพราะมองเห็นทางว่าเขียนได้ อย่างเรื่องหนุมาน (ในมติชนวันอาทิตย์) ทีแรกไม่คิดว่าจะเขียนยาว แต่เขียนๆ ไปเกิดอยากรู้ พยายามศึกษาตามหาข้อมูลและความคิดก็แตกไปเรื่อยๆ”

หนังสือเกี่ยวกับหนุมานนี่ซื้อหมดเลย บางเล่มอยู่ดีๆ ก็ได้มา มีคนเอามาฝาก ส่วนพงศาวดารตอนหลังๆ วางมือเลย เพราะเราไปไหนไม่ได้ ไปดูสถานที่จริงไม่ได้ ค้นเอกสารไม่ไหว ก็ใช้เลือกเรื่องสนุกๆ มาเขียน อย่างพุทธประวัติกับหนุมาน ยิ่งค้นยิ่งสนุก และได้ความรู้มากเลย

ตอนนี้หันมาอ่านรามายณะเป็นหลัก มันมีแง่มุมน่าศึกษาเยอะ ผมเพิ่งรู้ว่าทศกัณฐ์มีลิ้น 2 แฉก อ่านเจอในศึกรามายณะ บอกว่าได้จากต้นฉบับภาษาอังกฤษที่แปลมาจากฉบับวาลมิกิ ยังอยากจะหาต้นฉบับภาษาอังกฤษนั้น แต่ยังไม่เจอ

ภาษาอังกฤษบางเล่มก็พูดถึงบางเรื่องไม่ละเอียด ถึงว่าต้องอ่านหลายๆ เล่มจึงจะเจอ ความสนุกอยู่ตรงนี้ เป็นความสนุกที่ได้เจอสิ่งที่เราคิดไม่ถึง รู้ละเอียดขึ้นอีกอย่าง

ปรากฏการณ์’ลอก’ขั้นเทพ

ส.พลายน้อย หรือจะพ้น

ต้องยอมรับว่าชื่อของ ส.พลายน้อย เป็นสิ่งการันตีได้ถึงคุณภาพและความถูกต้องของเนื้อหาที่เชื่อถือ ไม่แปลกที่จะมีหลายต่อหลายคนอ้างอิงข้อมูลจาก ส. พลายน้อย

แม้กระทั่งในสารานุกรมบางฉบับที่ว่ากันว่า ข้อมูลเรื่องผีกระสือ เนื้อหาทุกตัวอักษรเหมือนกับที่ ส.พลายน้อย เขียน

“(นิ่งสักพัก) เอ..นี่ผมเพิ่งรู้นะ ผมเขียนมานานแล้ว พิมพ์ครั้งแรก 30 กว่าปีแล้ว รวมเล่มอยู่ใน ‘ตำนานผีไทย’

“มีหลายเล่ม บางคนเอาเนื้อหาไปทั้งเล่ม เปลี่ยนแค่ชื่อคนเขียนใหม่ แล้วซื้อมาให้ผมด้วยสิ ‘นิทานฟิลิปปินส์’ ผมเขียนตั้งแต่ยังรับราชการ เขาคงนึกว่าผมตายไปแล้ว (หัวเราะ)

“บางเล่มผมเจอเขา เขายังบอกว่าเป็นคนแปล แต่คนคนเดียวแปลซ้ำยังไม่เหมือนกัน เราก็รู้ว่าเขาไม่มีรายได้ ก็ไม่ได้ว่าอะไร บอกกันหน่อย ไม่หนักหนาอะไร” บอกเหมือนไม่ได้ใส่ใจอะไรนัก

สำหรับวันคล้ายวันเกิดในปีนี้ อาจารย์สมบัติบอกว่า คงไม่มีอะไรเป็นพิเศษ

“ปีนี้อายุ 88 คนจีนบอกว่าเลข 8 ดี ผมเลยนึกเข้าข้างตัวเอง (หัวเราะ) เมื่อวันเกิด 7 รอบ (84 ปี) ตรงกับวันเกิดจริง ผมรู้สึกว่าความเลวร้าย (สุขภาพ) ก็เบาลง อาจจะเหมือนเกิดใหม่ คิดอะไรดีๆ เข้าข้างตัวเองไว้ มีคนบอกให้ทำบุญใหญ่ แต่ว่าอย่าฝืนตัวเองดีกว่า

“ปีนี้ว่าจะซื้อกับข้าวถุงนี่แหละใส่บาตรที่หน้าบ้านสัก 6 รูป”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image