‘มนุษย์-ท่องเที่ยว’ ม.กรุงเทพ ล่อง เดอะเวอร์ติเคิล ครูส สร้างประสบการณ์งานท่องเที่ยวเจ้าพระยา

ธุรกิจท่องเที่ยวไทยกำลังต้องการบุคลากรคุณภาพ ที่เรียนรู้การใช้ความคิดสร้างสรรค์มาเพิ่มมูลค่าให้การบริการ หลักสูตรการจัดการการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มีความโดดเด่นตรงที่การออกแบบการเรียนการสอน เน้นให้นักศึกษาได้ลงมือปฏิบัติจริงตั้งแต่เรียนปี 1 โดยมีเครือข่ายภาคธุรกิจท่องเที่ยวชั้นนำร่วมสนับสนุน เป็นการบ่มเพาะ และผลิตบุคลากรคุณภาพเข้าสู่อุตสาหกรรมภาคบริการและการท่องเที่ยว เพื่อเป็นกำลังสำคัญ และเป็นกลไกที่จะช่วยกันพัฒนาภาคการท่องเที่ยวของไทยให้เติบโตได้อย่างแข็งแรง

โครงการภาคปฏิบัติของหลักสูตร คณะมนุษยศาสตร์และการจัดการการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ล่าสุดได้ร่วมกับเรือดินเนอร์ล่องแม่น้ำเจ้าพระยา เดอะเวอร์ติเคิล ครูส ให้โอกาสนักศึกษาตั้งแต่ชั้นปี 1-4 ได้ลงมือ และมีประสบการณ์ทำงานด้านการท่องเที่ยวจริงๆ ทริปพิเศษนี้ชื่อว่า River Cruise of Time : รฦกกรุงเทพฯ – เรื่องเล่าสิบแผ่นดิน กับมหาวิทยาลัยกรุงเทพ สร้างสรรค์ความแปลกใหม่โดยนำการเล่าเรื่องมาเป็นไฮไลท์สร้างประสบการณ์ท่องเที่ยว

ดร.สุชาดา เจริญพันธุ์ศิริกุล คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และการจัดการการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวว่า การดำเนินงานในกิจกรรมครั้งนี้มากกว่า 80% เป็นฝีมือของนักศึกษา ตั้งแต่การคิดวางแผนงาน และการปฏิบัติงานทุกฝ่าย เริ่มจากการรับรองลูกค้า การต้อนรับบนเรือด้วยเครื่องดื่มพิเศษ การให้บริการบนเรือ การออกแบบกิจกรรมพิเศษสร้างบรรยากาศที่น่าประทับใจของงานดอกไม้ไทยตกแต่งสถานที่ การแสดงในภาคบันเทิงที่มีกลิ่นอายความเป็นไทย ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นความเป็นมืออาชีพของคนรุ่นใหม่ที่มีความเป็น นักสร้างสรรค์ และจิตวิญญาณผู้ประกอบการที่พร้อมก้าวสู่ธุรกิจภาคบริการ และการท่องเที่ยวอย่างมีคุณภาพ

Advertisement

“มนุษย์-ท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เรียนรอบด้านครบทุกมิติของธุรกิจท่องเที่ยว ได้ฝึกปฏิบัติจริงทุกด้าน มีทั้งการบริหารจัดการการท่องเที่ยว โรงแรม ธุรกิจสายการบิน และภาษาต่างประเทศ ซึ่งทุกคนต้องเรียนภาษาที่สามเพิ่มอย่างน้อยหนึ่งภาษานอกเหนือจากไทย และอังกฤษซึ่งใช้งานได้คล่องแคล่วอยู่แล้ว” คณบดีกล่าว

มาชมผลงานตั้งแต่วินาทีที่เรือเข้าเทียบท่า ณ ท่าเรือเอเชียทีค เพื่อรอรับนักท่องเที่ยว ปรากฏ Thai Greeting Dance รำต้อนรับที่บริเวณระเบียงเรือสร้างความตื่นตาตื่นใจให้ผู้คนที่ยืนรอเรืออยู่บนฝั่ง เมื่อจบการแสดง นักท่องเที่ยวลงเรือแล้วเดินขึ้นมาที่ชั้น 2 จะพบทีมนักศึกษากำลังประดิดประดอยงานมาลัยกระแตไต่ไม้ และมาลัยตุ้ม ซึ่งหาดูได้ยากแล้วในสมัยนี้ นำมามอบเป็นของที่ระลึกให้ทุกคนที่มาใช้บริการของเรือ เป็นการสร้างสรรค์บรรยากาศการต้อนรับแปลกใหม่ที่แม้แต่เจ้าของเรือเดอะเวอร์ติเคิล ครูส เองยังบอกว่าจะนำไอเดียการประดับตกแต่งเรือด้วยดอกไม้แบบไทยไปใช้ปรับปรุงบรรยากาศของเรือในโอกาสต่อไป

Advertisement

มาต่อกันที่ชั้นดาดฟ้า นักศึกษาเตรียมเครื่องดื่มต้อนรับได้น่าประทับใจ และในระหว่างการรับประทานดินเนอร์ นักท่องเที่ยวยังได้สัมผัสประสบการณ์อย่างใกล้ชิดกับการแสดงรำไทยร่วมสมัยในชุด เมขลา-รามสูร และการขับเสภา กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน บทพระราชนิพนธ์ของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 2 ซึ่งเนื้อหาบางส่วนเกี่ยวเนื่องกับเมนู อาหาร คาว-หวานที่บริการในทริปพิเศษนี้พร้อมด้วย เรื่องเล่า ภูมิวัฒนธรรมน่าสนใจของสถานที่สำคัญที่เรือแล่นผ่านตลอดสองฝั่งเจ้าพระยา

น.ส.กฤษณี พิริยวิทย์ เป็นหนึ่งในทีม เล่าเรื่อง บนเรือร่วมกับอาจารย์พิเศษ ม.ร.ว.ปิยฉัตร ฉัตรชัย พูดถึงการทำงานในโครงการนี้ว่า เป็นการทำงานที่สนุกมาก ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในหลายเรื่องในการร่วมกันวางแผนกับรุ่นพี่และอาจารย์ การเรียนในคณะฯ จะเน้นให้นักศึกษาเสนอความคิดและลงมือปฏิบัติ

ดร.สุชาดา ยังได้กล่าวย้ำว่า คุณสมบัติของบุคลากรในธุรกิจภาคการบริการ ต้องมีประกอบกัน 2 ส่วนคือ ความคิดสร้างสรรค์ และความเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งเจ้าของธุรกิจเรือ เดอะเวอร์ติเคิล ครูส คือ นายไมตรี บุณยสนธิกุล และ นายธรรมรัตน์ หน่องพงษ์ ทั้ง 2 คนเป็นศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ร่ำเรียนมาทางด้านการจัดการการท่องเที่ยว และใช้ความรู้ที่ได้จากมหาวิทยาลัยมาสร้างธุรกิจเรือดินเนอร์จนประสบความสำเร็จ ถือเป็นความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัย เพราะเป็นบทพิสูจน์ชัดเจนว่าสิ่งที่มหาวิทยาลัยบ่มเพาะ 2 คุณลักษณะสำคัญให้กับนักศึกษาทุกคน รวมทั้ง การเรียนรู้ที่เน้นการฝึกปฏิบัติ สามารถผลิตบุคลากรคุณภาพเข้าสู่อุตสาหกรรมภาคบริการ และการท่องเที่ยวได้อย่างมีคุณภาพ

น.ส.กฤษณี พิริยวิทย์ (โจ๊ก) สาขาวิชาการจัดการการท่องเที่ยว เล่าว่า “เรียนแบบลงมือทำตั้งแต่ปี 1 ได้ฝึกทุกอย่างที่เกี่ยวกับธุรกิจท่องเที่ยว เรียนในอาคารปฏิบัติงาน Tourism Tower และฝึกงานจริงกับธุรกิจซึ่งมหาวิทยาลัยมีเครือข่ายกว้างขวางมาก”

น.ส.ธนิจธรรม์ อุเอดะ (ลูกแก้ว) สาขาวิชาการจัดการการท่องเที่ยว กล่าวว่า “เรียนการท่องเที่ยวเท่ากับได้เปิดโลกทัศน์ของเราเอง ที่นี่สอนให้คิดสอนให้กล้าทำในสิ่งที่คิด อย่างการจัดทัวร์ทั้งในและต่างประเทศ ทางคณะมีบริษัทนำเที่ยว BU Travel ให้นักศึกษาทุกชั้นปีได้ปฏิบัติงานจริง”

น.ส.สุทธิดา แก้วสี (มิ้นท์) สาขาวิชาการจัดการการโรงแรม บอกว่า “ธุรกิจการบริการมีรายละเอียดให้ใส่ใจ ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์มาทำให้ทุกรายละเอียดของการบริการมีความแตกต่างเพื่อสร้างความประทับใจให้ลูกค้ามากที่สุด”

จบทริปสุดประทับใจเมื่อเรือกลับมาเทียบท่าเอเชียทีคอีกครั้ง หากไม่บอกไว้ก่อนว่าการจัดงานในวันนี้เป็นฝีมือของนักศึกษา นักท่องเที่ยวบนเรือต้องเชื่อว่าทั้งหมดเป็นบริการของมืออาชีพบนเรืออย่างแน่นอน!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image