สงครามดี-ชั่ว โดย ชุมฉันท์ ชำนิประศาสน์

เหตุวางระเบิดคอนเสิร์ตในแมนเชสเตอร์ อารีนา เมืองแมนเชสเตอร์ในอังกฤษ มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 22 ราย บาดเจ็บเกินครึ่งร้อย ถูกประณามจากผู้คนและรัฐบาลนานาประเทศทั่วโลก

ในที่นี้รวมถึงนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่ใช้คำประณามผู้ก่อเหตุว่า evil losers หมายถึง พวกขี้แพ้ชั่วร้าย

คำว่า evil หรือชั่วร้าย ที่ผู้นำชาติมหาอำนาจใช้ครั้งนี้ต่อเนื่องจากที่เพิ่งใช้กล่าวสุนทรพจน์ต่อผู้นำชาติมุสลิมระหว่างการเยือนราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย

ในประโยคที่ย้ำว่าการต่อสู้กับลัทธิสุดโต่งนั้นไม่ใช่การต่อสู้ระหว่างศรัทธาที่แตกต่างกัน แต่เป็นการต่อสู้ระหว่างความดีกับความชั่ว

Advertisement

เพื่อให้เข้าใจตรงกันว่าใครดีและใครชั่ว นายทรัมป์อธิบายไว้ว่า พวกวายร้ายก็คืออาชญากรป่าเถื่อนที่หาทางพรากชีวิตมนุษย์ ส่วนฝ่ายดีคือผู้คนที่น่านับถือของทุกศาสนาที่ต้องการปกป้องชีวิตมนุษย์

ถ้าโลกมีอะไรที่ดี-ชั่ว และขาว-ดำ ง่ายอย่างที่นายทรัมป์พูด สงครามก็น่าจะยุติได้เร็ว

แต่ปัญหาที่ทำให้สงครามและความขัดแย้งในโลกนี้ซับซ้อนมากก็คือจับต้นชนปลายไม่ถูกว่าใครที่พรากชีวิตใครก่อน

Advertisement

เนื่องจากในสงคราม คู่ขัดแย้งต่างก็เอาชีวิตกันและเหยื่อของทั้งสองฝ่ายต่างก็มีผู้บริสุทธิ์ มีชาวบ้านที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ และกลายเป็นเหยื่อจำนวนมากที่สุด

มีหลายครั้งที่เครื่องบินรบไฮเทคทิ้งระเบิดลงไปคร่าชีวิตเด็กๆ ในพื้นที่ความขัดแย้ง ดังนั้น ความเจ็บปวดนี้ก็น่าจะยากเกินบรรยาย

การแก้ไขปัญหาที่จะช่วยป้องกันผู้ก่อการร้ายเข้ามาล้างแค้นคนที่ไม่เกี่ยวข้องอะไรด้วยก็น่าจะเป็นการยุติสงครามในแต่ละแห่งให้ได้และต้องทำให้เร็ว

เรื่องที่น่าสะท้อนใจก็คือประเทศมหาอำนาจมีศักยภาพและเงินที่จะสร้างอาวุธทันสมัยมากมาย แต่กลับค้นหาตัวแทนกลุ่มขัดแย้งมาเจรจาสันติภาพไม่ได้

อุปสรรคใหญ่ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มรณรงค์สันติภาพก็คือ การซื้อขายอาวุธเป็นกิจการที่ทำรายได้มหาศาล

ตัวอย่างไม่นานมานี้ ในทริปที่นายทรัมป์เยือนซาอุดีอาระเบีย มีข้อตกลงซื้ออาวุธที่อู้ฟู่มาก คิดเป็นมูลค่า 110,000 ล้านดอลลาร์ หรือเกือบ 3.8 ล้านล้านบาท

เงินจำนวนสูงถึง 3.8 ล้านล้านนี้แน่นอนว่าต้องเสริมเขี้ยวเล็บให้กองทัพซาอุดีอาระเบียรับมือกับอิหร่าน ชาติอริในภูมิภาคอาหรับได้ แต่ก็อดคิดไม่ได้ว่า สงครามในเยเมน ซีเรีย และประเทศอื่นๆ ที่มีสองชาตินี้หนุนกองกำลังฝ่ายนิกายสุหนี่กับฝ่ายนิกายชีอะห์ต้องยืดเยื้อออกไปนานขนาดไหน

ระหว่างนี้ลัทธิสุดโต่งและความแค้นเคืองต่างๆ จะขยายวงออกไปมากเพียงใด

ตัวอย่างของความรุนแรงจากขัดแย้งในต่างประเทศมีให้เห็นอย่างนี้แล้วก็ชวนให้คิดถึงบ้านเรา โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดนใต้ที่เกิดความไม่สงบต่อเนื่องมายาวนานเกินสิบปี มีการทุ่มงบประมาณและสรรพกำลังลงไปไม่น้อย รวมทั้งมีเสียงประณามการก่อเหตุรุนแรงมานับไม่ถ้วน แต่ยังหาตัวแทนกลุ่มขัดแย้งมาเจรจาสันติไม่ได้ชัดเจน

ในกรุงเทพฯ เพิ่งเกิดเหตุระเบิดอย่างผิดปกติ แม้ว่าจะไม่ถึงขั้นเอาชีวิต แต่ก็ยังไม่รู้ว่าเป็นฝ่ายใด

ถ้าบอกได้แค่ว่าเป็นฝ่ายชั่วร้าย ก็น่าวิตกว่าเหตุแบบนี้จะยังไม่จบ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image