กรมจัดหางานถกปัญหาต่างด้าวแนวชายแดนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 25 พฤษภาคม นายวรานนท์ ปิติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน เป็นประธาน การประชุมสัมมนา เชิงปฏิบัติการ เพื่อระดมความคิดเห็นในการยกระดับการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อรับทราบปัญหา การจ้างแรงงานต่างด้าว ที่เข้าทำงานแบบไป-กลับ หรือตามฤดูกาล โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ ของกรมจัดหางาน ในพื้นที่ ภาคกลาง ทั้งหมดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กว่า 100 คน เข้าร่วมประชุม ที่โรงแรมสเตชั่นวัน อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว

นายธรรมศักดิ์ รัตนธัญญา รองผู้ว่าฯ สระแก้ว กล่าวว่า จ.สระแก้ว มีแนวชายแดนภูมิประเทศเป็นที่ราบ ไม่มีสิ่งกีดขวางตามธรรมชาติ ติดต่อกับประเทศกัมพูชา ระยะทางประมาณ 165 กิโลเมตร สามารถข้ามแดนได้โดยสะดวก ประกอบกับประเทศขาดแรงงานค่อนข้างสูง นายจ้างคนไทย และชาวต่างชาติที่มาลงทุนในประเทศไทย มีความต้องการจ้างแรงงานจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องมีแรงงานกัมพูชาเข้ามา ทำงานในพื้นที่ ในลักษณะมาเช้าเย็นกลับ หรือตามฤดูกาล สำหรับแรงงานต่างด้าว ชาวกัมพูชา ที่จะเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทย โดยผ่าน ที่จุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก อ.อรัญประเทศ และจุดผ่อนปรนการค้า 3 จุด ในส่วนของแรงงานต่างด้าว ที่ขอรับใบอนุญาตทำงาน มีจำนวนทั้งสิ้น 27,210 คน โดยเป็นกลุ่ม MOU จำนวน 264 คน กลุ่มผ่านการพิสูจน์สัญชาติ จำนวน 130 คน กลุ่มมาตรา 14 จำนวน 21,373 คน กลุ่ม มติ ครม. (บัตรชมพู) จำนวน 5,233 คน และกลุ่มอื่นๆ 210 คน

นายวรานนท์ ปิติวรรณ อธิบดีกรมจัดหางาน กล่าวว่า ในอดีตประเทศไทยมีการส่งออกแรงงานไปต่างประเทศ แต่ในปัจจุบันไทยขาดแคลนแรงงานมาก เนื่องจากแรงงานลดลงทุกปี และเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และในอีก 20 ปี ข้างหน้า ประเทศไทย จะมีผู้สูงอายุ ถึงร้อยละ 25 จึงต้องนำแรงงานเข้า ราว 2-3 ล้านคน โดยใช้แรงงานชาวพม่า ลาว และกัมพูชา สำหรับจังหวัดสระแก้ว จะใช้แรงงานภาคเกษตรเป็นส่วนใหญ่ ในช่วงฤดูเก็บผลผลิต ตามฤดูกาล เช่น แรงงานปลูกอ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด

“ตามมาตรา 14 คนต่างด้าวที่มีภูมิลำเนาและมีสัญชาติของประเทศที่มีชายแดนติดกับประเทศไทย ถ้าเข้ามาในประเทศไทยต้อง โดยมีเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง อาจได้รับอนุญาตให้ทำงานบางประเภท เป็นการชั่วคราว ในช่วงระยะเวลาหรือตามฤดูกาลที่กำหนด เฉพาะการทำงานในท้องที่ ที่ติดกับชายแดนหรือท้องที่ต่อเนื่อง เท่านั้น โดยให้คนต่างด้าว ยื่นคำขอใบอนุญาตทำงานชั่วคราวพร้อมแสดงเอกสาร ใช้แทนหนังสือเดินทางต่อนายทะเบียน และชำระค่าธรรมเนียม และการออกใบอนุญาต ต้องระบุท้องที่หรือสถานที่ทำงาน ระยะเวลาการำงาน ให้ชัดเจน และการจ้างแรงงาน ต้องคำนึงถึงความเหมาะสม และคำนึงถึงความมั่นคงของประเทศ และโอกาสในการประกอบอาชีพของคนไทย สำหรับกิจการที่นายจ้าง อาจใช้แรงงานต่างด้าว มีทั้งหมด 25 ประเภท เช่น ผู้รับใช้ในบ้าน การเกษตร ปศุสัตว์ ขนถ่ายสินค้า เป็นต้น” นายวรานนท์ กล่าว

Advertisement

ด้านนายมนตรี คำพล นายกสมาคมชาวไร่อ้อย จ.สระแก้ว กล่าวว่า ชาวไร่ ใน จ.สระแก้วต้องการแรงงานชาวกัมพูชาจำนวนมาก แต่ก็มีปัญหาอุปสรรคมากมายในการใช้แรงงาน การเปิดจุดนำเข้าแรงงานและสถานที่แสตมป์เข้า-ออกในราชอาณาจักร มีจำนวนน้อย ทำให้ไม่สะดวกและเพื่อให้การนำเข้าแรงงาน เกิดความสะดวกรวดเร็ว ทางสมาคมชาวไร่อ้อย ขอให้ทางราชการเปิดจุดแสตมป์เข้า- ออกมากขึ้น การแสตมป์หนังสือเข้าออก ควรขยายเวลาให้มากขึ้น เพราะ หากแสตมป์ทุก 7 วัน จะเกิดความยุ่งยาก ในการเดินทาง และเสียเวลาในการใช้แรงงาน ประกอบกับ การบรรทุกคนงานต่างด้าว มาแสตมป์ ที่ด่าน จะบรรทุกได้ไม่เกิน 6 คน จะเสียทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ทางสมาคมชาวไร่อ้อย จึงขอให้ทางกรมจัดหางานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยดำเนินการแก้ไข ทั้งนี้เพื่อให้การจ้างแรงงานที่มีประสิทธิภาพด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image