ล้มล้างทฤษฎี “ช้อนเงิน” พิสูจน์เห็ดพิษ หมอชี้ ใช้ไม่ได้ผล อย่าทำ!! ไม่เคยมีใครรับรองว่าได้ผลจริง

วันที่ 25 พฤษภาคม นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงฤดูฝนของแต่ละปีจะพบผู้ป่วยและเสียชีวิตจากการกินเห็ดพิษที่ขึ้นเองตามธรรมชาติเป็นประจำ โดยเฉพาะทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ประชาชนนิยมเก็บเห็ดป่าในธรรมชาติมากิน แต่เนื่องจากเห็ดป่านั้นมีทั้งเห็ดที่กินได้และเห็ดพิษ ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกัน อาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิดได้

“ข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ในปี 2559 ที่ผ่านมา มีรายงานผู้ป่วยจากการกินเห็ดพิษ 1,220 ราย เสียชีวิต 4 ราย โดยเฉพาะในช่วงหน้าฝน พบผู้ป่วยรวมกันมากถึง 1,010 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 83 ของผู้ป่วยทั้งหมด ส่วนกลุ่มอายุที่พบมากที่สุดคือ อายุ 65 ปีขึ้นไป รองลงมาคือ 55-64 ปี และ 45-54 ปี ตามลำดับ และภาคที่มีอัตราป่วยสูงสุดคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รองลงมาคือภาคเหนือ นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้ป่วยเกินครึ่ง อยู่ใน 2 จังหวัดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ อุบลราชธานีและศรีสะเกษ สำหรับในปี 2560 นี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 9 พฤษภาคม 2560 พบผู้ป่วยแล้ว 112 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค ล่าสุดในสัปดาห์นี้มีรายงานผู้ป่วยจากการกินเห็ดพิษใน 2 จังหวัด ได้แก่ แพร่ 9 ราย และบึงกาฬ 30 ราย”นพ.เจษฎา กล่าว

 

Advertisement

นพ.เจษฎา กล่าวว่า เห็ดที่เป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตส่วนใหญ่ คือ เห็ดระโงกพิษ บางแห่งเรียกว่าเห็ดระโงกหิน เห็ดระงาก หรือเห็ดไข่ตายซาก ซึ่งเห็ดชนิดนี้จัดอยู่ในกลุ่มเห็ดที่มีความคล้ายคลึงกับเห็ดระโงกขาวหรือไข่ห่านที่สามารถกินได้ แต่มีข้อแตกต่างที่สำคัญคือ เห็ดระโงกพิษ จะมีก้านสูง กลางดอกหมวกจะนูนเล็กน้อย มีกลิ่นเอียนและค่อนข้างแรง นอกจากนี้ยังมีเห็ดป่าชนิดที่มีพิษรุนแรงคือ เห็ดเมือกไครเหลือง โดยประชาชนมักสับสนกับเห็ดขิง ซึ่งชนิดที่เป็นพิษจะมีเมือกปกคลุมและมีสีดอกเข้มกว่า แต่ยากแก่การสังเกตด้วยตาเปล่า ส่วนเห็ดอีกชนิด คือ เห็ดหมวกจีน จะเป็นเห็ดที่คล้ายกับเห็ดโคนขนาดเล็ก

“ภูมิปัญญาชาวบ้านที่ใช้ทดสอบความเป็นพิษของเห็ด เช่น การจุ่มช้อนเงินลงไปในหม้อต้มเห็ด การนําไปต้มกับข้าวสาร เป็นต้น วิธีเหล่านี้ยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการอ้างอิงในการใช้ทดสอบพิษกับเห็ดกลุ่มนี้ได้ โดยเฉพาะเห็ดระโงกพิษที่มีสารที่ทนต่อความร้อน แม้จะปรุงให้สุกแล้ว เช่น ต้ม แกง ก็ไม่สามารถทำลายสารพิษนั้นได้ และ ให้หลีกเลี่ยงการเก็บเห็ดไข่ห่าน เห็ดโม่งโก้ง เห็ดระโงก หรือเห็ดระงาก ขณะที่ยังเป็นดอกอ่อนหรือดอกตูม ซึ่งมีลักษณะเป็นก้อนกลมรี คล้ายไข่ มารับประทาน เนื่องจากไม่สามารถทราบได้ว่าเป็นเห็ดมีพิษหรือไม่ เพราะลักษณะดอกตูมภายนอกจะเหมือนกัน หากไม่แน่ใจ ไม่รู้จัก หรือสงสัยว่าจะเป็นเห็ดพิษ ก็ไม่ควรเก็บหรือซื้อมาปรุงอาหาร รวมถึงหลีกเลี่ยงการกินเห็ดพร้อมกับดื่มสุรา เพราะฤทธิ์จากแอลกอฮอล์จะทำให้พิษเห็ดแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว และทำให้อาการรุนแรงขึ้นด้วย”อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image