เงินทะลักเข้าบาท เปิด34.18บ./ดอลล์ แข็งค่ามากสุดตั้งแต่ปี58

อัตราการเปลี่ยนแปลงของสกุลเงินต่าง ๆ เทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ตั้งแต่ต้นปี 2560-ปัจจุบัน

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทวันที่ 26 พฤษภาคม 2560 เปิดที่ระดับ 34.18 บาท แข็งค่าจากปิดตลาดวันก่อนที่ระดับ 34.22 บาท ถือเป็นระดับที่แข็งค่าที่สุดของปีนี้ และแข็งค่ามากที่สุดนับตั้งแต่ กลางเดือนกรกฎาคม ปี 2558 โดยเป็นผลจากเงินดอลลาร์ยังคงอ่อนตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับสกุลเงินเอเชีย ประเด็นหลักคือตลาดค่อนข้างผิดหวังกับเนื้อหารายงานการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ยังไม่มีความชัดเจนในการขึ้นดอกเบี้ยในเดือนมิถุนายน ส่งผลให้ทั้งดอลลาร์สหรัฐและอัตราผลตอบแทนพันบัตรสหรัฐไม่สามารถปรับตัวขึ้นกลับมาได้ และมีเงินลงทุนไหลเข้าฝั่งเอเชียทั้งในตลาดญี่ปุ่น และตลาดเกิดใหม่อย่างเห็นได้ชัด

สำหรับค่าเงินบาทได้รับแรงหนุนจากเงินทุนไหลเข้า บวกกับแนวโน้มที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เริ่มมีเหตุผลมากขึ้นและยอมรับว่าเงินบาทที่แข็งค่าสอดคล้องกับภูมิภาค ส่งผลให้นักลงทุนกลับมาเปรียบเทียบการแข็งค่าของเงินบาทกับสกุลเงินภูมิภาค และกลับเข้าลงทุนในหุ้นและพันธบัตรไทยอีกครั้ง

นายจิติพล กล่าวว่า ช่วงที่เหลือของปี มองว่าค่าเงินบาทมีโอกาสแข็งค่าต่อได้เล็กน้อย จากภาพรวมการค้าระหว่างประเทศที่ฟื้นตัว และเศรษฐกิจที่ค่อนข้างดีขึ้นขณะที่ปัจจัยที่ควรระวัง คือแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในเดือนมิถุนายน ถ้าเฟดสามารถ “ขึ้นดอกเบี้ย” ได้ 0.25% ตามที่ตลาดคาด ก็มีโอกาสที่ค่าเงินดอลลาร์จะหยุดอ่อนค่าและปรับตัวขึ้นมาบ้าง แต่ถ้าไม่สามารถขึ้นดอกเบี้ยได้ในครั้งนี้ อาจเห็นค่าเงินดอลลาร์ที่ปรับตัวลงรุนแรงและเงินบาทจะแข็งค่าต่ำกว่าระดับ 34.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ ช่วงปลายปี 2560 มองระดับค่าเงินบาทปัจจุบันถือว่าไม่ได้แข็งค่ามากเมื่อเทียบกับสกุลเงินภูมิภาค อัตราแลกเปลี่ยนระดับปัจจุบัน ถือว่าค่อนข้างเหมาะสม และเชื่อว่าเงินบาทจะไม่อ่อนค่ากลับเกินระดับ 35 บาทได้ในปีนี้ โดยตั้งแต่ต้นปี ค่าเงินบาทแข็งค่า 4.77% ริงกิต มาเลเซียแข็งค่า 4.84% เยน ญี่ปุ่น แข็งค่า 4.67% ดอลลาร์สิงคโปร์ แข็งค่า 4.39% ขณะที่ วอน เกาหลีใต้ แข็งค่ากว่า 7.79% และดอลลาร์ไต้หวัน แข็งค่า 7.24%

Advertisement

นายจิติพล กล่าวว่า มองกรอบค่าเงินระหว่างวันที่ระดับ 34.15-34.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ปลายไตรมาส 2 คาดว่าจะอยู่ 34.10 บาท หรือกรอบ 33.70 – 34.70 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ปลายไตรมาส 3 คาดว่าจะอยู่ 34.50 บาท มองกรอบไตรมาส 33.05 – 35.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image