สุจิตต์ วงษ์เทศ : ประวัติศาสตร์กระแสหลัก ปฏิปักษ์ไทยแลนด์ 4.0

ผมเพิ่งอ่านหนังสือชื่อ อโยธยาศรีรามเทพนครบวรทวารวดี เล่ม 1, 2 วินัย พงศ์ศรีเพียร บรรณาธิการ โครงการวิจัยอิสระประวัติศาสตร์ไทย พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2559

[ด้วยความกรุณาจากฝ่ายสื่อสารสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ขอขอบพระคุณอย่างสูง เพราะถ้าไม่เมตตาส่งให้อ่าน ผมก็ไม่มีวาสนาได้อ่านหนังสือดีๆ อย่างนี้]

ในชุดนี้มี พรรณนาภูมิสถานพระนครศรีอยุธยา เอกสารจากหอหลวง ซึ่งชาวกรุงเก่าได้บันทึกไว้ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น (วินัย พงศ์ศรีเพียร เล่ม 2 หน้า 51) เป็นเอกสารสำคัญมากๆ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์สังคมวัฒนธรรมยุคอยุธยา ที่ประวัติศาสตร์ไทยไม่ให้ความสนใจมาก่อน

ที่พิมพ์ (ซ้ำอีก) ไว้ในเล่มนี้ ยิ่งดีมากขึ้นที่จัดย่อหน้าอ่านง่าย และมีเชิงอรรถอธิบายคำยากๆ กับขยายความให้คนอ่านยุคนี้เข้าใจ (นี่ว่าเฉพาะที่ดีๆ ส่วนไม่ดียังไม่ว่า)

Advertisement

ปัญหาอยู่ที่ถ้าอยากได้จะไปซื้อหาที่ไหน? อย่างไร? เพราะไม่มีราคาขาย และไม่บอกว่ามีขาย

วรรณศิลป์, ดุริยศิลป์

อโยธยาฯ ชุดนี้ มีเนื้อหาสาระสำคัญเป็นไปตามประวัติศาสตร์กระแสหลัก ที่ผมมีคำถามมากมายหลายเรื่อง แต่ยังไม่ถามตอนนี้ทั้งหมด ขอเลือกถามเฉพาะบทเกี่ยวกับวรรณศิลป์ฯ และดุริยศิลป์ฯ (ในเล่ม 2)

Advertisement

กำสรวลสมุทร งานค้นคว้าของ พ. ณ ประมวลมารค (ม.จ. จันทร์จิรายุ รัชนี) รวบรวมหลักฐานรอบด้าน มีเหตุผลแข็งแรงอย่างยิ่งว่าเป็นพระราชนิพนธ์ในพระบรมราชาที่ 3 (โอรสบรมไตรฯ) แต่ถูกมองข้ามไปจากทางการ แม้ในเล่มนี้ก็ไม่เอ่ยถึง ซึ่งไม่น่าประหลาด

เห่เรือ ไม่เคยพบหลักฐานว่ายุคอยุธยามีเห่เรือเมื่อพระเจ้าแผ่นดินเสด็จทางชลมารค ส่วนที่ว่ากันมามีอย่างโน้นอย่างนี้ล้วนสันนิษฐาน (แปลว่า เดา) แล้วคัดลอกตกทอดกันสืบมาอย่างไม่ตรวจสอบ

ดนตรีชาวบ้าน ถูกครอบงำจากครูดนตรีไทยให้เชื่อต่อๆ มาว่า “ชาวบ้านมีดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน” (เล่ม 2 หน้า 292) โดยไม่เคยพบหลักฐานสนับสนุน

ควรทำความเข้าใจในเรื่องนี้ใหม่ว่าชีวิตประจำวันจริงๆของชาวบ้าน ไม่มีดนตรี มีแต่เหงื่อไหลไคลย้อยเพราะทำมาหากินตลอดวันตั้งแต่ตื่นจนหลับ

ดนตรีมีเฉพาะพิธีกรรมสำคัญๆ เป็นเครื่องประโคมให้รู้ว่ามีงานบุญที่ชาวบ้านทั่วไปได้ยินเสียงดังๆ แต่ไมได้ฟัง เพราะฟังไม่รู้เรื่อง

ปัญหาของกระแสหลัก

วรรณกรรมและการแสดงยุคอยุธยา เช่น ดนตรี, นาฏศิลป์โขนละครฟ้อนรำ ฯลฯ ที่เชื่อถือสืบกันมาเป็นตำรากระแสหลักหลายชั่วคน ล้วนมีพื้นฐานวัฒนธรรมหลวงของรัฐจารีตลุ่มน้ำเจ้าพระยา ภาคกลาง เท่านั้น ไม่มีวัฒนธรรมราษฎร์ และไม่มีลุ่มน้ำอื่นที่เกี่ยวดองในยุคอยุธยา เช่น นครศรีธรรมราช, นครราชสีมา ฯลฯ

สกว. ควรสนับสนุนให้วิจัยจริงจังเรื่องเหล่านี้ โดยไม่ไหลตกในหลุมดำอำมหิตของกระแสหลักอย่างเดียว แล้วยกเป็นมาตรฐานอย่างมัดมือชก ทั้งๆ เห็นชัดๆ ว่ากระแสหลักอย่างนี้มีปัญหามาก ขัดขวางเส้นทางสู่ไทยแลนด์ 4.0

อยุธยา มาจากทวารวดี และสุวรรณภูมิ

อยุธยา เป็นมรดกตกทอดตั้งแต่ยุคแรกๆ จากดินแดนสุวรรณภูมิ ซึ่งมีบรรดาบ้านเมืองที่มีมาก่อน ทั้งใกล้และไกล เช่น รัฐทวารวดี จึงได้นาม “กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา” มีชื่อ “ทวารวดี” แทรกอยู่ในนามทางการ แสดงว่าเป็นเชื้อสายสืบเนื่องมา

ทั้งเสมือนก้นแอ่งรองรับอารยธรรมที่อยู่รอบๆ ซึ่งผ่านกาลเวลายาวนานมากนักหนา แล้วตกผลึกไหลรวมกันที่อยุธยา

ความเป็นไทย คนอยุธยา ย่อมประกอบด้วยชาติพันธุ์ต่างๆ ร้อยพ่อพันแม่ ที่สืบสายตระกูลจากบ้านเมืองยุคก่อนๆ แล้วสมมุติชื่อเรียกต่อมาว่า ไทย, คนไทย

ศิลปวัฒนธรรมอยุธยา ย่อมผสมปนเปจากที่ต่างๆ หลายหลากมากแหล่ง ต่อมาได้สมมุติเรียกสมัยหลังว่าวัฒนธรรมอยุธยา แล้วสมัยหลังจนปัจจุบันถูกเหมาเป็นของไทย

สยาม-ละโว้ รวมเป็นอยุธยา บ้านเมืองทั้งหลายที่มีมาก่อน ถ้าดูภาพรวมๆ แล้วแยกเป็นสายแหรกหลักมี 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มสยามจากฟากตะวันตกแม่น้ำเจ้าพระยา ที่สืบทอดจากเมืองอู่ทอง (สุวรรณภูมิ) ผสมกับกลุ่มเคลื่อนย้ายลงมาจากลุ่มน้ำโขง และกลุ่มละโว้จากฟากตะวันออกแม่น้ำเจ้าพระยา เกี่ยวดองกับรัฐรอบๆ โตนเลสาบ กัมพูชา

ตำนานล้านนาระบุว่าพระเจ้าแผ่นดินอยุธยามีเชื้อวงศ์เป็นลาวปนเขมร เข้ากันได้ดีกับประชากรพูดสำเนียงลาว มีราชาศัพท์เป็นภาษาเขมร

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image