‘สาธารณสุข’อลเวง ปม’พยาบาล’จบ ‘7 วิชาชีพ’โผล่

ปัญหาการบรรจุตำแหน่งข้าราชการของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เหมือนจะจบแต่ไม่จบ!

เพราะหลังจากกรณีพยาบาลลูกจ้างชั่วคราว กระทรวงสาธารณสุข ลุกฮือ ไม่พอใจมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ก่อนหน้านี้ไม่อนุมัติตำแหน่งข้าราชการกว่าหมื่นอัตราให้พยาบาล จนต้องออกมาเรียกร้องและประกาศจะลาออกกลายเป็นข่าวครึกโครม โดยให้เหตุผลว่า พยาบาลมีภาระงานล้น ทำงานแทบไม่ได้พักผ่อน ขณะที่ค่าตอบแทน ขวัญกำลังใจกลับไม่สอดคล้องกับภาระงาน
ในที่สุด สธ.และรัฐบาลเห็นความสำคัญ กระทั่ง ครม.มีมติเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมา เห็นชอบแนวทางการแก้ปัญหาบรรจุพยาบาลวิชาชีพเป็นข้าราชการทั้งหมด 10,992 อัตรา แบ่งการบรรจุเป็น 3 ปี ตั้งแต่ปี 2560-2562

เหมือนทุกอย่างจบลงด้วยดี แต่ปรากฏว่า ชมรม 7 วิชาชีพทางการแพทย์ ประกอบด้วย นักเทคนิคการแพทย์ นักกายภาพบำบัด นักรังสีการแพทย์ นักเวชศาสตร์สื่อความหมาย นักกิจกรรมบำบัด นักเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอก และนักจิตวิทยาคลินิก ออกมาเรียกร้องและย้ำว่า ไม่ใช่เพราะพยาบาลได้ตำแหน่ง จึงอยากได้บ้าง แต่เป็นเพราะมีการเรียกร้องเช่นกัน เพียงแต่จำนวนอาจน้อยนิด จึงไม่ค่อยได้รับความสนใจ

Advertisement

โดยนายสมคิด เพื่อนรัมย์ นักกายภาพบำบัด ในฐานะประธานชมรมกายภาพบำบัดชุมชนแห่งประเทศไทย บอกว่า เข้าใจและเห็นใจพยาบาลที่มีภาระงานมาก คนไข้มาก แต่ที่พวกตนมาขอความเห็นใจทางกระทรวงก็เพื่อให้เห็นว่ายังมีวิชาชีพอื่นๆ อีกเช่นกัน อย่างนักกายภาพบำบัด อัตราที่ควรจะมีและเพียงพอสำหรับประเทศควรเป็น 5,500 คน ปัจจุบันมีนักกายภาพเพียง 2,772 คนทั่วประเทศ และในกระทรวงมีเพียง 1,445 คนที่ได้บรรจุเป็นข้าราชการ

แต่ที่น่าตกใจ คือ ยังมีนักกายภาพบำบัดเป็นลูกจ้างรายวันอยู่ 51 คนทั่วประเทศ ได้วันละ 500 กว่าบาท ตรงนี้เป็นปัญหามาก จึงอยากขอความเห็นใจกระทรวงสาธารณสุข ล่าสุดยังไปยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีผ่านศูนย์ดำรงธรรม ที่ทำเนียบรัฐบาลด้วย

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาตามความจำเป็นที่นักวิชาชีพ 7 สาขาให้เหตุผลต้องเป็นข้าราชการ อาทิ 1.การลาออกบ่อยของนักวิชาชีพจากความไม่มั่นคงของการจ้างงาน เพราะยังเป็นลูกจ้างชั่วคราว บ้างก็จ้างรายวัน ส่งผลให้ประชาชนผู้รับบริการไม่ได้รับบริการต่อเนื่อง 2.นักวิชาชีพไม่สามารถดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับระเบียบ เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างชั่วคราว และอยู่ในโรงพยาบาลชุมชน ซึ่งจะทำให้เป็นอุปสรรค อาทิ การดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับกฎระเบียบ เช่น การจัดซื้อจัดจ้าง เป็นต้น

Advertisement

3.มีการใช้บุคลากรที่มีคุณสมบัติไม่ตรงกับงานมาปฏิบัติงานแทนในสถานบริการบางแห่ง เพราะอัตราการลาออกสูงของนักวิชาชีพที่เป็นลูกจ้างชั่วคราว เกิดผลกระทบกับคุณภาพบริการ และอาจเกิดผลเสียหายกับผู้ป่วยได้ 4.โครงการต่างๆ ของกระทรวงสาธารณสุขเกี่ยวกับการจัดการโรคเรื้อรัง โรคอันตราย และการดูแลผู้สูงอายุ จะต้องมีนักวิชาชีพเหล่านี้เข้าไปดูแลถึงชุมชน แต่เมื่อคนน้อยลง ไม่มีแรงจูงใจในการสร้างขวัญและกำลังใจย่อมมีผลต่อการบริการประชาชนได้

ล่าสุด นพ.โสภณ เมฆธน ปลัด สธ.ย้ำชัดว่า ทุกวิชาชีพมีการพิจารณาตำแหน่งบรรจุตามสัดส่วนที่เหมาะสมอยู่แล้ว แต่ขณะเดียวกันก็ต้องหารูปแบบการจ้างงานอื่นๆ ที่เหมาะสมด้วย ซึ่งแน่นอนว่า แม้ 7 วิชาชีพระบุว่ายังเหลือต้องบรรจุข้าราชการอีกราว 3,000 คน แต่เบื้องต้นปีนี้จากการจัดสรรจะได้อยู่ประมาณ 308 ตำแหน่ง ส่วนที่เหลือต้องค่อยๆ ทยอยบรรจุ หรือหารูปแบบอื่นที่มีค่าตอบแทนและสวัสดิการที่ใกล้เคียงกับข้าราชการ

จึงเป็นอีกปัญหาท้าทายของผู้บริหาร สธ. แต่ใช่ว่าเรื่องการบรรจุพยาบาลจะจบสิ้นเสียทีเดียว เนื่องจากยังมีเรื่องการจัดสรรตำแหน่ง หลังจากได้อัตรามาแล้ว โดย น.ส.รุ่งทิวา พนมแก ประธานเครือข่ายพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราว สธ. กล่าวว่า ทางเครือข่ายอยู่ระหว่างการประชุมเพื่อกำหนดเกณฑ์การจัดสรรตำแหน่งของพยาบาลอย่างเป็นธรรม และจะขอเสนอต่อผู้บริหาร สธ.ต่อไป ส่วนกรณีสหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทยมีข้อเสนอว่า จริงๆ การบรรจุตำแหน่งพยาบาลนั้นไม่ควรแยก 3 ปี แต่ควรรวมปีเดียว แม้พวกตนจะเห็นด้วย แต่ในเมื่อมีข้อจำกัดและรัฐบาลมีความเห็นใจในระดับนี้แล้ว ก็ถือเป็นเรื่องดี ซึ่งก็ต้องเข้าใจรัฐบาลด้วย

นางมัลลิกา ลุนจักร ประธานสหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า ปัญหาพยาบาลนอกจากเรื่องการบรรจุตำแหน่งแล้ว ยังมีเรื่องอื่นๆ อย่างความเหลื่อมล้ำเพดานเงินเดือน โดยที่ผ่านมาสหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทยได้เข้าร่วมในนามเครือข่ายข้าราชการพลเรือนไทยเพื่อเรียกร้องให้คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) แก้ไขปัญหาเพดานเงินเดือนเหลื่อมล้ำระหว่างข้าราชการพลเรือนแท่งวิชาการและแท่งทั่วไป โดยข้าราชการพลเรือนแท่งวิชาการเป็นตำแหน่งที่ ก.พ.กำหนดว่าต้องมีวุฒิการศึกษาระดับปริญญา แต่มีเพดานเงินเดือนต่ำกว่าแท่งทั่วไป เป็นตำแหน่งที่ ก.พ.ไม่ได้กำหนดว่าต้องมีวุฒิการศึกษาระดับปริญญา กลายเป็นว่าคนจบปริญญาได้รับเงินน้อยกว่า ยิ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำเพดานเงินเดือนมากขึ้นกว่าเดิม ซ้ำเติมข้าราชการพลเรือนแท่งวิชาการ สหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทยจึงยื่นฟ้องศาลปกครองกลางเพื่อแก้ไขปัญหาเพดานเงินเดือนเหลื่อมล้ำ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2559 ซึ่งขณะนี้ก็ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาคดี

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องอื่นๆ อีก ซึ่งที่ผ่านมาทางสหภาพได้ยื่นข้อเรียกร้องให้แก่รัฐมนตรีว่าการ สธ.และปลัด สธ.ไปแล้ว รวมมี 5 ประเด็น คือ 1.พยาบาลทุกคนได้บรรจุเป็นข้าราชการ 2.มีค่าตอบแทนเป็นธรรม 3.มีความก้าวหน้าในวิชาชีพในเรื่องการทำชำนาญการพิเศษ เนื่องจากที่ผ่านมาใน 100 คน มีพยาบาลทำได้แค่ 3 คน เพราะระบบไปกำหนดการทำชำนาญการพิเศษได้แค่ซี 7 ซึ่งขึ้นกว่านี้ไม่ได้ 4.เรื่องสวัสดิการ หรือการช่วยเหลือเยียวยาในวิชาชีพทุกวิชาชีพ โดยเฉพาะพยาบาล มีความเสี่ยงจากการปฏิบัติหน้าที่ อาทิ พยาบาลไปกับรถฉุกเฉินรับผู้ป่วยข้ามชาติสิทธิประกันสังคม แต่เกิดอุบัติเหตุ เสียชีวิต ปรากฏว่าญาติของแรงงานข้ามชาติได้รับสิทธิสวัสดิการในการช่วยเหลือผ่านกองทุนเงินทดแทน ซึ่งจ่ายให้แรงงานข้ามชาติ 70% ของเงินเดือน โดยจ่ายเป็นสิบๆ ปี แต่พยาบาลที่เสียชีวิตไม่ได้รับอะไรเลย แม้ขณะนี้ สธ.กำลังจัดทำระเบียบอยู่ ก็ต้องมาพิจารณาว่าเงินช่วยเหลือเพียงพอหรือไม่ ซึ่งขณะนี้ยังไม่เห็นข้อมูลตรงนี้ และ 5.น่าจะมีปรับโครงสร้างให้พยาบาลเป็นผู้บริหารทุกระดับ อย่างมีกรมการแพทย์ แต่ไม่มีกรมพยาบาล ทั้งๆ ที่พยาบาลมีจำนวนมาก หากมีกรมปัญหาบรรจุก็อาจไม่เกิดขึ้นด้วยซ้ำเพราะจะทำให้พวกเรามีสิทธิมีเสียงในการพูดได้

ส่วนข้อเสนอที่ว่า กระทรวงสาธารณสุขควรแยกตัวออกจาก ก.พ.หรือไม่นั้น นางมัลลิกากล่าวว่า หาก ก.พ.ยังจำกัดตำแหน่งเช่นนี้ ก็ควรปล่อยให้กระทรวงแยกตัวออกมาดีกว่า จริงๆ พวกตนก็หวั่นๆ ตรงเงินเดือนไปผูกอยู่ในกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แบบนี้มีความเสี่ยง จริงๆ ต้องแยกออกมาต่างหาก โดยแยกส่วนเงินเดือนออกมาให้กระทรวงดูแลดีกว่า แต่ทางเครือข่ายพยาบาลวิชาชีพฯ โดย น.ส.รุ่งทิวาไม่คิดเช่นนั้น เพราะอย่างไรเสียการได้บรรจุเป็นข้าราชการคือสิ่งที่ต้องการและสร้างขวัญและกำลังใจมากกว่า

เป็นอีกเรื่องที่ผู้บริหาร สธ.คงต้องแก้ปัญหาอย่างถี่ถ้วน เพราะปมปัญหาเก่าหมดไป ปัญหาใหม่ก็ตามมา…

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image