‘กรธ.’ส่งกม.คดีอาญาการเมืองฯให้สนช. 29 พ.ค. เคาะศาลไต่สวนลับหลัง ดัดหลังพวกหนีคดี

แฟ้มภาพ

เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 29 พฤษภาคมนี้ กรธ. เตรียมส่งร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาต่อเป็นฉบับที่ 3 โดยสาระสำคัญของร่างกฏหมายประกอบด้วย 1.กำหนดให้วิธีพิจารณาของศาลใช้แบบระบบไต่สวนในการค้นหาความจริงในคดี โดยไม่ปิดกั้นการใช้ดุลยพินิจของผู้พิพากษาในคดีที่จะเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องกับผู้ถูกกล่าวหามาให้ข้อมูล แม้จะเป็นบุคคลที่ฝ่ายผู้ฟ้องหรือจำเลยไม่แจ้งให้ศาลตรวจสอบเพิ่มเติม นอกจากนั้นยังกำหนดให้ศาลสามารถแสวงหาข้อเท็จจริง ด้วยการตั้งผู้พิพากษาเพื่อค้นหาพยานหลักฐานได้อย่างเต็มที่เพื่อแก้ปัญหากรณีที่ผู้พิพากษาอาจถูกมองว่าเสาะแสวงหาข้อเท็จจริงอย่างไม่เป็นกลาง 2.การพิจารณาคดี โดยปกติเมื่อมีผู้ฟ้องและศาลลงประทับรับฟ้องแล้ว ต้องตั้งองคณะผู้พิพากษาจากที่ประชุมใหญ่ของศาลฏีกา โดยเลือกจำนวน 9 คน แต่กรณีที่พบว่าไม่ครบจำนวนดังกล่าวนั้น ร่างกฏหมายฉบับของกรธ. ได้ปรับให้สามารถดำเนินการได้ แต่ต้องมีองคณะไม่ต่ำกว่า 7 คน จากเดิมที่ต้องคัดเลือกใหม่และยืนยันต้องครบ 9 คน ทั้งนี้การพิจารณาคดีต้องยึดสำนวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นหลัก แต่ไม่ปิดกั้นที่ผู้พิพากษาจะหาข้อมูล ข้อเท็จจริงเพิ่มเติม

นายอุดม กล่าวต่อว่า 3.สิทธิในการต่อสู้ของผู้ถูกกล่าวหา ยังเป็นไปตามที่กฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้องในคดีบัญญัติไว้ นอกจากนั้นยังให้สิทธิผู้ถูกกล่าวหาคัดสำนวนฟ้อง และรายละเอียดของสำนวนการไต่สวน ของ ป.ป.ช. และรับรู้ข้อเท็จจริงได้ จากเดิมที่จะรับรู้เฉพาะคำฟ้องเท่านั้น สำหรับสิทธิอุทธรณ์ของผู้ต้องคำพิพากษานั้น ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กำหนดให้อุทธรณ์ได้ทั้งกรณีมีข้อเท็จจริงใหม่และข้อกฎหมาย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นสิทธิในการอุทธรณ์ จะไม่มีผลต่อคดีที่ศาลมีคำพิพากษาแล้วเสร็จและเกินระยะเวลาอุทธรณ์ 30 วันหลังจากที่ศาลมีคำพิพากษาไปแล้ว หากเป็นคดีที่ค้างอยู่ในชั้นศาลสามารถนำมาปรับใช้กับกฎหมายใหม่นี้ได้ และ 4.ประเด็นการนำตัวผู้ถูกกล่าวหามาขึ้นศาลเพื่อดำเนินกระบวนการพิจารณาคดี ตามร่างที่กรธ.เตรียมเสนอ สนช.นั้น ได้ปรับให้ ในขั้นตอนการยื่นฟ้อง และการพิจารณาคดีของศาล หากได้แสดงหลักฐานแล้วว่าไม่สามารถนำผู้ที่ถูกฟ้องมาแสดงตัวต่อศาลได้ ด้วยเหตุต่างๆ เช่น หลบหนี ให้การพิจารณาคดีของศาลสามารถเดินหน้าได้ แต่ไม่ได้ตัดสิทธิผู้ถูกฟ้องแต่งตั้งทนายเพื่อต่อสู้คดี ขณะที่ในชั้นอุทธรณ์กำหนดไว้ชัดเจนว่า การจะอุทธรณ์คำพิพากษาได้นั้น ผู้ที่ต้องคำพิพากษาต้องมาปรากฎตัว เพื่อขอต่อสู้คดี รวมถึงเมื่อปรากฎตัวแล้วยังสามารถขอรื้อฟื้นคดีได้

“กรณีไม่มีตัวจำเลยมาแสดงต่อศาล เพื่อรับฟังขั้นตอนและสิทธิในการต่อสู้ เหมือนที่เคยกำหนดเป็นสิทธิไว้ ผมมองว่าอาจเป็นประเด็นที่ในชั้น สนช.อาจมีข้อถกเถียง ในกรณีที่ขัดต่อหลักยุติธรรมของสากลหรือไม่ แต่สิ่งที่กรธ.เขียนนั้นสามารถชี้แจงและอธิบายได้ว่า ต้องเขียนเพื่อให้เป็นการแก้ปัญหาให้บ้านเมืองกรณีคดีที่ผ่านมาที่พบว่านักการเมืองจะหนีคดีและไม่สามารถตามตัวมาลงโทษได้ ดังนั้นต้องแก้ไขเพื่อให้ศาลได้ตัดสิน ใน 2 ส่วน คือ ส่วนที่ผิดหรือถูก และส่วนกรณีที่ผิด จะลงโทษอย่างไร ขณะที่มุมมองอีกฝ่ายอาจมองว่า ผิดแล้ว แต่นำตัวมารับโทษไม่ได้ก็สูญเปล่านั้น ผมมองว่าต้องขึ้นอยู่กับระบบติดตามและจับตัวมาลงโทษด้วย อย่างไรก็ดีประเด็นนี้หากมีผู้เสียประโยชน์ อาจนำไปสู่การขึ้นความให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความได้เช่นกัน ต่อให้ไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไรต้องขึ้นอยู่กับกระบวนการที่เกี่ยวข้องด้วย ทั้งการตรากฎหมายที่ สนช.ต้องช่วยพิจารณา” นายอุดม กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image