คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส: เมื่อเด็กตกเป็นเป้า “ก่อการร้าย”

ทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์ก่อการร้าย เจ้าหน้าที่ต่อต้านการก่อการร้ายมักเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ วิธีการใหม่ ยุทธวิธีใหม่ ที่ผู้ก่อการร้ายนำมาใช้ เก็บสะสมไว้เป็นบทเรียนเพื่อหาหนทางป้องกันให้เหตุการณ์ทำนองเดียวกันเกิดขึ้นน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ในอนาคต

นี่เป็นความเป็นจริงที่เจ็บปวด แต่เป็นธรรมชาติที่แท้จริงของการสู้รบปรบมือกับการก่อการร้ายที่ผู้ลงมือมักก้าวนำผู้ทำหน้าที่ป้องกันและปราบปรามได้ก้าวหนึ่งเสมอมา

เหตุก่อการร้ายด้วยระเบิดหลังการแสดงคอนเสิร์ตของ อารีอานา กรานเด ที่แมนเชสเตอร์ อารีนา ก็สะท้อนถึงแนวโน้มใหม่ของการก่อการร้าย โดยกลุ่มก่อการร้ายที่ได้ชื่อว่ามีอิทธิพลมากที่สุดในเวลานี้อย่าง กองกำลังรัฐอิสลาม (ไอเอส หรือ ไอซิส)

และเช่นเดียวกัน เป็นแนวโน้มใหม่ที่ทั้งเจ็บปวดและน่าเศร้าใจอย่างยิ่ง

Advertisement

 

 

เหตุการณ์ที่มองดูผิวเผินแล้วดูเหมือนจะเป็นการลงมือก่อการร้ายในรูปแบบที่ผู้เชี่ยวชาญเรียกว่า “โลนวูลฟ์” คือปฏิบัติการแบบฉายเดี่ยวของคนร้ายที่ได้รับแรงกระตุ้นจากขบวนการที่อยู่ห่างไกลออกไป

Advertisement

แต่ในสายตาของผู้เชี่ยวชาญต่อต้านการก่อการร้าย มองออกตั้งแต่ต้นมือว่า การลงมือครั้งนี้ละเอียด ถี่ถ้วน และมีสมรรถนะสูงเกินกว่าที่จะเป็นการคิด และลงมือทำเพียงลำพังได้

ในทางตรงกันข้าม ความคืบหน้าในการสอบสวนยิ่งมายิ่งสะท้อนให้เห็นถึงปฏิบัติการที่เป็นเครือข่าย และอาจไม่ใช่เครือข่ายขนาดเล็กอีกด้วย

ระเบิดที่ใช้ในเหตุการณ์ที่แมนเชสเตอร์ มีอานุภาพรุนแรงกว่าและมุ่งเอาชีวิตมากกว่า เมื่อเทียบกับระเบิดที่ผู้ก่อการร้าย “โลนวูล์ฟ” เคยทำขึ้นมาใช้งาน ระเบิดที่ได้ชื่อว่าเนี้ยบที่สุดที่ผู้ก่อการร้ายฉายเดี่ยวเคยทำขึ้นมาใช้คือระเบิดที่ใช้ในเหตุก่อการร้ายในเมืองเชลซี ในรัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกาก่อนหน้านี้

แต่เทียบกันแล้วยังไม่มีอานุภาพเท่าที่ใช้ในเหตุการณ์ที่แมนเชสเตอร์ด้วยซ้ำไป

มือระเบิดที่เชลซี ใช้วิธีการหย่อนระเบิดไว้ในถังเหล็กรวมขยะ (ดัมพ์สเตอร์) ที่ทอนอานุภาพระเบิดลงไปเยอะมาก และไม่มีผู้เสียชีวิตในเหตุดังกล่าว ตรงกันข้ามกับคนร้ายที่แมนเชสเตอร์ ซึ่งสวมเสื้อคาดระเบิดไว้กับตัวและตั้งใจจุดชนวนในจุดที่ยืนอยู่ซึ่งเลือกสรรแล้วว่าจะก่อให้เกิดการตายได้สูงสุด

นั่นหมายถึงการสำรวจลู่ทาง สถานที่ที่จะลงมือก่อนหน้าปฏิบัติการจริง นักต่อต้านการก่อการร้ายบางคนตั้งข้อสังเกตว่า มือระเบิดเลือกจุดลงมือให้อยู่บนเส้นทางระหว่างทางออกจากอารีนาเพื่อไปยังรถไฟ และเลือกจังหวะเวลาลงมือในตอนที่มีจำนวนผู้คนหนาแน่นที่สุด

ผู้เชี่ยวชาญด้านต่อต้านการก่อการร้ายอเมริกันรายหนึ่งชี้ว่า ใครก็ตามที่ทำหน้าที่สอดแนม สำรวจพื้นที่ลงมือล่วงหน้า คือผู้ทำหน้าที่กำหนดจุดและเลือกเวลาในการลงมือให้มือระเบิด ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการเฝ้ามอง เก็บรายละเอียดต่างๆอยู่นานไม่น้อย ก่อนที่จะมีการลงมือจริงๆ

ประเด็นสำคัญที่สุดก็คือวิธีการที่คนร้ายเลือกใช้นั้นป้องกันได้ยากมากจริงๆ

ในกรณีของเหตุระเบิดที่เชลซี สุนัขตำรวจอาจสามารถใช้ดมกลิ่นและตรวจหาตำแหน่งวัตถุระเบิดได้ แต่ในกรณีของแมนเชสเตอร์ เจ้าหน้าที่ต้องโชคดีมากๆ ถึงจะรู้ได้ว่า คนที่เพิ่งออกจากรถและใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีเดินเข้าไปกดระเบิดตูมนั้นคือมือระเบิด และต่อให้สถานที่เป้าหมายเต็มไปด้วยทหาร-ตำรวจ ก็ไม่ได้เป็นเครื่องยับยั้งชั่งใจให้กับคนร้ายในทำนองนี้แต่อย่างใด

มือระเบิดแมนเชสเตอร์แสดงให้เห็นว่า ระบบการสกรีนอาวุธเมื่อเข้าไปในพื้นที่นั้นใช้ไม่ได้ผล เมื่อผู้ก่อการร้ายเลือกที่จะลงมือขณะที่ผู้คนกำลังหลั่งไหลกันออกมาจากพื้นที่คุ้มกันนั้น

งานข่าวกรองเท่านั้นที่อาจป้องกันเหตุในทำนองนี้ได้ ถ้ามีเบาะแสและเจ้าหน้าที่เชื่อถือหรือให้ความสำคัญกับเบาะแสเหล่านั้น

 

 

ข้อบ่งชี้ทั้งหมดที่แสดงให้เห็นว่าการก่อการร้ายครั้งนี้มีเครือข่ายและขบวนการอยู่เบื้องหลังนำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า ขบวนการก่อการร้ายสำคัญของโลกอย่างไอเอส มีส่วนเกี่ยวข้องใกล้ชิดมากกว่าการเป็นเพียงแค่ “แรงบันดาลใจ” ปกติทั่วไป ซึ่งได้รับการยืนยันในเวลาต่อมา จากการออกมาอ้างความรับผิดชอบ “อย่างเป็นทางการ” รวมไปถึงความเชื่อมโยงระหว่าง ซัลมาน อเบดี กับกลุ่มไอเอสในลิเบียจากเบาะแสที่พบว่ามือระเบิดฆ่าตัวตายครั้งนี้เดินทางไปยังลิเบียไม่นานก่อนปฏิบัติการ

เช่นเดียวกับการกวาดจับคนใกล้ชิดและผู้ต้องหาอื่นๆที่เป็นเครือข่ายสนับสนุนในอังกฤษ

ข้อเท็จจริงเหล่านั้นไม่เพียงสะท้อนให้เห็นถึงเครือข่ายขนาดใหญ่ไม่น้อยในอังกฤษเท่านั้น แต่ยังแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงยุทธวิธีของไอเอสในยามนี้ที่ “ไม่จำกัดเป้าหมาย” ในการลงมืออีกต่อไปแล้ว
หาก ป็อปคอนเสิร์ต ที่มีผู้ชมหนาแน่น โดยที่ส่วนใหญ่ในหมู่ผู้ชมราว 21,000 คนนั้นเป็นวัยรุ่นหรืออายุต่ำกว่าวัยรุ่น ยังตกเป็นเป้าปฏิบัติการ สถานที่อื่นๆก็ไม่ต้องคำนึงถึงอีกต่อไป

ข้อเท็จจริงทั้งหมดนั้นยังแสดงให้เห็นด้วยว่า เด็กหญิงวัย 8 ขวบ น่ารัก สดใส ไร้เดียงสาอย่าง แซฟฟี โรส รุสซอส ไม่ได้เสียชีวิตเพราะอยู่ผิดที่ ผิดเวลา

แต่ตกเป็นเป้าหมาย เป้าหมายที่ต้อง “กำจัด” โดยเจตนาของขบวนการก่อการร้ายอย่าง ไอเอส

แซฟฟี โรส เป็น 1 ใน 22 คนที่เสียชีวิตในเหตุอำมหิตครั้งนี้ ในจุดที่ลงมือซึ่งได้รับการคัดเลือกมาอย่างดี ด้วยจังหวะเวลาลงมือที่พิเคราะห์แล้วเห็นว่าน่าจะก่อให้เกิดการสูญเสียชีวิตได้มากที่สุด

ในบรรดาผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากระเบิดที่แมนเชสเตอร์กว่า 60 ราย ยังมีเด็กๆ อยู่ด้วยมากถึง 12 คนอีกต่างหาก
12 ชั่วโมงหลังเกิดเหตุ ไอเอส ออกแถลงการณ์ที่เป็นทางการออกมา อ้างว่า มือระเบิดฆ่าตัวตายที่สังเวยชีวิตไปพร้อมกับเหยื่อได้ลงมือโจมตีต่อ “คอนเสิร์ตไร้ยางอาย” เพื่อเป็นการ “ตอบโต้” ต่อสิ่งที่ไอเอสถือว่าเป็น “การล่วงละเมิด” ต่อความเป็นมุสลิมทั้งมวล

เหล่าผู้สนับสนุนต่อแนวทางอำมหิตนี้ที่มีชีวิตอยู่แบบไร้ตัวตนบนโลกโซเชียลมีเดียในแวดวงจำกัดของตนเอง พากันเฉลิมฉลองให้เลือดและน้ำตาที่หลั่งใหลเยี่ยงผู้ที่มีปมซาดิสม์ฝังลึกอยู่ในใจ

ในที่สุดพวกเขาก็บรรลุความสำเร็จในการลงมือต่อเป้าหมายอย่างที่เรียกร้องซ้ำซากกันมานาน การลงมือสังหารไม่เลือกหน้า

ไม่ว่าใครก็ได้ ฆ่าได้ทุกๆคน ไม่เว้นแม้แต่เด็กๆ

 

 

การเรียกร้องให้สังหาร “ผู้ที่ไม่ใช่มุสลิม” โดยเฉพาะในตะวันตก “ในทุกๆที่ที่พบ” เป็นส่วนหนึ่งของการโฆษณาชวนเชื่อของไอเอสมาเนิ่นนานเต็มที ไอเอส เรียกคนเหล่านี้ว่า “คัฟฟาร์” หรือ “ผู้ไม่ศรัทธา” ต่อแนวทางสุดโต่งของพวกตน ไอเอสที่อ้างตัวแบบผิดๆว่าเป็น “นักรบศักดิ์สิทธิ์” ของศาสนาชาวตูนีเซียอย่างผู้ที่ใช้ชื่อว่า “อาบู มูคาทิล” เคยให้สัมภาษณ์ “ดาบิค” นิตยสารของขบวนการเอาไว้ว่า

“…อย่าจำกัดตัวเองด้วยการมองหาเป้าหมายเฉพาะ ฆ่าใครก็ได้ ผู้ไร้ศรัทธาทั้งหมดที่นั่นล้วนเป็นเป้าหมายได้ทั้งสิ้น”

อาบู มูฮัมเหม็ด อัล-อัดนานี คนที่ถูกยกให้เป็น “โฆษก” ของไอเอส เคยกล่าวสุนทรพจน์เน้นย้ำเรื่องนี้ต่อบรรดา “โลนวูล์ฟ” ทั้งหลายเอาไว้ เมื่อเดือนกันยายน ปี 2014 ว่า

“ที่ดีที่สุดที่พวกคุณสามารถทำได้ก็คืออุสาหะให้ดีที่สุดเพื่อสังหารบรรดาคัฟฟาร์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นฝรั่งเศส, อเมริกัน หรือชาติไหนก็ตามที่เป็นพันธมิตร”

อย่างไรก็ตาม ในช่วงปีเศษที่ผ่านมาการโฆษณาชวนเชื่อของไอเอส เริ่มแสดงให้เห็นธาตุแท้อำมหิต เลือดเย็น ไร้เหตุผลมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ นิตยสารรายเดือนของขบวนการไอเอสชื่อ “รูมิเยาะห์” ซึ่งตีพิมพ์ในภาษาต่างๆรวม 10 ภาษา และได้ชื่อว่าเป็นเสมือน “คู่มือ” ในการก่อการร้ายสำหรับผู้ที่หลงใหลในแนวทางของไอเอสทุกคน เริ่มเผยแพร่ข้อความที่กำหนดให้ใช้ “เด็กๆ” เป็นเป้าหมายในการก่อการร้าย

ในนิตยสารฉบับแรกที่เผยแพร่เมื่อ 5 กันยายน 2016 ตีพิมพ์บทความที่ข้อความอ้างว่า “การหลั่งเลือดของบรรดาคัฟฟาร์” ถือเป็น “ฮาลาล” (ไม่ผิดกฏ) และย้ำไว้ว่า

“นี่รวมถึง (การสังหาร) นักธุรกิจที่กำลังนั่งเท็กซีไปทำงาน เด็กๆที่กำลังสนุกอยู่กับกิจกรรมกีฬาในสวนสาธารณะ หรือ คนชรา ที่เข้าคิวรอซื้อแซนด์วิช”

ในบทความของ รูมิเยาะห์ ฉบับที่ 5 เผยแพร่เมื่อ 6 มกราคม 2017 มีบทความชื่อ “คอลแลทเทอรัล คาร์นาจ” (ผลข้างเคียงของการนองเลือด) อ้างเอาไว้ว่า “เราไม่ควรเศร้าโศกเสียใจต่อการตายที่เป็นผลข้างเคียง(จากการสังหาร)ของผู้หญิงและเด็กๆผู้ไร้ศรัทธา” และอ้างไว้หน้าตาเฉยว่า ถ้าเด็กๆ ปะปนอยู่กับเหล่าผู้ชายทั้งหลาย “การฆ่าหรือทำให้พวกเขาบาดเจ็บ” ก็ “ไม่ใช่ความผิด” แต่อย่างใด

แต่ทัศนะที่ถือว่า “เป็นทางการ” ที่สุดที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องนี้ ปรากฏอยู่ในรูปของ “แถลงการณ์” ของไอเอส เมื่อวันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมานี่เอง เมื่อไอเอสอ้างความรับผิดชอบในการโจมตีโบสถ์คริสต์ด้วยระเบิด 2 ครั้งซ้อนในอียิปต์ที่ก่อให้เกิดการตายหรือได้รับบาดเจ็บมากกว่า 190 คน ถ้อยแถลงดังกล่าวระบุว่า การโจมตีครั้งนี้เพื่อให้ผู้ที่ถูกโจมตีได้รู้ว่า “ต้องชดใช้” อย่างไร

“…พวกมันต้องชดใช้ด้วยการหลั่งเลือดจากลูกๆ เด็กๆ ของพวกมันที่จะไหลนองดั่งท้องธาร…”

 

เหตุผลหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงเป้าหมาย มุ่งเป้าไปที่เป้าหมายซึ่ง ไม่มีขีดความสามารถที่จะโต้ตอบ หรือป้องกันตัวเองมากยิ่งขึ้นนั้น เป็นเพราะเป้าหมายอื่นๆ ที่ มีเหตุผลอันควรต่อการตกเป็นเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นฐานทัพ สถานทูต สำนักงานของทางการ สนามบิน หรือเป้าหมายเชิงสัญลักษณ์อื่นๆ มีการคุ้มกันดีขึ้นมากกว่าเมื่อหลายปีก่อน

ในเวลาเดียวกัน การกำหนดเป้าในการก่อการร้ายเอง ก็ขึ้นอยู่กับ “ความเป็นไปได้” มากกว่าที่จะเป็นการเลือกเป้าหมายที่ “เหมาะสม” กับแผนที่เป็นพิมพ์เขียวของขบวนการ

เป้าหมายอย่างเช่นเด็กๆ ในคอนเสิร์ตสำหรับไอซิสจึงเป็น “เป้าหมายที่มีประสิทธิภาพสูงสุด” ทั้งในแง่ของการเรียกความสนใจ สร้างความตื่นกลัว และแสดงให้เห็นว่า นับแต่นี้ต่อไป การโจมตีด้วยการก่อการร้ายไม่เพียงจะเกิดขึ้นที่ไหนก็ได้ ไม่เลือกเป้าหมายแล้วเท่านั้น ยังจะคาดเดาได้ยากเย็นอย่างยิ่งอีกด้วย

การลงมือต่อเป้าหมายอย่างค่ายทหาร, สำนักงานของทางการ มาเป็น คอนเสิร์ต หรือผับ หรือไนท์คลับ ที่เต็มไปด้วยเด็กๆ สร้างความรู้สึกตื่นกลัวได้มากกว่า

สำหรับผู้คนสามัญทั่วไป สิ่งนี้อาจไม่เป็นเหตุเป็นผลอยู่บ้าง อำมหิตเลือดเย็นเกินไปบ้าง
แต่นี่คือธรรมชาติที่แท้จริงของการก่อการร้าย และเป็นธรรมชาติที่ทำให้การก่อการร้าย “ได้ผล”

จนกว่าสาเหตุที่เป็นรากเหง้าของปัญหาจะได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image