กรมค้าภายในเตือน! ปัดเศษเงินทอนเกินค่าอาหารควบคุม ถือว่าผิด

นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยถึงกรณีมีการแพร่กระจายข่าวในสื่อโซเชียลว่า มีข้าราชการกรมการค้าภายใน ตระเวนรับประทานอาหารตามร้านที่มีการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยมีการยัดข้อหาฉ้อโกง เนื่องจากทางร้านปัดเศษเงินทอนนั้น กรมฯขอชี้แจงว่าการตรวจสอบข้อเท็จจริงตามกรณีดังกล่าวแล้ว พบว่าเรื่องเริ่มจากที่ทางกรมฯได้รับคำร้องเรียนผ่านสายด่วน 1569 ว่ามีร้านอาหารแห่งหนึ่งภายในห้างสรรพสินค้าบนถนนสุขุมวิท เขตวัฒนา กรุงเทพฯ ปัดเศษสตางค์ จากราคาน้ำดื่มรวมค่าภาษีมูลค่าเพิ่มและค่าบริการ 35.31 บาท ปัดเป็น 36 บาท พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ออกไปตรวจสอบตามที่มีการร้องเรียนมา เจ้าหน้าที่ได้ทดลองสั่งอาหารมารับประทานเพื่อทดสอบดูตามขั้นตอน และพบว่าเมื่อชำระเงิน มีการปัดเศษสตางค์ขึ้นจริง พนักงานเจ้าหน้าที่จึงได้แจ้ง   ข้อกล่าวหากับทางร้านว่า ร้านฯจำหน่ายไม่ตรงกับราคาที่แสดงไว้ อันเป็นการฝ่าฝืนประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 45  พ.ศ. 2560  เรื่องการแสดงราคาสินค้าและค่าบริการ

ซึ่งในเบื้องต้นทางพนักงานแจ้งว่าเนื่องจากราคาอาหารและเครื่องดื่มที่ทางร้านแสดงไว้จะเป็นราคาที่ยังไม่รวมค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%  ค่าบริการ 10% การคิดเงินจึงมีเศษสตางค์ทางร้านฯจึงปัดเศษสตางค์ขึ้นเป็นจำนวนเต็มบาททุกครั้ง ซึ่งพนักงานร้านฯไม่ยินยอมชำระค่าปรับและไม่ลงลายมือชื่อ เจ้าหน้าที่จึงได้ประสานไปยังสถานีตำรวจท้องที่เพื่อเชิญตัวผู้แทนของทางร้านฯไปยังสถานีตำรวจเพื่อดำเนิคดี แต่ผู้แทนของทางร้านฯไม่ยินยอมเดินทางไปยังสถานีตำรวจพร้อมกับเจ้าหน้าที่

ดังนั้นเจ้าหน้าที่จึงเดินทางไปแจ้งข้อกล่าวหากับทางร้านดังกล่าว ที่สถานีตำรวจ ในเวลาต่อมาทางร้านยินยอมให้เปรียบเทียบคดีและเดินทางมาชำระค่าปรับ 3,000 บาท ซึ่งทั้งหมดนี้ เป็นขั้นตอนของการตรวจสอบราคาสินค้าและบริการ โดยเจ้าหน้าที่จำเป็นต้องไปสั่งอาหารและจ่ายเงินเพื่อให้มีใบเสร็จ ไม่มีการยัดเยียดข้อหาหรือไปเรียกค่าปรับเอาตามอำเภอใจ ตามที่มีข่าวอย่างแน่นอน เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นจะไม่สามารถยื่นเรื่องที่สถานีตำรวจได้

สำหรับผู้จำหน่ายปลีกสินค้าตามบัญชี ก. ซึ่งรวมถึงผู้ประกอบการร้านอาหารที่จำหน่ายอาหารปรุงสำเร็จจะต้องแสดงราคาจำหน่ายปลีก เมื่อแสดงแล้วต้องจำหน่ายให้ตรงกับราคาที่แสดงไว้ดังนั้นโดยหลักแล้วเมื่อมีการคิดเงินค่าอาหารรวมค่าภาษีมูลค่าเพิ่มและค่าบริการแล้ว มีหน่วยเป็นเศษสตางค์ ผู้จำหน่ายต้องเรียกเก็บค่าอาหารจากผู้บริโภคตรงตามราคาดังกล่าว ไม่สามารถปัดเศษสตางค์และเรียกเก็บค่าอาหารจากผู้บริโภคเพิ่มได้ แต่หากไม่มีเงินเศษสตางค์ใช้ทอนได้ ก็ควรปัดเศษสตางค์ลงเพื่อไม่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค และไม่เป็นการฝ่าฝืนประกาศดังกล่าว ทั้งนี้หากผู้ประกอบการร้านอาหารมีพฤติกรรมคิดค่าอาหารโดยปัดเศษสตางค์ขึ้นเป็นจำนวนเต็มกับผู้บริโภคทุกครั้ง นับเป็นการจงใจเอาเปรียบผู้บริโภค

Advertisement

“ยืนยันว่าการตรวจสอบครั้งนี้มีเจตนาคุ้มครองผู้บริโภค ตามที่ได้รับการร้องเรียนมา หากผู้ประกอบการรายใดมีข้อสงสัยว่าบุคคลที่เข้าไปตรวจสอบที่ร้านเป็นเจ้าหน้าที่กรมการค้าภายในจริงหรือไม่ หรือหากประชาชน พบเห็นการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค หรือมีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับราคาสินค้าและบริการ สามารถสอบถามมาได้ที่สายด่วน กรมการค้าภายใน 1569 ได้ตลอดเวลา “

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image