คอลัมน์ FUTURE perfect เมื่อ‘กฎลับ’ของเฟซบุ๊กถูกเปิดเผย โดย ทีปกร วุฒิพิทยามงคล

หากเราเดินมั่วๆ ไปถามใครสักคนในประเทศไทยว่า “คุณเล่นเฟซบุ๊กใช่ไหม” โอกาสที่คำตอบจะเป็นคำว่า “ใช่” นั้นมีมากกว่าคำว่า “ไม่ใช่” เสียอีก ถ้าพูดให้เป็นตัวเลขชัดเจนคือ จากสถิติล่าสุด (ที่แถลงในงาน Thailand Zocial Awards 2017) จำนวนผู้ใช้เฟซบุ๊กชาวไทยนั้นมีมากถึง 47 ล้านคน เติบโตจากปีที่แล้ว 15% หรือคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 71% ของประเทศ

เมื่อชาวไทยใช้เฟซบุ๊กมากขนาดนี้ จึงไม่แปลกที่ เมื่อเฟซบุ๊กขยับตัวแต่ละครั้ง ชาวไทยมากกว่าสองในสามจึงได้รับผลกระทบไปด้วย และจึงไม่แปลกอีกที่ไม่นานมานี้ กสทช.ขู่ว่าจะตัดการเข้าถึงเฟซบุ๊กจากประเทศไทย หากเฟซบุ๊กยังไม่ยอมถอดเนื้อหา “ไม่เหมาะสม” บางประการออก เมื่อลูกตาของพวกเราไปอยู่บนเฟซบุ๊กเสียเป็นส่วนใหญ่ การที่ กสทช.จะพยายามควบคุมไม่ให้เราเห็นอะไรที่ “ไม่เหมาะไม่ควร” โดยไป “บี้” เฟซบุ๊ก ก็เป็นเรื่องเข้าใจได้ (แต่เมื่อพ้นเส้นตายมา ก็อย่างที่ทราบแหละครับ ว่าเรายังคงเข้าเฟซบุ๊กได้อย่างปกติดี ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ในขณะที่ กสทช.ก็ออกมาให้คำตอบว่าถึงจะไม่ปิด แต่ก็มีการเจรจากับเฟซบุ๊กให้ลบเนื้อหาเหล่านั้นอยู่ โดยต้องรอหมายศาลสักนิด ซึ่งก็นำมาสู่คำถามว่า แล้วก่อนหน้านั้นที่แจ้งไปไม่ได้มีหมายศาลใดๆ เลยหรือ)

ทั้งหมดนี้ เลยกลายเป็นเรื่องสำคัญที่เราอาจต้องเข้าใจว่าเฟซบุ๊กนั้น “ทำงาน” อย่างไร โดยเฉพาะในเรื่องที่ว่าอะไรที่ “สมควร” อยู่ได้ และอะไรที่ “ไม่สมควร” อยู่บนเฟซบุ๊ก

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา The Guardian ได้เปิดเผย “เอกสารลับ” ที่หลุดออกมาจากเฟซบุ๊ก มันเป็นเอกสารภายในที่เฟซบุ๊กให้พนักงานศึกษาเพื่อพิจารณาคอนเทนต์สุ่มเสี่ยงและใช้เป็นเกณฑ์พื้นฐานในการตัดสินใจว่าจะลบคอนเทนต์หนึ่งๆ หรือจะปล่อยให้คอนเทนต์นั้น “ได้ไปต่อ”

Advertisement

The Guardian เผยแพร่เอกสารดังกล่าวออกมาเป็นซีรีส์ โดยใช้ชื่อว่า The Facebook Files (https://www.theguardian.com/news/series/facebook-files) ในซีรีส์นี้ The Guardian จะพิจารณาเอกสารเป็นหัวข้อย่อยๆ อย่างเช่น เรื่องการเผยแพร่คอนเทนต์ประทุษร้าย (ว่าทำได้ไหม แค่ไหน อย่างไร), การเผยแพร่คอนเทนต์ทำร้ายตัวเอง (ไปจนถึงการฆ่าตัวตาย), คอนเทนต์ “หนังโป๊เพื่อการแก้แค้น” (revenge porn หนังแอบถ่ายที่เอามาเผยแพร่เพื่อให้คนในคลิปเสียหาย) ไปจนถึงการเผยแพร่การทำร้ายสัตว์และเด็ก

สิ่งที่น่าสนใจในรายงานฉบับดังกล่าวคือ การกำหนดขอบเขตและนิยามของแต่ละคำ (ซึ่งจะนำไปสู่การตัดสินว่าอะไรสามารถ “อยู่” หรือ “ไม่อยู่” บนเฟซบุ๊กด้วย) เช่น

การพูดว่า “ใครสักคนไปฆ่าทรัมป์ทีสิ” แบบนี้ไม่สมควรจะอยู่บนเฟซบุ๊กและควรถูกลบออก ในขณะที่การพิมพ์ว่า “ถ้าอยากฆ่านังนั่น ให้กดให้สุดแรงตรงกลางลำคอ” หรือ “ไปตายซะ” แบบนี้ถือว่าสมควรอยู่ได้

Advertisement

วิดีโอการเสียชีวิตที่รุนแรง น่ากลัว ถึงแม้จะต้องมีคำเตือนไว้ว่า “disturbing” แต่ก็สามารถอยู่บนเฟซบุ๊กได้ เพราะอาจเป็นวิดีโอเพื่อเตือนใจ

รูปถ่ายการรังแกหรือทรมานเด็กอาจไม่ต้องถูกลบหากยังไม่เข้าข่ายซาดิสม์

สามารถถ่ายทอดสด (ไลฟ์) การทำร้ายตัวเองได้ เพราะเฟซบุ๊กถือว่า “ไม่อยากเซ็นเซอร์คนที่มีกำลังมีความทุกข์” และอื่นๆ

พูดอีกอย่างคือ ในรายงานฉบับนี้เราจะเห็นความพยายามของเฟซบุ๊กในการรักษาสมดุลระหว่าง “เสรีภาพทางการพูด” และ “การละเมิดสิทธิเสรีภาพของคนอื่น” นั่นเอง เฟซบุ๊กบอกไว้ในเอกสารเองว่า “เราพยายามจะให้เสรีภาพทางการพูดให้มากที่สุด แต่เราก็ขีดเส้นไว้ที่การพูดบางอย่างที่อาจเป็นภัยบนโลกจริงๆ”

แน่นอนว่าเฟซบุ๊กนั้นเป็นบริษัทเอกชน ไม่ใช่รัฐ ดังนั้น หากพิจารณาโดยแรกเริ่มแล้ว เราอาจรู้สึกว่าเฟซบุ๊กสามารถกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ ได้ตามใจชอบ และเป็นความยินยอมของผู้ใช้ที่จะต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์นั้นหลังจากลงชื่อเข้าใช้ (เพราะได้ “ยอมรับเงื่อนไขการใช้งาน” ไปแล้ว)

แต่บนโลกที่แพลตฟอร์มมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนเกือบเทียบเท่ากับรัฐในบางประเทศ ก็เป็นเรื่องน่าตั้งคำถามอีกเช่นกันว่าแล้วใครกันที่กำลังปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้คานอำนาจกับเฟซบุ๊กอยู่ และเฟซบุ๊กเองก็ต้องตระหนักเช่นกันว่ามันไม่ได้เพียงทำหน้าที่เป็น “สถานที่” ให้ผู้คนมาเชื่อมโยงกันเท่านั้น แต่มันยังเปลี่ยนแปลงวิธีการเชื่อมโยงของผู้คนเหล่านั้นไปด้วย

เมื่อไรก็ตาม “กฎหมาย” ของรัฐที่พันผูกกับสภาพทางภูมิศาสตร์ (เช่น กฎหมายของประเทศ หรือกลุ่มประเทศ) มีจุดขัดแย้งกับ “กฎ” ของรัฐที่มีสภาพเหนือภูมิศาสตร์ (เช่น กฎที่ถูกเผยออกมาในครั้งนี้ของเฟซบุ๊ก กฎของทวิตเตอร์ หรือกฎของกูเกิล) เราก็จะได้เห็นการทบทวนถึงปัญหาเช่นนี้ ครั้งแล้วครั้งเล่า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image