“การเปลี่ยนผ่านของสังคมไทย” โดยนิธิ เอียวศรีวงศ์

Voices of the Victims: Truth for Justice คือหนังสือเล่มใหม่ที่ ศปช. (ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมเม.ย พ.ค.2553) จะออกมาเผยแพร่ ในปี 2012 (2555) ศปช.เคยเผยแพร่เรื่อง ความจริงคือหนทางไปสู่ความยุติธรรม ซึ่งหนาถึง 1,200 หน้ามาแล้ว เพราะรวมเอกสารหลักฐานเอาไว้ด้วยมาก แต่เล่มใหม่ภาคภาษาอังกฤษนี้ หนาประมาณ 250 หน้าเท่านั้น โดยเก็บความจากฉบับภาษาไทย และเสนอเอกสารหลักฐานอย่างย่อ นอกจากตอนที่ใช้ยืนยันข้อเท็จจริงเท่านั้น

เข้าใจว่าภาคภาษาอังกฤษก็เพื่อประโยชน์แก่คนต่างชาติที่สนใจเรื่องนี้ ที่สำคัญคือทำให้เรื่องที่รู้กันอยู่แล้ว มีข้อมูลหลักฐานที่ชัดเจนพิสูจน์ได้ การเล่าถึงปูมหลัง และพฤติกรรมของเหยื่อแต่ละราย ก็ทำให้เหยื่อมีเนื้อหนังมังสา และมีชีวิตจิตใจมากกว่าตัวเลขอีกด้วย

ประเทศไทยได้ผ่านการล้อมปราบสังหารหมู่ประชาชนมาสามครั้งก่อนหน้า 2553 (2010) คือ 14 ตุลา, 6 ตุลา, และพ.ค.2535 (1992) แต่ไม่เคยมีครั้งใดที่มีข้อมูลบันทึกความสูญเสียอย่างละเอียดเท่าครั้งนี้ รายงานของ ศปช.ไม่ใช่รายงานเดียวที่มีอยู่ ยังมีรายงานของหน่วยราชการหลายหน่วย การไต่สวนคดีในศาล รายงานข่าวและภาพถ่ายรวมเล่มวางจำหน่ายในท้องตลาด และรายงานของคณะกรรมการซึ่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะนายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้งขึ้นหลังเหตุการณ์ แต่ไม่มีรายงานฉบับใดที่ครอบคลุมเหตุการณ์และเรื่องราวของเหยื่อได้กว้างขวางและละเอียด พร้อมทั้งการสืบสวนเพื่อยืนยันข้อเท็จจริงในทางวิชาการอย่างรัดกุมได้เท่ารายงานของ ศปช. ทั้งในฉบับภาษาไทยและอังกฤษ

ไม่แต่เพียงคนไทย (และคนทั้งโลก) สามารถรู้เรื่องราวของการล้อมปราบสังหารหมู่ครั้งนี้ได้ละเอียดและกระจ่างยิ่งกว่าทุกครั้งที่ผ่านมาเท่านั้น การสังหารหมู่ครั้งนี้ยังไม่ถูกฝ่ายอำนาจกลบฝังลงทางกฎหมายด้วย พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ผิดจากทุกครั้งที่ฝ่ายอำนาจสามารถออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเกือบจะทันทีที่เหตุการณ์สิ้นสุดลง

Advertisement

มีเหตุผลอยู่สองด้านที่ทำให้ฝ่ายอำนาจไม่สามารถกลบฝังการสังหารหมู่ครั้งนี้ได้ ด้านแรกคืออำนาจหน้าฉากได้แก่รัฐบาลอภิสิทธิ์ คุมเสียงข้างมากในสภาไว้อย่างปริ่มๆ เท่านั้น การกระทำที่ไร้ความชอบธรรมถึงเพียงนี้จะปล่อยให้เป็นประเด็นอภิปรายอย่างยาวนานของฝ่ายค้านในสภาไม่ได้ ถึงจะออกเป็น พ.ร.ก. ก็ต้องนำเข้าสภาอยู่นั่นเอง หากเป็นเช่นนั้นก็จะยิ่งเร่งเร้าปฏิกิริยาในวงกว้างของสังคมไทย จนกระทั่งแม้แต่จะรักษาเสียงข้างมากของตนไว้ก็อาจทำไม่ได้

ด้านที่สองสำคัญกว่าก็คือรัฐพันลึกไทยซึ่งเป็นอำนาจที่แท้จริงหลังฉาก ไม่อยู่ในสถานการณ์ที่อาจยืดหยุ่นได้อย่างการสังหารหมู่ทุกครั้งที่ผ่านมา นั่นคือรัฐบาลที่สั่งการสังหารหมู่ต้องลาออก แล้วตั้งรัฐบาลใหม่ที่พอจะเป็นความหวังของประชาชนเข้ามาแทนที่ ซึ่งในที่สุดแล้วก็ไม่มีผลกระทบอย่างไรต่ออำนาจของรัฐพันลึกไทย หรืออาจทำให้มีอำนาจมากขึ้นไปอีกด้วยซ้ำ

แต่การสังหารหมู่ครั้งนี้ สั่งการโดยรัฐบาลที่เป็นฟางเส้นสุดท้ายของรัฐพันลึก หากเอารัฐบาลนี้ออกไป ก็หมายความว่าต้องปล่อยให้รัฐบาลที่ไม่แสดงท่าทีว่าจะรักษาอำนาจของรัฐพันลึกขึ้นมาเป็นรัฐบาลแทน (โดยผ่านการยุบสภาหรือตั้งรัฐบาลในสภาใหม่ก็ตาม) หรือมิฉะนั้น ก็ต้องยกเลิกหน้าฉากการปกครองที่มีรัฐสภาไปเลย

นั่นเป็นการกระทำที่เสี่ยงมาก หากไม่จำเป็นจริงๆ แล้ว รัฐพันลึกไทยไม่ต้องการนำตัวเองเข้าไปสู่จุดสุ่มเสี่ยงขนาดนั้น ต้องไม่ลืมด้วยว่า การรัฐประหารใน 2549 ทำลายฐานความชอบธรรมของอำนาจรัฐพันลึกไทยอย่างรุนแรง ชนิดที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนนับตั้งแต่ 2475 เป็นต้นมา

ขอให้สังเกตด้วยว่า แม้ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2550 ที่พยายามรักษาอำนาจของรัฐพันลึกไว้อย่างถึงที่สุด การเมืองไทยนับจากนั้นมาเป็นไปในเส้นทางที่บ่อนทำลายอำนาจของรัฐพันลึกอย่างถึงรากถึงโคนมากขึ้น ว่าเฉพาะคดีละเมิดต่อชีวิตและทรัพย์สินซึ่งติดค้างมาแต่ 2553 ก็มีทีท่าว่าอาจดำเนินไปจนกระทั่งอำนาจบังคับ (coercive power) ของรัฐพันลึกไทยจะถูกนำมาอยู่ภายใต้การควบคุมของกฎหมายมากขึ้น ทั้งนี้ ย่อมแสดงว่าเกิดความปั่นป่วนขึ้นในองคาพยพของรัฐพันลึกไทย อย่างน้อยก็บางส่วนแล้ว (และนั่นคือเหตุผลความจำเป็นต้องยึดอำนาจเด็ดขาดใน 2557 แม้จะสุ่มเสี่ยง แต่ก็ไม่มีทางเลือก)

ฉะนั้นเมื่อกล่าวโดยสรุป การล้อมปราบสังหารหมู่ประชาชนใน พ.ศ.2553 เป็นเหตุการณ์หนึ่งในกระบวนการต่อสู้กับการครอบงำ (domination) ของรัฐพันลึกไทย

ในวาระครบรอบ 7 ปีของการล้อมปราบสังหารหมู่ครั้งนั้น ผมขอรำลึกถึงด้วยการวิเคราะห์การครอบงำทางสังคมผ่านอุดมการณ์ของรัฐพันลึก ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้การครอบงำด้านอื่นทั้งหมดเป็นไปได้ เราอาจเห็นถึงสิ่งที่หากไม่ดูถึงรากเหง้าระดับนี้ ก็อาจมองไม่เห็น นั่นคือการ “เปลี่ยนผ่าน” ของสังคมไทย

การครอบงำทางอุดมการณ์ (Ideological domination) เป็นรากฐานให้แก่การครอบงำทางสังคม (Social domination)

การที่คนกลุ่มหนึ่งจะสามารถหวงหรือปันเอาอำนาจ, ทรัพยากร และเกียรติยศไว้สูงสุด เหนือคนส่วนใหญ่ในสังคมได้ ก็เพราะพวกเขาสามารถทำให้คนอื่นทั้งหมดเชื่อว่า การแบ่งปันเช่นนี้เป็นสิ่งที่เหมาะสมและเป็นธรรม วาทกรรมทั้งหมดเหล่านี้คืออุดมการณ์ ซึ่งไม่ได้แสดงออกผ่านถ้อยคำ เช่น กฎหมายหรือสุนทรพจน์อย่างเดียว แต่ผ่านการศึกษา, ความสัมพันธ์ทางสังคม, ประเพณี, พิธีกรรม ฯลฯ เข้าไปอยู่เบื้องหลังความคิดในกิจกรรมทุกอย่าง-แม้แต่ที่ทำคนเดียว-ของคนในสังคม

ด้วยเหตุดังนั้นจึงเรียกว่าการครอบงำทางอุดมการณ์

คำถามก็คือ ภายใต้การครอบงำทางอุดมการณ์เช่นนี้ คนที่ถูกครอบงำจำนนต่ออุดมการณ์ไปจนหมดตัว ไม่คิดต่อต้านอย่างใดเลยหรือ? ผมเห็นด้วยกับเจมส์ สก๊อต ซึ่งได้อภิปรายอย่างละเอียดและน่าเชื่อถือไว้ในบทท้ายๆ ของงานเรื่อง Weapons of the Weak ของเขาว่า ชนชั้นล่าง (subordinate class) หรือผู้ที่ถูกครอบงำไม่ได้ยอมจำนนไปทั้งหมดเช่นนั้น ในพื้นที่ซึ่งไม่ถูกตรวจสอบและปลอดภัย พวกเขาวิพากษ์วิจารณ์หรือแม้แต่โจมตีอุดมการณ์ที่ครอบงำหลายรูปแบบ เช่น ทำเป็นเรื่องตลก, เสียดสี, ตั้งสมญานาม, นินทาว่าร้าย, หรือใช้สัญลักษณ์ต่อต้าน ฯลฯ ทั้งหมดเหล่านี้คือการต่อสู้กับการครอบงำทางอุดมการณ์

แต่คนชั้นล่างจะไม่เสี่ยงอันตรายในการลุกขึ้นมาต่อต้านการครอบงำที่เห็นอยู่แล้วว่าไม่มีทางเป็นจริงไปได้เลย (unrealistic) ตรงกันข้ามกับการต่อต้านทางความคิด พวกเขากลับสยบยอมกับการครอบงำในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งชนชั้นนำกำกับควบคุมอยู่ เท่านี้พอหรือยังสำหรับชนชั้นนำ? โดยทั่วไปก็ถือว่าพอแล้ว แต่ตรงด่านหน้าของพื้นที่สาธารณะ คือระหว่างพื้นที่ปลอดภัยซึ่งชนชั้นล่างสร้างขึ้นกับพื้นที่สาธารณะ จำเป็นต้องระแวดระวังและสกัดกั้นมิให้ชนชั้นล่างขยายพื้นที่ปลอดภัยของตนล่วงล้ำเข้ามาในพื้นที่สาธารณะเพิ่มขึ้น เผลอเมื่อไร ชนชั้นล่างก็จะทำให้พื้นที่ปลอดภัยของตนขยายขึ้น ซึ่งแปลว่าพื้นที่สาธารณะในความกำกับควบคุมของชนชั้นนำหดตัวลง

(มองจากแง่นี้ก็จะเข้าใจชะตากรรมของไผ่ ดาวดิน ได้ไม่ยาก)

ฉะนั้น วิธีที่ดูจะให้ความปลอดภัยแก่การครอบงำทางอุดมการณ์ของชนชั้นนำได้มั่นคงที่สุด ก็คือทำให้พื้นที่ปลอดภัยที่ชนชั้นล่างซึ่งถูกครอบงำสร้างขึ้นไม่มีเหลืออยู่เลย กรณีสุดโต่งคือค่ายกักกันชาวยิวของนาซี ก่อนที่เชลยชาวยิวจะถูกกวาดต้อนเข้าห้องรมแก๊ส พวกเขาได้ถูกปลดเปลื้องความสัมพันธ์ทางสังคมทั้งหมดออกไปเสียก่อน ไม่มีลูก ไม่มีเมีย ไม่มีผัว ไม่มีพ่อ ไม่มีแม่ เหลืออยู่นอกสำนึกของบุคคล เพราะคนในครอบครัวอาจถูกกักกันอยู่คนละค่าย หรือคนละเรือนนอน แค่เอาชีวิตตัวเองให้รอดไปวันๆ ก็แสนยากอยู่แล้ว แม้แต่กลายเป็นปัจเจก ก็ไม่ใช่ปัจเจกบุคคล เพราะนาซีทำให้คนเหล่านี้เสื่อมทรามลงต่ำกว่าความเป็นมนุษย์ในทุกวิถีทาง นอกจากได้อาหารและเครื่องแต่งกายไม่พอแล้ว ก็เจตนาเหยียดให้เชลยสูญเสียความนับถือตนเองในฐานะมนุษย์ลงโดยสิ้นเชิง-เมื่อไม่มีสังคม พื้นที่ปลอดภัยก็เกิดขึ้นไม่ได้ เพราะพื้นที่ปลอดภัยเกิดขึ้นได้ในกิจกรรมทางสังคมเสมอ

นี่เป็นอุดมคติของการครอบงำทางอุดมการณ์เลยทีเดียว แต่ในความเป็นจริงทำกับสังคมทั้งหมดไม่ได้ เพราะจะไม่มีแรงงานเหลือสำหรับผลิต “ส่วนเกิน” ให้แก่ชนชั้นนำอีกเลย

เมื่อมองการต่อสู้กับการครอบงำทางอุดมการณ์ผ่านเหตุการณ์ล้อมปราบสังหารหมู่ประชาชนทั้ง 4 ครั้ง อำนาจครอบงำทางสังคมของรัฐพันลึกด้านอื่นๆ อาจยังอยู่ หรือบางด้านอาจแข็งขึ้นเสียด้วยซ้ำ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า อำนาจครอบงำทางอุดมการณ์กลับอ่อนแอลง

เรื่องที่เป็นธรรมเนียมจะไม่พูดกันในพื้นที่สาธารณะเช่น คำพิพากษา, คุณสมบัติของพระเถระชั้นผู้ใหญ่, หรือของพระภิกษุสงฆ์โดยทั่วไป, มิติทางการเมืองของการกระทำที่เคยถือกันว่าไม่เกี่ยวกับการเมือง เช่นของนักบวช, อธิการบดีมหาวิทยาลัย, คนในวงการแสดงและ ฯลฯ กลายเป็นเรื่องที่พูดกันในที่สาธารณะได้ หรืออย่างน้อยก็พบวิธีพูดที่ปลอดภัย ยุทธวิธีการใช้สัญลักษณ์เพื่อต่อต้านการครอบงำถูกพัฒนาขึ้นอย่างมาก นับตั้งแต่ภาพหรือตัวหนังสือบนอกเสื้อ ไปจนถึงกิริยาท่าทาง และการประท้วงเชิงสัญลักษณ์อื่นๆ ขั้นต่ำสุดที่เห็นได้ง่ายก็คือ เราไม่เหลือมาตรฐานที่ตกลงเห็นพ้องกันทั้งสังคมเกี่ยวกับคำหยาบประเภทต่างๆ แล้ว มาตรฐานของคำเป็นส่วนหนึ่งของอุดมการณ์ที่ใช้ครอบงำสังคมอย่างปฏิเสธไม่ได้ การไม่มีมาตรฐานทำให้เส้นแบ่งพื้นที่ปลอดภัยกับพื้นที่สาธารณะไม่ชัดเจน

ยิ่งพิจารณาจากถ้อยคำที่ใช้ในการปราศรัยบนเวทีการประท้วงของเสื้อสีต่างๆ อะไรที่พูดไม่ได้กลับพูดได้อย่างอิสระ เพราะการประท้วงคือสร้างเงื่อนไขใหม่ที่ทำให้ชนชั้นนำหมดอำนาจในการกำกับควบคุมพื้นที่สาธารณะไป อย่างน้อยก็เป็นการชั่วคราว หรือเป็นการเฉพาะพื้นที่ พิจารณาเฉพาะจากถ้อยคำเพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะบนเวทีประท้วงของฝ่ายเสื้อแดง ก็อาจแน่ใจได้แล้วว่า ไม่ว่าเหตุการณ์จะลงเอยอย่างไร การครอบงำทางอุดมการณ์เหนือสังคมไทยจะไม่มีวันเหมือนเดิมอีกแล้ว

กล่าวโดยสรุปก็คือ พื้นที่ปลอดภัยซึ่งค่อนข้างเป็นส่วนตัวได้ขยายขึ้นอย่างมาก และทำให้การครอบงำทางอุดมการณ์ถูกต่อต้านอย่างเปิดเผยในที่สาธารณะ หรือกึ่งสาธารณะมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องหลบไปอยู่บนฝาผนังส้วมเพียงอย่างเดียวอีกแล้ว

พื้นที่ปลอดภัยที่กว้างขึ้น ไม่จำเป็นต้องหมายความว่าชนชั้นล่างจะลงมือปฏิบัติการโดยตรงมากขึ้น หากคอยจับจ้องมองการกบฏหรือการปฏิวัติ ก็อาจไม่ได้เห็นไปชั่วกาลนาน แต่สิ่งสำคัญกว่าก็คือในชีวิตประจำวันของผู้คนฝ่ายอ่อนแอ คนไทยสามารถต่อต้านการครอบงำในพื้นที่ปลอดภัย ซึ่งเราสร้างขึ้นเองได้มากขึ้นหรือไม่ หากยังทำได้และทำได้มากขึ้นแหลมคมขึ้น ก็เป็นไปไม่ได้แล้ว ที่อุดมการณ์ของรัฐพันลึกจะครอบงำสังคมไปไม่มีที่สิ้นสุด อาวุธของคนอ่อนแอใช่ว่าจะไม่คมเสียเลย

และเพราะชนชั้นนำไม่พบวิธีที่จะปกป้องอุดมการณ์ที่ใช้ครอบงำสังคมในสถานการณ์เช่นนี้ได้อย่างไร จึงจำเป็นต้องบีบให้พื้นที่ส่วนตัวอันปลอดภัยของประชาชนเหลือแคบลงที่สุดเท่าที่จะทำได้ นั่นคือสถาปนาระบอบค่ายกักกันขึ้น แม้กระนั้นก็ไม่ช่วยให้พื้นที่ส่วนตัวอันปลอดภัยของผู้ถูกครอบงำหดแคบลงแต่อย่างไร ตรงกันข้ามกลับขยายไปในหมู่คนอ่อนแอกว้างขวางขึ้นด้วยซ้ำ

ปัญหาของพวกเขาก็คือ แล้วจะเลิกระบอบค่ายกักกันได้อย่างไร (อย่าลืมที่กล่าวไว้แล้วว่า ระบอบค่ายกักกันบั่นรอนพลังการผลิต) แต่ปัญหาของเราก็คือ สังคมไทยจะ “เปลี่ยนผ่าน” ไปได้อย่างไร

ไม่มีการครอบงำใดๆ ดำรงอยู่ได้โดยปราศจากการครอบงำทางอุดมการณ์ ความแข็งแกร่งในการครอบงำทางอุดมการณ์อยู่ที่การรักษาให้ความสัมพันธ์ทางสังคมใดๆ ในพื้นที่สาธารณะ ต้องถูกกำกับควบคุมอย่างรัดกุมด้วยอุดมการณ์ที่ครอบงำ แต่ดังที่ได้ชี้ให้เห็นมาแต่ต้นแล้วว่า อำนาจกำกับควบคุมเช่นนี้ของรัฐพันลึกไทยถูกลดทอนลงอย่างมาก เมื่อประชาชนขยายพื้นที่ส่วนตัวที่ปลอดภัยของตนเองให้ใหญ่ขึ้น กินอาณาบริเวณพื้นที่สาธารณะมากขึ้น จนกระทั่งวันหนึ่งรัฐพันลึกไทยก็จะถูกบีบให้ปรับเปลี่ยนอุดมการณ์เสียใหม่ เพื่อสามารถครอบงำสังคมต่อไปได้

ถึงวันนั้นจะเกิดสถาบันใหม่, แบบปฏิบัติใหม่, ความสัมพันธ์เชิงอำนาจใหม่, ฯลฯ ที่เอื้อต่อการครอบงำทางอุดมการณ์ของรัฐพันลึกมากกว่าปัจจุบัน และนั่นคือการ “เปลี่ยนผ่าน” ซึ่งไม่ได้หมายความว่าการครอบงำทางสังคมจะหมดไป เพียงแต่เปลี่ยนรูปไปเท่านั้น แต่แค่เปลี่ยนรูป ก็เปิดโอกาสใหม่ให้แก่คนจำนวนมากแล้ว

การปฏิวัติ, การลุกฮือของประชาชน, การจับอาวุธขึ้นก่อการกบฏ, ฯลฯ เป็นปรากฏการณ์ที่นานๆ จะเกิดขึ้นสักครั้งในประวัติศาสตร์ของทุกสังคม ฉะนั้นสังคมที่ “เปลี่ยนผ่าน” โดยอาศัยปรากฏการณ์เหล่านั้นจึงมีน้อย แต่ทุกสังคมก็เคย “เปลี่ยนผ่าน” มาแล้วทั้งนั้น สังคมไทยกำลังเดินมาถึงจุดที่ต้อง “เปลี่ยนผ่าน” อีกครั้งหนึ่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในอนาคต เมื่อผู้สนใจศึกษาประเทศไทย พยายามทำความเข้าใจการ “เปลี่ยนผ่าน” ครั้งนี้ เอกสารซึ่ง ศปช.ผลิตขึ้นทั้งสองชิ้น ในภาษาไทยและอังกฤษ จะเป็นกุญแจสำคัญอีกดอกหนึ่งที่จะไขความเข้าใจไปสู่ยุคสมัยอันน่าตื่นเต้นครั้งนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image