สั่งปิดปาก!! ปฏิรูปส่วนภูมิภาคส่อวุ่นหนัก เลขาฯ สพฐ.สั่งปิดปาก’ผอ.สพท.’ หลังยึดอำนาจบริหาร

เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม นายอดิศร เนาวนนท์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เปิดเผยว่า สำนักนโยบายและแผน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีหนังสือ ที่ ศธ 04006/3377 ลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2560 ลงนามโดยนายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการ สพฐ. สาระสำคัญคือห้ามไม่ให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และบุคลากรในสังกัด วิพากษ์และแสดงความคิดเห็นใดๆ เกี่ยวกับการดำเนินการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาค และในวันที่ 27 พฤษภาคมที่ผ่านมา มีหนังสือที่ ศธ 04009/1027 ลงนามโดยนายการุณเช่นเดียวกัน มีข้อความเหมือนฉบับเดิม แต่เปลี่ยนจาก “ห้าม” เป็น “ขอความร่วมมือ” ผู้อำนวยการ สพท.และบุคลากรในสังกัดให้พิจารณา และพึงระมัดระวังในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาค ซึ่งกรณีนี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาความอึดอัด และคับข้องใจของกลุ่มผู้อำนวยการ สพท.ซึ่งเป็นกลุ่มอำนาจเดิม ที่ถูกยึดอำนาจการบริหารงานบุคคล ตั้งแต่การสอบบรรจุ การโยกย้ายไปยังคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ล่าสุดคืออำนาจการบรรจุแต่งตั้ง ถูกโอนไปเป็นของศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ตามคำสั่ง คสช.ซึ่งเป็นการโยกอำนาจสำคัญไปอยู่ในสายสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาการ (สป.ศธ.) โดยมีคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค (คปภ.) เป็นกองบัญชาการหลัก

“ขณะนี้เกิดแรงต้าน สป.ศธ.ซึ่งไม่ใช่สายงานบังคับบัญชาตามกฎหมาย จากผู้อำนวยการ สพท.ทั่วประเทศ เพียงแต่อยู่ในสภาพน้ำท่วมปาก เป็นไฟสุมขอน รอวันปะทุ สถานการณ์นี้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อการใช้บุคลากรทางการศึกษา ซ้ำรอยกับการปฏิรูปโครงสร้าง ศธ.ที่ผ่านมา ที่ทำให้แต่ละ สพท.มีรองผู้อำนวยการนับสิบคน นอกจากนี้ ทิศทางของเขตพื้นที่ฯ รวมทั้งอำนาจหน้าที่ของผู้อำนวยการ สพท.ยังไม่ชัดเจน คปภ.และ ศธ.ยังคงเขตพื้นที่ฯไว้ตามคำพูดของ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ อดีตรัฐมนตรีว่าการ ศธ. ซึ่งเหมือนกับปล่อยให้เขตพื้นที่ฯเหี่ยวเฉาตายไปเองภายใต้อ้อมกอดใหม่ของ กศจ. อีกทั้งขณะนี้จะมีการสอบผู้อำนวยการ และรองผู้อำนวยการ สพท. ผมอยากให้รัฐบาลและ คสช.ทำเรื่องนี้ให้ชัดเจนก่อน ไม่เช่นนั้นจะเกิดผลเสียตามมาอีกมาก โดย ศธ.ต้องหาทางนำเอาศักยภาพของผู้อำนวยการ สพท.มาใช้ประโยชน์ อย่าปล่อยให้อยู่ในสภาพการณ์ทำงานแบบหมดอาลัยตายอยาก รอรัฐบาลใหม่ให้เปลี่ยนกลับมาใช้แนวทางที่ใช้อยู่ในปัจจุบันอีก” นายอดิศรกล่าว

นายอดิศรกล่าวอีกว่า หนังสือของ สพฐ.ที่ออกมาทั้ง 2 ฉบับ คงเป็นการป้องปรามผู้อำนวยการ สพท.และแกนนำองค์กรครู ที่วิพากษ์วิจารณ์ในโซเชียลมีเดียหลายประเด็น เช่น การไม่มีผู้แทนผู้อำนวยการ สพท.และข้าราชการครูในคณะอนุกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (อกศจ.) รวมถึงการวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงไม่ยอมรับการสั่งการของข้าราชการระดับสูงใน สป.ศธ. เป็นการสะท้อนวิธีคิดแบบอำนาจนิยม และเพื่อความอยู่รอดในตำแหน่งมากกว่าเพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปการศึกษาภูมิภาค โดยไม่คำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามรัฐธรรมนูญ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image