อาหารไทย มาจากไหน? … ค้นคำตอบกับ “สุจิตต์ วงษ์เทศ”

กับข้าวกับปลาขนมนมเนยสารพัดเมนูตั้งวางอยู่บนโต๊ะอาหาร ทั้งต้ม ผัด แกง ทอด ตุ๋น ที่กินอยู่ในแต่ละมื้อของทุกวันนั้น นอกจากจะสร้างความอิ่มท้องและความสุขล้ำจากรสชาติที่หลากหลายยามลิ้มรสแล้ว ยังมีนัยอีกหลายอย่างที่น่าสนใจศึกษาภายใต้ความอร่อย

“สุจิตต์ วงษ์เทศ” เจ้าของวลีที่เราคุ้นหูกันเสมออย่าง “…… มาจากไหน” ชี้นัยบางอย่างให้ได้เห็น เป็นนัยที่เชื่อมโยงอาหารไทยเข้ากับประวัติศาสตร์ความเป็นมาของคนไทยในหนังสือเรื่อง “อาหารไทย มาจากไหน?” ด้วยเหตุผลที่ว่า “คนไทยมายังไง อาหารไทยก็มายังงั้น เพราะไม่ได้ถูกเนรมิตให้ลอยลงมาจากสวรรค์”

“อาหารไทย มาจากไหน?” ผลงานเล่มล่าสุดของสุจิตต์ วงษ์เทศ ปรับปรุงมาจาก ข้าวปลาอาหารไทย ทำไม? มาจากไหน เล่มนี้ ไม่ใช่หนังสือชวนชิมของอร่อยแน่นอน แต่เป็นงานเขียนที่รวบรวมเรียบเรียงเรื่องเล่านับแต่อดีตเกี่ยวกับอาหารการกิน ที่หลายคนอาจจะมองว่า ก็แล้วไงล่ะ ก็แค่อาหาร เป็นสิ่งที่กินอยู่ทุกวันว่า เป็นเพราะอาหารไม่ใช่แค่สิ่งที่กินเข้าไปแล้วจบลง แต่มีความเชื่อมโยงที่เกี่ยวเนื่องกับประวัติศาสตร์สังคม ด้วยภาษาสไตล์สุจิตต์ที่อ่านเข้าใจง่ายและสนุกมาก

อาหารไทยมาจากการประสมประสานอาหารในชีวิตประจำวันของคนอุษาคเนย์ กับอาหารนานาชาติทั้งใกล้และไกลที่ทยอยแลกเปลี่ยนติดต่อกันในสมัยหลังๆจนเข้าสู่ยุคการค้าโลก เช่น จีน แขก ฝรั่ง ฯลฯ ไม่จำกัดและไม่หยุดนิ่งตายตัวมาไม่น้อยกว่า 3,000 ปีแล้ว โดยพร้อมรับจากแหล่งอื่นเพิ่มเข้ามาประสมประสานได้เสมอเมื่อมีโอกาสและกินอร่อย โดยเฉพาะการประสมประสานวิธีปรุงพื้นเมืองเข้ากับของจีน เช่น น้ำปลา ขนมจีน ก๋วยเตี๋ยว ไข่เจียว และจีนปนลาว เช่น ส้มตำ ทำให้มีของกินแปลกๆอร่อยๆเกิดขึ้นเรื่อยๆแล้วเรียกว่า “อาหารไทย” แต่อาหารไทยที่เก่าแก่ที่สุดเชื่อกันว่าเป็นข้าวกับปลา และข้าวกับเกลือ โดยยืนยันทั้งจากหลักฐานอาหารมื้อสุดท้ายที่นักโบราณคดีขุดพบ จากสุภาษิตคำพังเพยเก่าๆ ที่ยืนยันได้ว่าเก่าสุดของอาหารไทย คือข้าวกับปลา และน่าจะเป็นอาหารเก่าสุดของคนอุษาคเนย์ด้วย

Advertisement

ในหนังสือเรื่อง อาหารไทย มาจากไหน? นอกจากจะว่าด้วยข้าวทั้งในแง่ของประเภท พิธีกรรม องค์ประกอบต่างๆที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกับข้าวที่ทั้งมีอยู่เองและรับมาจากถิ่นต่างๆทั้งใกล้และไกลแล้วนั้น ยังมีหลายส่วนที่น่าสนใจมาก โดยเฉพาะพืชผักและสมุนไพร เช่น “น้ำเต้า”

ผลน้ำเต้าที่เราเห็นๆวางกองอยู่ตามตลาด โดยเฉพาะตลาดเช้าของชาวบ้าน นอกจากจะเอามาทำกับข้าวอร่อยแล้ว ยังเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์สังคมของอุษาคเนย์อย่างน่าทึ่ง ด้วยความคิดที่ว่า “น้ำเต้าเหมือนมดลูกของแม่”

Advertisement

ด้วยรูปทรงของน้ำเต้าที่กลมป่องเหมือนท้องแม่ใกล้คลอดลูกแต่คอดตรงกลาง คนในอดีตเลยจินตนาการว่าเหมือนมดลูกของแม่ที่ให้กำเนิดลูก ความเชื่อในยุคดึกดำบรรพ์เชื่อว่าคนทั้งสุวรรณภูมิในอุษาคเนย์เกิดจากน้ำเต้าปุง (ปุงคือภาชนะใส่ของ) เป็นพี่น้องท้องเดียวกัน 5 คน ซึ่งคนทั้ง 5 จำพวก เป็นสัญลักษณ์ของชาติพันธุ์ในภูมิภาคอุษาคเนย์ ทั้งผืนแผ่นดินใหญ่ แม่น้ำลำคลอง ชายฝั่งทะเล และหมู่เกาะ คือคนในตระกูลมอญ-เขมร, ตระกูลมาเลย์-จาม หรือชวา-มลายู, ตระกูลม้ง-เย้า,ตระกูลไทย-ลาว-เวียดนาม แต่เรื่องนี้ก็อาจอธิบายอย่างอื่นได้ ไม่จำเป็นต้องตรงกัน

ยังมีเรื่องอื่นๆอีกมากมาย ที่สุจิตต์ วงษ์เทศค้นคว้าเอาไว้แล้วมาเล่าให้ได้อ่านกัน ทั้งอาหารเน่าแล้วอร่อย อาหารแขก อาหารจีน อาหารไทยที่โคลัมบัสจัดให้ ผัดไทย ก๋วยเตี๋ยวที่มีร่องรอยน่าเชื่อว่ามีมาตั้งแต่อยุธยา ส่วนก๋วยเตี๋ยวที่คนไทยขายเองนั้นเริ่มช่วงสมัยรัชกาลที่ 8 ส่วนส้มตำมะละกอ อาหารจีนปนลาว ที่ไม่ใช่อาหารดั้งเดิมเก่าแก่ตามประเพณีลาวลุ่มน้ำโขงรวมอีสาน หรือของสุวรรณภูมิในอุษาคเนย์และเถียงๆกันอยู่ว่ามาจากไหน เริ่มเมื่อไหร่ ก็ว่าน่าจะเกิดราวต้นกรุงรัตนโกสินทร์ โดยคำว่าส้มตำ เป็นคำสร้างใหม่ในกรุงเทพฯ สลับคำจากคำเดิมว่าตำส้ม …อยากรู้มากกว่านี้ไปลองหาอ่านดูเอง

คลุกเคล้าเป็นเนื้อเดียวกันขนาดนี้ ….คนไทยมายังไง อาหารไทยก็มาอย่างนั้นนั่นล่ะ

 

โดย ดอกฝน

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image