OTT ดูทีวีผ่านเน็ต สึนามิลูกใหม่ทีวีดิจิทัล

ยุคนี้ถือได้ว่าเป็นยุคของดิจิทัล ดูได้จากการที่รัฐบาลพยายามเหลือเกินในการวางโครงข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุมทุกหมู่บ้านภายในปี 2561 เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงอินเตอร์เน็ตกันได้ถ้วนทั่ว เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของประชาชน 

ขณะที่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง 3 ค่ายก็แข่งขันกันอย่างดุเดือด เพราะเร่งขยายบริการให้ครอบคลุมมากที่สุด เพื่อแย่งกันโกยลูกค้า ส่งผลให้ปัจจุบันเกือบทุกพื้นที่สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้อย่างง่ายดาย ทั้งแบบมีสายและไร้สาย

การมาของอินเตอร์เน็ตมีประโยชน์ในแง่การใช้ช่วยเหลือในการประกอบอาชีพ หาความรู้ ติดตามข้อมูลข่าวสาร หรือความบันเทิง เป็นต้น แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ทำให้บางธุรกิจได้รับผลกระทบนั่นก็คือธุรกิจสื่อ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัล ที่กำลังเจอจุดหักเหของเทคโนโลยีเข้าอย่างจัง จากการมาของการให้บริการแพร่ภาพและเสียงบนโครงข่ายอินเตอร์เน็ต (Over The Top หรือ OTT) เช่น เฟซบุ๊ก, ไลน์ทีวี, ยูทูบ, Monomaxxx, iFlix, Netflix และ HOOQ เป็นต้น เพราะทำให้คนดูสามารถรับสาระ ความรู้ ความบันเทิง จากที่ใดก็ได้ ทั้งแบบดูสดและดูย้อนหลัง

สิ่งเหล่านี้ทำให้ยอดคนดูผ่านหน้าจอโทรทัศน์ลดลง อ้างอิงจากข้อมูลของเอจีบี นีลเซ็น ซึ่งเป็นบริษัทสำรวจและวัดเรตติ้งระบุว่า กลุ่มคนที่มีอายุ 15-25 ปี ถือเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีอัตราการบริโภคสื่อทางหน้าจอโทรทัศน์ลดลง โดยย้ายไปบริโภคสื่อผ่านช่องทางดิจิทัลแทน ซึ่งผลจากยอดคนดูลดลงก็ทำให้เงินรายได้จากค่าโฆษณาโทรทัศน์ลดลงไปด้วย โดยข้อมูลจากนีลเส็น

ระบุว่าในปี 2559 มูลค่าเงินโฆษณาในอุตสาหกรรมโทรทัศน์ลดลงโดย ช่องทีวีอนาล็อกเดิม ลดลง 18.93% ช่องทีวีดิจิทัลลดลง 3.39% สวนทางกับสื่อดิจิทัล โดยสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) ระบุว่า งบโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัลในปี 2559 มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องมูลค่ารวมกว่า 9,477 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อน 17% และคาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 24% ในปี 2560 โดยในปี 2559 เฟซบุ๊กครองส่วนแบ่งงบโฆษณาดิจิทัลสูงสุด ถึง 29% คิดเป็นงบโฆษณาดิจิทัล 2,711 ล้านบาท อันดับสองคือ ยูทูบ ที่ครองส่วนแบ่ง 16% คิดเป็นเม็ดเงิน 1,526 ล้านบาท


กสทช.ลุยวางเกณฑ์กำกับดูแล

การมาของ OTT นี้ ทำให้ผู้กำกับดูแลอุตสาหกรรมโทรทัศน์โดยตรง คือคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ต้องรีบหาแนวทางการกำกับดูแล โดยล่าสุดในการประชุมบอร์ดเมื่อวันที่ 24 เมษายนก็ได้หารือกันถึงเรื่องนี้ 

ซึ่ง พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการ กสทช. และประธานกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) กล่าวว่า ประเด็นหลักที่หารือเกี่ยวกับ OTT คืออยากให้การแพร่ภาพและออกอากาศเนื้อหาเป็นไปตามความเหมาะสม เพราะมีผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล แจ้งมาว่าได้รับผลกระทบจากบริการ OTT เพราะเข้ามาไม่เป็นธรรม เกี่ยวพันกับการละเมิดลิขสิทธิ์ ฉะนั้น กสทช.จึงต้องเข้าไปกำกับดูแล โดยคาดว่าแนวทางการกำกับดูแลจะชัดเจนในเดือนกรกฎาคมนี้

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ขยายความว่า OTT คือ ธุรกิจที่ใช้ความสามารถของแอพพลิชั่นผนวกเข้ากับการใช้ช่องทางการสื่อสารในธุรกิจโทรคมนาคมและอุตสาหกรรมกระจายเสียงแพร่ภาพ อาทิ ไลน์ เฟซบุ๊ก และยูทูบ เป็นต้น ทำให้มีผลกระทบกับอุตสาหกรรมโทรคมนาคม เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ไม่ได้เป็นเจ้าของโครงข่ายสื่อสาร แต่ใช้แอร์ไทม์ของผู้ให้บริการในการทำธุรกิจ โดยไม่ได้มีการแบ่งส่วนแบ่งรายได้หรือหักภาษี อีกทั้งเงินรายได้จากการทำธุรกรรมที่เกิดขึ้นของผู้ประกอบการหลายราย ไหลออกไปต่างประเทศซึ่งเป็นที่ตั้งของบริษัทเหล่านั้น ทำให้ประเทศไทยสูญเสียรายได้จากภาษีไปจำนวนมาก แม้การทำธุรกรรมของผู้ซื้อและผู้ให้บริการอยู่ในประเทศไทยก็ตาม


ทีวีดิจิทัลเจอคู่แข่งรายใหม่

นายสุภาพ คลี่ขจาย นายกสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิทัล (ประเทศไทย) กล่าวว่าการที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้มาตรา 44 มาช่วยขยายเวลาการจ่ายค่างวดออกไปก็ช่วยให้สถานการณ์ทีวีดิจิทัลดีขึ้นเล็กน้อย แต่ภาพรวมก็ยังขาดทุนกันอยู่ เพราะแม้ผ่านพ้นช่วงวิกฤตด้านเศรษฐกิจไปแล้ว แต่ล่าสุดก็ต้องมาเจอกับปัญหาใหม่คือการมาของ OTT เพราะผลจากเทคโนโลยีนี้ทำให้ยอดคนดูบนหน้าจอโทรทัศน์น้อยลงกว่าการดูผ่านมือถือหรือคอมพิวเตอร์ ซึ่งบางรายการจะพบว่ามีคนดูผ่านโทรศัพท์มือถือกว่า 1 ล้านคน แต่ดูผ่านหน้าจอโทรทัศน์เพียง 500,000 เท่านั้น

เพราะการดูผ่านอินเตอร์เน็ตสามารถดูที่ไหนเวลาไหนก็ได้ ดูสดๆ หรือย้อนหลังในเวลาที่สะดวกก็ได้ แต่ในมุมของผู้ประกอบการโทรทัศน์ แม้จะดูรายการผ่านอินเตอร์เน็ต แต่โฆษณาบนหน้าจอทีวีนั้นไม่ได้ตามไปในอินเตอร์เน็ตด้วย ทำให้คนดูไม่ได้ดูโฆษณา เมื่อคนดูผ่านอินเตอร์เน็ตมากขึ้น คนซื้อโฆษณาก็เปลี่ยนไปตามกลุ่มคนดูด้วย ทำให้เม็ดเงินโฆษณาไหลออกจากอุตสาหกรรมโทรทัศน์ เพราะเงินของผู้ซื้อโฆษณาเป็นงบก้อนเดียวกัน


ไม่เป็นธรรมแบกต้นทุนเพียบ

“ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล เห็นด้วยกับการมาของเทคโนโลยีใหม่นี้ แต่ก็ถือว่าสร้างความไม่เป็นธรรมด้วยเช่นกัน เพราะเป็นคู่แข่งของอุตสาหกรรมโทรทัศน์โดยตรงแถมไม่มีภาระค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ขณะที่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ต้องแข่งกันประมูลคลื่นความถี่มาในราคาแพง ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปี อยู่ภายใต้การกำกับเนื้อหาจาก กสทช. แถมยังต้องมาแข่งขันแย่งชิงคนดูกัน จึงเหมือนสึนามิอีกลูกที่ถาโถมมายังทีวีดิจิทัล”

นายสุภาพบอกว่า ผู้ประกอบการก็ไม่ได้โทษใคร เพราะถ้า กสทช.รู้ก่อนก็คงไม่ออกแบบการประมูลและการกำกับกับดูแลเช่นนี้ ถ้าผู้เข้าประมูลรู้ก่อนก็คงมีการประเมินความคุ้มค่าในการประกอบธุรกิจใหม่ อาจทำให้มีผู้เข้าประมูลน้อยลง หรือมูลค่าการประมูลอาจไม่สูงเท่านี้ แต่เมื่อไม่ได้เป็นแบบนั้นสิ่งที่ต้องทำคือต้องหาทางออกร่วมกัน โดยหลังจากนี้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลอาจต้องประชุมร่วมกัน หรือจัดสัมมนา รวมทั้งอาจจะขอปรึกษากับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ในฐานะที่เคยเป็นที่ปรึกษา กสทช. ในการออกหลักเกณฑ์การให้ใบอนุญาตทีวีดิจิทัล เพื่อที่จะช่วยกันหาทางฝ่าฟันผลกระทบครั้งนี้ไปให้ได้


OTTแปลงวิกฤตเป็นโอกาสได้

นายสิขเรศ ศิรากานต์ นักวิชาการอิสระด้านสื่อดิจิทัลและสื่อใหม่ กล่าวว่า การมาของ OTT เป็นการปรับระบบนิเวศของอุตสาหกรรมโทรทัศน์ใหม่ที่เปลี่ยนธุรกิจทีวีไปอย่างสิ้นเชิง เฉพาะอย่างยิ่งในแง่พฤติกรรมของผู้บริโภค ที่บางกลุ่มเลือกที่จะไม่ดูโทรทัศน์ผ่านหน้าจอในแบบเดิมๆ เพิ่มมากขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีผลโดยตรงต่ออุตสาหกรรมโทรทัศน์ที่มีรายได้หลักจากค่าโฆษณา เพราะเงินในอุตสาหกรรมโทรทัศน์ กับ OTT เป็นกองเดียวกัน มาจากผู้จ่ายเงินซื้อคนเดียวกัน เพราะพบว่าเงินโฆษณาผ่านสื่อในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาแทบไม่ได้เพิ่มขึ้น ยังคงอยู่ที่ราว 100,000 ล้านบาทมาโดยตลอด

อย่างไรก็ตามก็ใช่ว่า OTT จะเข้ามาทำลายธุรกิจทีวีดิจิทัลแต่เพียงอย่างเดียว แต่ในวิกฤตก็ยังมีโอกาส อยู่ที่ว่าใครมีจุดคิด หรือแนวคิด เข้าใจบริบทของเทคโนโลยีเหล่านี้ได้ดีกว่ากัน จนสามารถสร้างประโยชน์ให้แก่ตนได้ ตัวอย่าง คือ ช่องเวิร์คพ้อยท์ ทีวี ได้อาศัยช่องทางอินเตอร์เน็ต ยูทูบและเฟซบุ๊ก ในการออกอากาศ “The Mask Singer” คู่ขนานไปกับหน้าจอโทรทัศน์ และเปิดให้ดูย้อนหลัง ทำให้สร้างปรากฏการณ์คนดูถล่มทลาย สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตนเองได้ จึงนับว่าเป็นความท้าทาย เวทีนี้ขึ้นอยู่กับว่าใครจะเป็นโอกาสหรือเป็นคู่แข่ง!


กำกับดูแล OTT โจทย์ใหญ่ กสทช.

แนวทางกำกับดูแล OTT ที่ กสทช.กำลังเร่งทำอยู่ในขณะนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อยว่า ที่สุดแล้วจะออกมาในรูปแบบใด เพราะทั่วโลกเองก็มีทั้งไม่กำกับดูแล หรือประเทศที่กำกับดูแลก็ยังแบ่งเป็นหลายแบบคือ กำกับดูแลแบบออกใบอนุญาต มีการเสียภาษี และกำกับดูแลแบบดูแค่การจัดเรตติ้ง ความเหมาะสมของเนื้อหา 

“เวลานี้โจทย์ใหญ่ของ กสทช.มี 5 ข้อ คือ 1.การจำกัดความให้ชัดเจนว่าอะไรหรือใครเข้าข่ายเป็น OTT บ้าง 2.จะรับมือกับเทคโนโลยีที่ยังไม่อิ่มตัวที่ยังคงมีเรื่องใหม่ๆ เข้ามารวดเร็วอย่างไร 3.จะแยกผู้ประกอบการ กับประชาชนทั่วไปที่อัพคลิปอัพวิดีโอลงโลกออนไลน์ได้อย่างไร 4.เรื่องรายได้ การจัดเก็บภาษี ลิขสิทธิ์ ใบอนุญาต การจดทะเบียนการค้า ทำโดยใครอย่างไร และหากผู้ให้บริการเป็นของต่างชาติจะดำเนินการอย่างไร และ 5.กฎหมายของ กสทช.มีอำนาจเข้าไปควบคุมได้จริงหรือไม่”

นายสิขเรศทิ้งท้ายว่า กสทช.ต้องคิดด้วยว่าจะสร้างความสมดุลในการเข้ามาของ OTT ได้อย่างไร การเข้าไปกำกับดูแลจะเป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรมในไทยจริงหรือไม่ เพราะหากกำกับดูแลอย่างเข้มข้นก็เสี่ยงต่อเรื่องความคิดสร้างสรรค์ของผู้ผลิตคอนเทนต์เช่นกัน

ดูความเห็นของหลายภาคส่วนแล้ว พออนุมานได้ว่าการมาของเทคโนโลยีใหม่ที่กระทบต่ออุตสาหกรรมโทรทัศน์เช่นนี้ ก็อยู่ที่ว่าใครจะปรับตัวรับสถานการณ์หรือพลิกวิกฤตเป็นโอกาสสู่ทางรอดได้ดีกว่ากัน!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image