โชว์ศักยภาพนักวิจัยไทยผลิต ‘เครื่องสแกนฟัน 3 มิติ’ ติดตั้งแล้ว ‘สถาบันทันตกรรม’

เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงานและสักขีพยานในการลงนามระหว่างกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(วท.) เพื่อร่วมผลักดันผลงานวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมไทยสู่การใช้งานจริง โดยมี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(วท.) และศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้

พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ต้องการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมของไทยไปขับเคลื่อนประเทศ สำหรับการลงนามในครั้งนี้เป็นการเอาผลงานวิจัยสำคัญมาใช้ประโยชน์ อย่างเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ทางทันตกรรม(Dentiiscan) หรือเครื่องเดนตีสแกน ซึ่งเป็นการเครื่องสแกนทันตกรรมแบบ 3 มิติ ซึ่งพัฒนามาจากรุ่น 1.1 โดยล่าสุดเป็นเวอชั่น 2.0 ซึ่งผลิตโดยนักวิจัย สวทช. ที่มีการใช้รังสีต่ำมาก แต่สามารถสแกนโครงหน้าของเราได้แบบ 3 มิติ เพื่อให้ทันตแพทย์และผู้ป่วยเห็นภาพได้อย่างชัดเจนในการรักษาพยาบาล และในอนาคตจะมีการนำผลงานที่อยู่ในบัญชีนวัตกรรมไทยและสิ่งประดิษฐ์ไทยมาใช้ประโยชน์อีก ซึ่งตรงนี้จะช่วยเพิ่มงานวิจัยไปสู่เชิงพาณิชย์ที่มีไม่ถึงร้อยละ 5 ให้เป็นร้อยละ 10 ภายในปี 2560 อย่างไรก็ตาม หากไทยใช้นวัตกรรมฝีมือคนไทยเอง โดยเฉพาะเครื่องมือแพทย์จะลดการนำเข้าได้ร้อยละ 10-30 หรือ 15,000 ล้านบาท

นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายให้จัดทำบัญชีนวัตกรรมไทย และบัญชีสิ่งประดิษฐ์ไทย ซึ่งมอบหมายให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดย สวทช.และ วช. ร่วมกับสำนักงบประมาณปรับปรุงระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ให้สามารถจัดซื้อจัดจ้างสินค้า หรือบริการตามรายการบัญชีนวัตกรรมของไทยผ่านวิธีกรณีพิเศษ สธ.มีนโยบายสนับสนุน ร่วมผลักดันการใช้นวัตกรรมไทย ผลิตโดยคนไทยมาใช้ในทางการแพทย์ ล่าสุดจึงลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการใช้ผลงานวิจัยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ทางทันตกรรม ของสวทช. ติดตั้งที่สถาบันทันตกรรม ช่วยให้ทันตแพทย์มองเห็นโครงสร้างช่องปากและขากรรไกร ของผู้ป่วยแบบ 360 องศา ลดความผิดพลาดในการผ่าตัดในช่องปากของผู้ป่วย อย่างการรักษารากฟันเทียมก็สามารถใช้ได้ ซึ่งนวัตกรรมนี้มีราคาถูกกว่านำเข้าต่างประเทศ

Advertisement

“ ส่วนรังสีที่ออกมานั้น หลายคนอาจกังวลว่าจะมีผลกระทบหรือไม่ จริงๆแล้วจากข้อมูลที่ผ่านมาพบว่าเมื่อเทียบกับเครื่องซีทีสแกนแล้ว เครื่องนี้กระจายรังสีต่ำที่สุด และยังได้รับมาตรฐานISO 13485” นพ.ปิยะสกล กล่าว และว่า ทั้งนี้ นอกจากติดตั้งที่สถาบันทันตกรรมแล้ว ในปี 2560 จะกระจายไปยังรพ.สังกัดสธ. 4 แห่ง มีรพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ รพ.แพร่ รพ.สกลนคร และรพ.สุราษฎร์ธานี โดยอีกแห่งเป็นของสภากาชาดไทย คือ รพ.สมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา

เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ทางทันตกรรม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับหลักการทำงานของเครื่องใช้รังสีเอกซ์ที่มีลำรังสีแบบทรงกรวยและฉากรับรังสีชนดแบนราบ ซึ่งตั้งอยู่ตรงกันข้าม โดยอุปกรณ์ทั้งสองจะหมุนไปพร้อมๆกัน รอบผู้ป่วย 1 รอบใช้เวลา 18 วินาที เพื่อเก็บข้อมูลบริเวณช่องปากและขากรรไกรของผู้ป่วย แต่ละมุมมอง แล้วส่งต่อให้ซอฟต์แวร์ประมวลผลสร้างเป็นภาพสามมิติ โดยเครื่องดังกล่าวมีราคาขาย 5,500,000 บาทต่อเครื่อง ขณะที่ต่างประเทศจะมีราคาสูงถึง 10,000,000 บาทต่อเครื่อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image