งานวิจัยใหม่ 2 ชิ้น ชี้ต้นกำเนิดมนุษย์อยู่ในยุโรป

ภาพ-Wolfgang Gerber/ University of Tubingen

งานวิจัยด้านบรรพชีวินวิทยา 2 ชิ้นจากทีมวิจัยนานาชาติซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการ “พลอสวัน” ซึ่งอาศัยเทคนิคใหม่ๆ ในการวิเคราะห์ ซากชิ้นส่วนที่เชื่อกันว่าเป็นของมนุษย์ในยุคโบราณ นำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า แหล่งกำเนิดมนุษยชาติอาจไม่ได้อยู่ในทวีปแอฟริกาอย่างที่เข้าใจกันมาตลอด แต่เป็นพื้นที่ในแถบริมทะเลเมดิเตอเรเนียน ในยุโรป และยังได้ข้อสรุปด้วยว่า การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเป็นสาเหตุสำคัญที่เป็นจุดเริ่มต้นแยกวิวัฒนาการของมนุษย์ออกจากสายวิวัฒนาการของ “เกรท เอพ” หรือ “ลิงใหญ่” อีกด้วย

การศึกษาวิจัยดังกล่าว เป็นการศึกษาวิจัยซากชิ้นส่วน ฟันกรามล่างที่ขุดพบจากกรีซ กับการศึกษา “ฟันกรามน้อย” (พรีโมลาร์) ซึ่งเป็นฟันซี่ที่อยู่ระหว่างเขี้ยวกับฟันกราม ซึ่งขุดค้นพบได้จากประเทศบัลแกเรีย โดยอาศัยเทคนิคคอมพิวเตอร์โทโมกราฟี ที่สามารถช่วยให้เห็นโครงสร้างของรากฟันได้ แสดงให้เห็นว่าชิ้นส่วนฟอสซิลดังกล่าวซึ่งคำนวณอายุย้อนหลังไปได้มากถึง 7.2 ล้านปี ไม่ได้เป็นของมนุษย์สายพันธุ์ไหน แต่น่าจะเป็นสายพันธุ์ที่ค้นพบใหม่ ซึ่งถูกเรียกว่า “เกรโคพิเธคัส เฟรย์แบร์ยี” ซึ่งน่าจะเป็นสิ่งมีชีวิตในยุคก่อนกำเนิดมนุษย์ (พรี-ฮิวแมน) ซึ่งเรียกกันในทางวิชาการว่า “โฮมินิด”

การที่ซากฟอสซิลดังกล่าวอายุสูงถึง 7.2 ล้านปี ทำให้มีอายุเก่าแก่กว่าซากฟอสซิลมนุษย์โฮมินิดที่เก่าแก่ที่สุดที่ค้นพบกันมาก่อนหน้านี้ที่ประเทศชาดมากถึงหลายแสนปีทีเดียว

ศาสตราจารย์เดวิด เบกุน นักวิชาการด้านบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยโตรอนโต ประเทศแคนาดาและ แมเดอเลน โบห์เม ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเทอบิงเกน ประเทศเยอรมนี ผู้ร่วมเขียนรายงานวิจัยดังกล่าวเปิดเผยด้วยว่า จากการศึกษาสภาวะแวดล้อมย้อนหลังไปในยุคบรรพกาลพบหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า ในช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่มนุษย์สายพันธุ์ใหม่มีชีวิตอยู่นั้น เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมอย่างหนัก เกิดภาวะแล้งจัด พร้อมไฟไหม้พืชพรรณต่างๆ ซึ่งเชื่อว่าเป็นการบีบบังคับกลายๆ ให้สัตว์จำพวกลิงใหญ่ในพื้นที่ดังกล่าววิวัฒนาการแตกต่างออกไปจากเดิม และเป็นจุดเริ่มต้นของมนุษยชาติในเวลาต่อมา

Advertisement

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการด้านบรรพชีวินวิทยาหลายรายชี้ว่า งานวิจัยดังกล่าวนี้ไม่ได้มีหลักฐานที่เป็นฟอสซิลมนุษย์ (เช่น โครงกระดูกขนาดใหญ่ส่วนอื่นๆ) มาเป็นเครื่องยืนยัน ในขณะเดียวกัน การอ้างถึงการเปลี่ยนสภาวะแวดล้อมในช่วงเวลาใกล้เคียงกันว่าเป็นจุดแยกวิวัฒนาการก็เป็นเพียงข้อสันนิษฐาน

จึงยังไม่สามารถปักใจเชื่อได้ว่า ยุโรปเป็นพื้นที่เริ่มต้นวิวัฒนาการมนุษย์ได้นั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image