ผู้ว่าฯแพร่ เข้าปลูกต้นไม้ ฟื้นฟูป่าหลังขอคืนพื้นที่จากธรรมกาย

จังหวัดแพร่ใช้ขบวนการประชารัฐ เข้าปลูกต้นไม้ ฟื้นฟูป่าหลังขอคืนพื้นที่จาก ธรรมกาย

เวลา 09.00 น.วันที่ 29 พฤษภาคม นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ พร้อมด้วยนายไพศาล สถิตวิบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 นายชัยวรรณ นิยม นายอำเภอวังชิ้น พร้อมทั้งผู้แทนพระสงฆ์ นักเรียน และประชาชนโดยทั่วไปร่วมกิจกรรมปลูกป่า ปล่อยสัตว์ป่าและทำฝายชลอน้ำ เนื่องในวันต้นไม้แห่งชาติ บริเวณหน่วยฟื้นฟูต้นน้ำเวียงโกศัย 2 ห้วยแม่สิน ในอุทยานแห่งชาติเวียงโกศัย บ้านแม่จอก หมู่ 5 ต.แม่ป้าก อ.วังชิ้น จ.แพร่ จำนวน 20 ไร่ โดยใช้ต้นไม้ป่าที่มีสายพันธุ์ท้องถิ่น อาทิ ไม้สัก ยางนา ตะแบก ยมหิน ฯลฯ จำนวน 4,000 ต้น ร่วมกันปลูกร่วมกันปลูกและยังทำการปล่อยไก่ป่า นกประหลอดหัวโขน ซึ่งเป็นสัตว์ในท้องถิ่นกลับคืนสู่ป่า ชนิดละ 20 ตัว

พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติเวียงโกศัย แต่ที่ผ่านมาวัดพระธรรมกายได้เข้ามาใช้พื้นที่ สร้างอาคารถาวรขนาดใหญ่ กว่า 3 แห่งพร้อมทั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงบริเวณแห่งนี้ ซึ่งขณะนี้ทางกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าแม่พันธุ์พืชได้ทำการขอคืนพื้นที่แล้ว และทำการปลูกไม้เสริมในจุดที่ถูกทำลายพร้อมทั้งฟื้นฟูลุ่มน้ำให้กับอยู่ในสภาพตามธรรมชาติ ส่วนอาคารขนาดใหญ่ ยังไม่ได้ทำการรื้อถอน เนื่องจากเป็นทรัพย์สินของวัดซึ่งถ้าทางวัดไม่รื้อถอนออกไปทางอุทยานฯ อาจทำเรื่องขอใช้เป็นสมบัติของอุทยานแห่งชาติเวียงโกศัยต่อไป

นายไพศาล สถิตวิบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 กล่าวว่า ทางอุทยานได้ขอคืนพื้นที่หมดแล้วแต่ อาคารที่มีอยู่เป็นทรัพย์สินของสำนักสงฆ์ จะให้สำนักสงฆ์เป็นผู้พิจารณาว่ายังใช้ประโยชน์อยู่หรือไม่ ถ้าไม่ได้ใช้ประโยชน์ จะให้ทางราชการไปใช้ประโยชน์ในเรื่องการบริหารจัดการต่อไป ในส่วนของพื้นที่ได้ยึดคืนหมดแล้ว วันนี้เป็นที่น่ายินดี ที่มีประชาชนโดยเฉพาะผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ เดินทางมาร่วมกิจกรรมด้วยตนเองในการปลูกป่าฟื้นฟูพื้นที่ให้กลับมาเป็นป่าเหมือนเดิม

Advertisement

นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่กล่าวว่า ขณะนี้มีการคืนพื้นที่ให้กับป่าในทุกอำเภอโดยเฉพาะที่ อ.วังชิ้น มีการคืนพื้นที่หลายแหล่งซึ่งคืนแล้วก็ควรที่จะเร่งฟื้นฟูต่อไป ซึ่งสภาพของป่าในจังหวัดแพร่ยังมีปริมาณมาก จากการสำรวจล่าสุดเป็นอันดับ 5 ของประเทศที่ยังคงมีความหนาแน่นของป่า ซึ่งการคืนพื้นที่ก็จะใช้วิธีการมีส่วนร่วมทำงานร่วมกันกับชุมชนเพื่อให้การฟื้นฟูป่าได้เร็วที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image