“ครม.”ผ่านฉลุยไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ระดมทุนสร้าง2ทางด่วนมูลค่ากว่า4หมื่นล.

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังจากการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ว่า ที่ประชุมครม.ได้เห็นชอบร่างบันทึกความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ด้านระบบราง ระหว่างกระทรวงคมนาคมของไทย และกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งและการท่องเที่ยวของประเทศญี่ปุ่น เพื่อใช้ในการลงนามในการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมระดับสูงไทย – ญี่ปุ่น ครั้งที่ 3 ในวันที่ 5 มิถุนายน 2560 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยมีสาระสำคัญ คือ 1.การพัฒนารถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ – เชียงใหม่ ซึ่งจะใช้เทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูง (ชินคันเซ็น) ของประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งใช้รางเฉพาะตลอดเส้นทาง แบ่งการดำเนินการออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ช่วงกรุงเทพฯ – พิษณุโลก และช่วงพิษณุโลก – เชียงใหม่ โดยจะเริ่มดำเนินการในช่วงกรุงเทพฯ – พิษณุโลก ก่อน ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไป และสรุปผลการศึกษาฉบับสุดท้าย คาดว่าจะแล้วเสร็จ ภายในปี 2560 โดยครั้งนี้จะได้หารือรายละเอียดการออกแบบเส้นทางช่วงบางซื่อ – บ้านภาชี รวมถึงการพัฒนาเมืองและพื้นที่เชิงพาณิชย์ตามแนวเส้นทางรถไฟ

นายอาคม กล่าวว่า 2.การพัฒนาเส้นทางรถไฟตามแนวเศรษฐกิจด้านใต้ (ด่านพุน้ำร้อน – ด่านอรัญประเทศ) ทั้ง 2 ประเทศยินดีกับผลการวิเคราะห์และข้อเสนอแนะการศึกษาขององค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า) ตามเอ็มโอยูที่ได้ลงนามร่วมกัน เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจ รวมถึงการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน 3.การให้บริการขนส่งสินค้าทางรถไฟ โดยการตั้งคณะทำงานเพื่อหารือรายละเอียดในการดำเนินการให้บริการรถไฟรูปแบบใหม่ 4. การพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก – ตะวันตก โดยฝ่ายไทยจะเป็นผู้ศึกษาเส้นทางรถไฟช่วงบ้านไผ่ – มุกดาหาร – นครพนม ส่วนไจก้าจะเป็นผู้ศึกษาช่วง บ้านไผ่ – นครสวรรค์ –แม่สอด

นายอาคม กล่าวว่า 5.ระบบการขนส่งมวลทางราง ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงบางซื่อ – รังสิต ซึ่งใช้เงินกู้ และเทคโนโลยีจากญี่ปุ่น ก็ต้องเร่งรัดให้สามารถเดินหน้าได้ตามกำหนด 6.แผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ระยะที่ 2 โดยทางญี่ปุ่นให้การสนับสนุนให้เรื่องของการศึกษา ภายในเดือนมีนาคม 2561 7.การพัฒนาพื้นที่สถานกลางบางซื่อ ทางญี่ปุ่นจะข้อเสนอแนะต่อแผนแม่บทแบบบูรณาการ โดยจัดทำการศึกษา เพื่อวิเคราะและเสนอแนวคิดการพัฒนาพื้นที่สถานีกลางบางซื่อให้เป็นศูนย์กลางการขนส่งทางรถไฟ รวมถึงการบูรณาการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์โดยรอบ

นายอาคม กล่าวว่า ที่ประชุมครม. ยังได้เห็นชอบ การระดมทุนผ่านกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตของประเทศไทย (ไทยแลนด์ ฟิวเจอร์ฟันด์) หรือ ทีเอฟเอฟ ตามข้อเสนอของกระทรวงการคลัง โดยใช้โครงการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)จำนวน 2 โครงการ คือ คือ โครงการทางพิเศษฉลองรัช (รามอินทรา –อาจณรงค์) และโครงการทางพิเศษบูรพาวิถี(บางนา-ชลบุรี) มาใช้ระดมทุนเพื่อนำไปก่อสร้างโครงการทางด่วนพิเศษ พระราม 3-ดาวคะนอง วงแหวนรอบนอกกรุงเทพด้านตะวันตก มูลค่า 30,437ล้านบาทและ โครงการทางด่วนขั้นที่ 3ในเส้นทางเอ็น 2 (เกษตรนวมินทร์)มูลค่า 14,382 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 44,819 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าภายใน 2 สัปดาห์นี้กระทรวงคมนาคมจะสามารถเสนอรายละเอียดของโครงการทั้ง 2 โครงการให้ ครม. พิจารณาอนุมัติเพื่อดำเนินการสู่กระบวนการประกวดราคาได้ ทั้งนี้หากเกิดปัญหาจนกระทรวงการคลัง ไม่สามารถระดมทุนเพื่อนำเงินมาก่อสร้างโครงการดังกล่าวมาได้ทัน เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบแต่อย่างใด เพราะกระทรวงคมนาคมสามารถกู้เงินมาใช้ก่อนได้

Advertisement

นายอาคม กล่าวว่า นอกจากนี้ที่ประชุม ได้เห็นชอบขยายการอบวงเงินงบประมาณและระยะเวลาก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณโครงการก่อสร้างทางเลี่ยงเมืองแม่สอด และสะพานข้ามแม่น้ำเมยแห่งที่ 2 จ.ตาก ของกรมทางหลวง(ทล.) เพิ่มขึ้น 367.57 ล้านบาท จากเดิมอยู่ที่ 3,900 ล้านบาท เป็น 4,267.57 ล้านบาท เป็นผลมาจากค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้น 167 ล้านบาท จากเดิมอยู่ที่ 3,600 ล้านบาท และค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินเพิ่ม 200 ล้านบาท เดิมอยู่ที่ 300 ล้านบาท รวมทั้งขยายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณงานก่อสร้างอาคารด่านที่แม่สอด จากปี 2558- 2560 เป็นปีงบประมาณ 2558-2562 เนื่องจากโครงการมีความซับซ้อนมาก โดยเฉพาะงานก่อสร้างหลัก งานภูมิปัตย์ รูปแบบเน้นแสดงเอกลักษณ์แต่ละประเทศเป็นงานที่มีความละเอียดจึงมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนจากการดำเนินงานเองเป็นงานจ้างเหมา และทล. ได้คำนวณราคากลางงานก่อสร้างแล้วส่งผลให้วงเงินเพิ่มขึ้น 167.57 ล้านบาท ทำให้การก่อสร้างอาคารด่านมีวงเงินก่อสร้างเพิ่มเป็น 1,187.57 ล้านบาท จากเดิมอยู่ที่ 1,020 ล้านบาท คาดว่างานก่อสร้างจะแล้วเสร็จในปี 2562

“ การก่อสร้างถนนมีความคืบหน้า 80% สะพานที่เชื่อมระหว่างไทยและเมียนมาเสร็จเรียบร้อยแล้ว ที่ยังขาดอยู่คืออาคารด่านยังไม่แล้วเสร็จ และขณะนี้ทางพม่าได้เริ่มส่งมอบพื้นที่เพื่อให้ก่อสร้างอาคารด่านแล้ว ซึ่งเชื่อว่าหากก่อสร้างเสร็จจะช่วยลดความแออัดบริเวณด่านแม่สอดและทำให้การขนส่งสินค้าระหว่างประเทศมีความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น”นายอาคม กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image