กรมป่าไม้สั่งระงับสร้างสนามบินแห่งใหม่พังงา เขตพื้นที่ป่าสงวน ตั้งกก.สอบกราวรูด-เด้งผอ.สำนักฯที่12

พื้นที่บริเวณคลองมะพร้าว

กรมป่าไม้ สั่งระงับการก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองมะพร้าว 2 พันไร่ที่ จ.พังงา พร้อมเด้ง ผอ.สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ ที่ 12 สาขากระบี่ ที่ดูแลพื้นที่ 3 จังหวัดคือ กระบี่ ภูเก็ต พังงา พ้นพื้นที่ หลังกระทรวงทรัพยากรฯ ตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงผู้เกี่ยวข้องกราวรูด

เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวด ล้อม(ทส.) ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการขอจัดตั้งสนามบินภายในประเทศและต่างประเทศของบริษัทเอกชนด้านการบินในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองมะพร้าว ต.ลำแก่น อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา เนื้อที่ 2,000 ไร่ เนื่องจากข้อมูลจากการตรวจสอบสภาพพื้นที่การขอใช้ประโยชน์ระหว่างเจ้าหน้าที่ป่าไม้และตัวแทนของบริษัทเอกชนด้านสายการบินกับข้อมูลของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ไม่ตรงกัน โดยข้อมูลของเจ้าหน้าที่ป่าไม้กับและตัวแทนของบริษัทเอกชนด้านสายการบิน ระบุว่า พื้นที่ขออนุญาติสร้างสนามบิน ตั้งในพื้นที่บ้านดินแดง หมู่ที่ 4 ต.ลำแก่น อ.ท้ายเหมือง อยู่ในขตป่าสงวนฯ ป่าคลองมะพร้าวทั้งแปลง เนื้อที่ 1,915 ไร่ 2 งาน 32 ตารางวา ไม่มีสภาพเป็นพื้นที่ป่าแล้ว และเห็นควรอนุญาติให้ใช้พื้นที่ และกรมป่าไม้ ได้มีหนังสือถึง จ.พังงา ให้แจ้งบริษัทเอกชนด้านการบิน ให้จัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ขณะที่ข้อมูลของ สตง.กลับระบุว่า พื้นที่ก่อสร้างสนามบิน มีป่าชายเลนและการกระจายของป่าชายเลนตามมติ ครม. วันที่ 22 ส.ค.2543 และวันที่ 17 ต.ค.2543 จำนวน 9,895.25 ไร่ และพื้นที่สภาพป่าชายเลน 6,910.98 ไร่ จึงยังไม่ชัดเจนว่ารายงานผลการตรวจสอบของคณะเจ้าหน้าที่ป่าไม้และบริษัทเอกชนด้านสายการบินเป็นจริงหรือไม่ จึงควรทบทวนและพิจารณาการขออนุญาติเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติฯ ของบริษัทเอกชนด้านการบินซึ่งเป็นบริษัทเอกชนเพียงแห่งเดียว เพื่อเป็นการรักษาและป้องกันไม่ให้มีการทำลายป่าชายเลนของประเทศ ดังนั้น แต่งตั้งให้นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา รองปลัดกระทรวงทรัพยากรฯ เป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จ ให้เสร็จสิ้นภายใน 7 วัน

นายวิจารย์ กล่าวว่า พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรี ทส.สั่งการให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าการสร้างสนามบนเกิดขึ้นได้อย่างไร เกี่ยวข้องกับใครบ้าง ขั้นตอนการขอสร้างเป็นมาอย่างไร ถ้าพบความผิดเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ต้องมีการตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรงต่อไป เพราะการขอใช้ประโยชน์เพื่อสร้างสนามบินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เป็นเรื่องใหญ่ต้องละเอียดรอบคอบ ที่สำคัญ สตง.ได้มีการตรวจสอบและพบว่าพื้นที่ขอใช้ประโยชน์น่าจะมีผลกระทบกับป่าชายเลน รวมทั้งการให้เอกชนเพียงรายเดียวใช้ประโยชน์และเป็นโครงการขนาดใหญ่จะขัดกับ พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในการกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 หรือไม่ และที่สำคัญการตรวจสอบพื้นที่ป่าที่จะมีการขออนุญาติ จำนวน 2 พันไร่ทำโดยละเอียดหรือไม่

วันเดียวกันผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายชลธิศ สุรัสวดี อธิบดีกรมป่าไม้ มีคำสั่งย้ายนายบุญสืบ สมัครราช ผอ.สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ ที่ 12 สาขากระบี่ ที่ดูแลพื้นที่ 3จังหวัดคือ กระบี่ ภูเก็ตและพังงา ไปเป็น ผอ.ส่วนอำนวยการ สำนักป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า และให้นายธนัช เนมีย์ นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ ส่วนจัดการป่าชุมชน ไปเป็น ผอ.สำ นักจัดการทรัพยากรป่าไม้ ที่ 12 สาขากระบี่

Advertisement

นายชลธิศ กล่าวว่า การย้ายนายบุญสืบ พ้นจากตำแหน่งและให้ออกนอกพื้นที่เพื่อให้การสอบข้อเท็จจริงของกระทรวงฯ เป็นไปอย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันกรมป่าไม้ ได้ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงการอนุญาติใช้ประโยชน์ในป่า สงวนฯ ด้วยมีนายสมศักดิ์ เร่งเพียร ผู้ตรวจราชการกรมป่าไม้เป็นประธาน ส่วนการขออนุญาติสร้างสนามบินในเขตป่าสงวนฯ ป่าคลองมะพร้าว ต.ลำแก่น อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา เนื้อที่ 2,000 ไร่ ของบริษัทเอกชนด้านสายการบินให้ระงับไว้ก่อน เพราะเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องใหญ่ กรมป่าไม้ต้องทำหนังสือสอบถามถึงความจำเป็นในการมีสนามบินแห่งใหม่ไปที่กระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับหนังสือที่ สตง.ส่งถึง พล.อ.สุรศักดิ์ ระบุว่า สตง.ได้ตรวจสอบพบความผิดปกติของการอนุญาติให้ใช้ประโยชน์ในป่าสงวนฯ ป่าคลองมะพร้าวและขอให้มีการทบทวนการขออนุญาติเข้าทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนฯ ของบริษัทเอกชนด้านสายการบิน เพราะพื้นที่การขออนุญาติใช้ทำประโยชน์สร้างสนามบินที่แบ่งเป็นทางขึ้นลง 1,023 ไร่ 2 งาน 04 ตารางวาและพื้นที่ใช้สอย 892 ไร่ 28 ตารางวาอยู่ในป่าสงวนฯ และมีพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นป่าชายเลนรวมทั้งยังมีปัญหาอื่นๆ ที่สำคัญ บริษัทเอกชนด้านสายการบินที่ขอ ยังเป็นเอกชนเพียงแห่งเดียวเท่านั้นที่ขออนุญาติเข้าทำประโยชน์ ซึ่งหากพิจารณาว่ามีความจำเป็น เหมาะสม คุ้มค่าและเกิดประโยชน์ในภาพรวมต้องเปิดกว้างเพื่อให้เอกชนอื่นที่สนใจได้เข้าร่วมคัดเลือกด้วยเพื่อให้รัฐได้ประโยชน์สูงสุด

นอกจากนี้ สตง.มีความเป็นห่วงที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ที่มีบันทึกในรายงานว่าพื้นที่ขออนุญาติฯ เป็นป่าเสื่อมโทรม หากให้บริษัทเอกชนด้านสายการบิน ใช้พื้นที่ทำสนามบินจะช่วยยับยั้งการบุกรุกยึดถือครอบครองพื้นที่ป่าชายเลนได้ซึ่งความเห็นดังกล่าวน่าจะขัดกับอำนาจหน้าที่ของกรมป่าไม้ ที่มีหน้าที่โดยตรงในการป้องกันรักษาป่า ควบคุมดูแล ป้องกันการบุกรุกทำลายป่า โดย สตง.เห็นว่าควรปลูกฝังและให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ตระหนักถึงภารหน้าที่อย่างเคร่งครัด ประกอบกับหากมีป่าเสื่อมโทรม ควรต้องมีการวิเคราะห์ว่าเกิดตามธรรมชาติหรือขาดความเข้มงวดในการปฎิบัติหน้าที่รักษาป่าหรือที่สำคัญเกิดจากความตั้งใจให้เป็นป่าเสื่อมโทรมเพื่อแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบหรือไม่และควรมีมาตรการเข้มงวดเพื่อป้องกันรักษาป่าทุกประเภทให้เป็นสมบัติของแผ่นดินต่อไป

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image