#โอกาสที่เท่าเทียม เพื่อเด็กทุกคน

ทุกคนไม่ว่าจะเกิดมามีฐานะอย่างไร เชื้อชาติไหน ภาษาใด แม้จะแตกต่างกัน แต่สิ่งที่ควรมีเหมือนกันคือ “โอกาสที่เท่าเทียม”

องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ประกาศแต่งตั้ง “เฟรนด์ส ออฟ ยูนิเซฟ” (Friends of UNICEF) คนใหม่ ได้แก่ หนูดี-วนิษา เรซ, ซิโก้-เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง, พีช-พชร จิราธิวัฒน์ และใหม่-ดาวิกา โฮร์เน่ รับหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้แก่เด็กๆ พร้อมเปิดตัวแคมเปญ #โอกาสที่เท่าเทียม หรือ #FightUnfair เรียกร้องให้สังคมไทยหันมาร่วมกันแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำเพื่อให้เด็กทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกัน

โดย Friends of UNICEF ทั้ง 4 ท่าน จะร่วมกันรณรงค์ให้สังคมหันมาให้ความสำคัญในประเด็นต่างๆ เช่น การพัฒนาเด็กปฐมวัย การศึกษาที่เท่าเทียม การปกป้องคุ้มครองเด็กจากความรุนแรง และการพัฒนาสุขภาพและการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของวัยรุ่น พร้อมทั้งยังเชิญชวนคนไทยทุกคนร่วมรณรงค์เรื่องโอกาสที่เท่าเทียมผ่านทางโซเชียลมีเดียอีกด้วย

Advertisement

นายอานันท์ ปันยารชุน ทูตสันถวไมตรี องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทยมาเป็นเวลา 20 ปี กล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียมยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาด้านสุขภาพ การศึกษาและการคุ้มครองเด็กในประเทศไทย โดยข้อมูลจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยในปี 2557 ระบุว่ายังมีเด็กกว่า 2 ล้านคนในประเทศไทยที่มีชีวิตอยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจน

นายโธมัส ดาวิน ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า ความยากจนและความไม่เท่าเทียมกันในสังคมมักทำให้เด็กที่อยู่ในสภาวะเปราะบางขาดโภชนาการที่เหมาะสม ขาดบริการทางสุขภาพ การศึกษา และการปกป้องคุ้มครองซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นต่อชีวิตของพวกเขา เราทุกคนล้วนมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยประกันว่าจะไม่มีเด็กคนไหนในประเทศไทยต้องถูกทิ้งไว้ข้างหลังในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาไปข้างหน้า ผมมั่นใจว่าพลังและความมุ่งมั่นของคุณซิโก้ คุณหนูดี คุณพีช และคุณใหม่จะสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นได้”

เพื่อโอกาสที่เท่าเทียม

Advertisement

สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำเด็กไทย

– 1 ใน 10 ของเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปีในประเทศไทย มีภาวะเตี้ยแคระแกร็น

– มีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีในประเทศไทยเพียงร้อยละ 41 ที่มีหนังสือเด็กอย่างน้อยสามเล่มที่บ้าน

– ด้านส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็ก มีพ่อเพียง 1 ใน 3 คน ที่ทำกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้กับลูก โดยสัดส่วนพ่อที่ทำกิจกรรมร่วมกับลูกยิ่งน้อยลงอีกในครัวเรือนที่ยากจนมาก

– หากพิจารณาระดับการศึกษาของแม่ พบว่ามีความสัมพันธ์กับสุขภาพ พัฒนาการและการศึกษาของลูก ผลสำรวจระบุว่าร้อยละ 24 ของเด็กที่แม่ไม่มีการศึกษาไม่ได้เข้าเรียนในชั้นมัธยมศึกษา

– อัตราการมีบุตรของวัยรุ่น 15-19 ปีในประเทศไทย พบว่าอยู่ที่ 51 คนต่อ 1,000 คน โดยในภาคเหนือมีสัดส่วนสูงที่สุด คือ 72 คน ต่อ 1,000 คน นอกจากนี้ยังพบว่าวัยรุ่นที่มีการศึกษาเพียงชั้นประถมศึกษาให้กำเนิดบุตรสูงมาก คือ 104 คนต่อ 1,000 คน และวัยรุ่นในครัวเรือนยากจนก็ให้กำเนิดบุตรสูงเช่นกัน คือ 82 คนต่อ 1,000 คน

– การอยู่อาศัยของเด็ก พบว่า เด็กอายุต่ำกว่า 17 ปีประมาณ 1 ใน 5 คน หรือราว 3 ล้านคนในประเทศไทยไม่ได้อยู่กับพ่อและแม่ ทั้งๆ ที่พ่อและแม่ยังมีชีวิตอยู่ อัตรานี้สูงสุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและในกลุ่มเด็กที่มาจากครัวเรือนที่ยากจนมาก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image