จี้’สพฐ.-คุรุสภา’เพิ่มทางเลือกพัฒนา ‘ครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น’ ให้ได้ใบอนุญาตฯ

เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน นายอดิศร เนาวนนท์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมา เขต 7 เปิดเผยถึงกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) มีหนังสือเรื่องการอบรมครูผู้ช่วยโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ปีการศึกษา 2559 หลักสูตรเร่งรัด ให้ครูผู้ช่วยโครงการครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่นที่ได้รับการบรรจุไปแล้วโดยใช้หนังสืออนุญาตให้ปฏิบัติการสอนโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูที่ยังไม่ได้อบรมมาตรฐานความรู้วิชาชีพครูของคุรุสภา 9 มาตรฐาน หรือไม่ได้ศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู หรือหลักสูตรปริญญาตรี/โทเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วได้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ให้เข้าอบรมมาตรฐานความความรู้วิชาชีพครูของคุรุสภา 9 มาตรฐานหลักสูตรเร่งรัด โดยครูผู้ช่วยดังกล่าวจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเข้าอบรมมาตรฐานความรู้วิชาชีพครูของคุรุสภา 9 มาตรฐานเองว่า กรณีดังกล่าวสร้างปัญหาให้กับครูผู้ช่วยโครงการครูพัฒนาท้องถิ่น โดยเฉพาะผู้ที่ยังไม่ได้เข้าอบรมมาตรฐานหรือไม่ได้ศึกษาศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตมาก่อน เพราะคุรุสภากำหนดหน่วยอบรมเพียงภาคละ 1 หน่วย และมหาวิทยาลัยที่เป็นหน่วยอบรมไม่สามารถจัดอบรมแบบเร่งรัดได้ เนื่องจากเงื่อนไขของคุรุสภากำหนดให้ 1 หลักสูตรหรือ 1 มาตรฐานต้องใช้เวลาอบรม 60 ชั่วโมง

“อย่างมหาวิทยาลัยราชภัฏ(มรภ.) นครราชสีมา จัดอบรมเฉพาะวันเสาร์และอาทิตย์ ผู้เข้าอบรมต้องอบรมวันละ 6 ชั่วโมง เริ่มอบรมมาตรฐานที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 17 มิถุนายน จบหลักสูตร 9 มาตรฐานวันที่ 3 มิถุนายน 2561 รวมเวลาเกือบ 1 ปี ซึ่งหน่วยอบรมมหาวิทยาลัยอื่นๆ คงไม่แตกต่างกัน ขณะที่ถ้าครูพัฒนาท้องถิ่นกลุ่มนี้ ไปศึกษาในหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยที่เปิดสอนหลักสูตรนี้เกือบทั้งหมดเปิดเรียนภาคแรกเดือนสิงหาคม 2560 ทำให้ผู้ที่จะตัดสินใจเรียนหลักสูตรประกาศนียบัตรไม่แน่ใจว่าจะได้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูทันภายใน 2 ปี และที่สำคัญคือ การกำหนดหน่วยฝึกอบรมเพียงภูมิภาคละ 1 แห่ง ก่อให้เกิดความเดือดร้อนในการเดินทาง ความปลอดภัยในการเดินทางเป็นอย่างมาก อย่างภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีหน่วยอบรมคือ มรภ.นครราชสีมาเพียงแห่งเดียว ครูพัฒนาท้องถิ่นที่อยู่จังหวัดอุดรธานี อุบลราชธานี สกลนคร นครพนม ฯลฯ ต้องเดินทางมาอบรมที่นครราชสีมาทุกสัปดาห์ ก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาอีกมาก” นายอดิศร กล่าว

นายอดิศร กล่าวต่อว่า การอบรมโครงการเร่งรัดดังกล่าว เดิมสพฐ.กำหนดไว้ 3 เดือน แต่ติดขัดเกณฑ์ของคุรุสภา จะทำได้ก็ต่อเมื่อสพฐ.ต้องอนุญาตให้ครูเข้ารับการอบรมต่อเนื่อง 3 เดือนซึ่งอาจกระทบต่อการเรียนการสอนที่โรงเรียน ทั้งนี้ก็ต้องตรวจสอบหน่วยจัดอบรมคือมหาวิทยาลัยว่าสามารถดำเนินการได้หรือไม่ หากไม่ได้ สพฐ.ต้องดำเนินการร่วมกับคุรุสภาเอง ซึ่งอาจใช้หน่วยฝึกอบรมเดิมที่กำหนดไว้แล้ว แต่ใช้วิทยากรจากมหาวิทยาลัยอื่นหรือวิทยากรจาก สพฐ.มาร่วมด้วย นอกจากนี้ สพฐ.ต้องเปิดช่องทางอื่น เช่น กรณีครูพัฒนาท้องถิ่นที่จะเข้าศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครูของมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่เปิดสอนหลักสูตรดังกล่าว และมีการกระจายของมหาวิทยาลัยในพื้นที่ต่าง ๆ มากกว่าหน่วยอบรม โดยให้ สพฐ.อนุญาตให้ผู้สำเร็จการศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตสาขาวิชาชีพครูที่จะเข้าศึกษาในปีการศึกษา 2561 เมื่อสำเร็จการศึกษาซึ่งอาจเกิน 2 ปีไม่เป็นไปตามที่ สพฐ.กำหนดให้มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู โดยให้สามารถยื่นขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูและยื่นต่อได้ ซึ่งที่ผ่านมาตนทราบว่ากรณีแบบนี้ สพฐ.ก็อนุโลมให้อยู่แล้วเพียงแต่อยากให้มีประกาศที่ชัดเจน เพื่อเป็นทางเลือกในการตัดสินใจว่าจะสมัครอบรมหรือสมัครเรียนหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู ตนเห็นใจและเห็นปัญหาของผู้ที่อยู่ไกลหน่วยฝึกอบรมทั้งการเดินทาง ที่พัก ค่าใช้จ่าย ความปลอดภัย ที่สำคัญคือต้องกลับไปสอนนักเรียนอีก จึงขอให้ สพฐ. คุรุสภา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวน หรือปรับเปลี่ยนวิธีการ และให้ความชัดเจนในเรื่องนี้โดยเร็ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image