10 มหา’ลัยเอกชน ปิดแล้ว 84 หลักสูตรไร้มาตรฐาน

เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน นายสุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) นายขจร จิตสุขุมมงคล นายบัณฑิต ทิพากร รองเลขาธิการกกอ. นางอรสา ภาวิมล ผู้ช่วยเลขาธิการกกอ. พร้อมด้วยผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)แถลงข่าวเพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจที่ดีต่อภาพลักษณ์ที่ดีต่อองค์กร โดยนายสุภัทร กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมามีประเด็นการศึกษาหลายเรื่อง ทั้งปัญหาธรรมาภิบาล การจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา หรือการใช้อำนาจหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามมาตรา44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2557 (ฉบับชั่วคราว) เป็นต้น โดยกรณีที่สกอ.ลงไปตรวจสอบข้อมูล พบว่ามี มหาวิทยาลัยเอกชน 10 แห่งจัดการศึกษาไม่เป็นไปตามมาตรฐาน แบ่งเป็น หลักสูตรนอกสถานที่ตั้ง 78 หลักสูตร ใน 5 สถาบัน หลักสูตรในที่ตั้ง 20 หลักสูตร ใน 8 มหาวิทยาลัย ในส่วน 20 หลักสูตรในที่ตั้ง ปิดการเรียนการสอนไปแล้ว 15 หลักสูตร เหลือกอีก 5 หลักสูตร ที่เปิดสอนเฉพาะนักศึกษาที่ยังค้างท่อ และงดรับนักศึกษาในปีการศึกษา 2560 แล้ว ส่วนหลักสูตรนอกสถานที่ตั้ง 78 หลักสูตร ปิดการเรียนการสอนไปแล้ว 72 หลักสูตร ใน 4 สถาบัน เหลืออีก 6 หลักสูตรใน 2 สถาบันอยู่ระหว่างการติดตามความคืบหน้า นอกจากนี้ยังมีมหาวิทยาลัย 1 แห่งที่ปิดหลักสูตรไปแล้ว แต่มาขอเปิดหลักสูตรใหม่ 2 หลักสูตร ซึ่งไม่มีข้อห้าม เพราะเป็นอำนาจของสภามหาวิทยาลัย แต่การเปิดหลักสูตรใหม่จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามเก็ณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับปริญญาตรี ปี2558

นายขจร กล่าวถึง ความคืบหน้าในการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา ว่า ในการประชุมคณะกรรมการข้าราชพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) เมื่อเร็วๆ นี้ได้มีมติเห็นชอบในหลักการในการจัดตั้งกระทรวงดังกล่าว โดยจะทำให้มหาวิทยาลัยมีการบริหารงานที่มีความเป็นอิสระและคล่องตัว ซึ่งทางพ.พ.อ.มีข้อเสนอแนะ ถึงเรื่องการจัดสรรงบประมาณ ว่าจะต้องนำเรื่องการจัดสรรงบฯมาเป็นตัวขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์ในการดำเนินการต่างๆ ของมหาวิทยาลัย ขณะเดียวกันจะต้องให้มหาวิทยาลัยมีการกำหนดทิศทางและยุทธศาสตร์การทำงานที่ชัดเจน เป็นไปตามศักยภาพและความถนัดของแต่ละแห่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image