ความดันโลหิตสูงต้อง‘วัดทุกวัน’ : โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

มติชนฉบับวันอาทิตย์ที่ 7 และ 14 พ.ค. 60 ได้เล่าเรื่องโรคเบาหวาน ความดันโลหิต ในแง่มุมด้านการเกิดโรค อาการแสดง การวินิจฉัย การรักษา การแนะนำปฏิบัติตัวเมื่อเป็นโรค และดูแลรักษาตัวอย่างไรไม่ให้มีโรคแทรกซ้อน อายุยืน ตายช้าที่สุด

ฉบับนี้จะเน้นการส่งเสริมสุขภาพ เฝ้าระวังควบคุมป้องกันโรคกัน ตั้งแต่วัยเด็กๆ เลย เพราะตราบใดเราปล่อยไปรอตอนอายุมากขึ้น 20-30 ปี มาเริ่มทำมันสายเกินไป และก็จะตายไวโดยใช่เหตุ เพราะผู้เขียนได้อธิบายเรื่องท่อยางกับหลอดเลือดของคน ถ้าเราดูแลตั้งแต่หลอดเลือดใสๆ ตะกอนยังไม่มีภาวะหลอดเลือดขุ่นแข็งหรือมีน้อยมาก ผนังหลอดเลือดยังนุ่มยืดหยุ่นง่าย ไม่แข็งไม่เปราะ ขนาดรูหลอดเลือดยังโตอยู่ ปั๊มน้ำหัวใจก็ยังดีแข็งแรง หากเราเริ่มเฝ้าระวัง ส่งเสริมตั้งแต่เด็กวัย teenage (15 ปี) จุดเริ่มต้นและซึ่งสากลเขาใช้อายุ 15 ปี เป็นจุดเริ่มต้น ให้รู้-ตระหนัก-ใส่ใจ-ปฏิบัติจริงเรื่อง “3อ 3ลด” กล่าวคือ 3 อ : ออกกำลังกายทุกวัน วันละ 30 นาที หรืออย่างน้อย 3 วันต่ออาทิตย์ อาหาร : สำคัญมากกินให้ครบ 5 หมู่ ลดหวาน ลดมัน ลดเค็ม อย่างต่อเนื่อง อารมณ์ : สร้างอารมณ์ดี ยิ้มแย้มให้ตัวเองและผู้อื่นเสมอ สร้างโลกแห่งความสุขให้ตัวเรา เพื่อสุขภาพของเรา

3 ลด : ลดอ้วน : ภาวะอ้วน เดี๋ยวนี้เรื่องโรคอ้วนแล้วค่า BMI มีความสำคัญ คนยังอ้วนเท่าใด โรคเบาหวานเกิดได้ง่าย และคอเลสเตอรอลสูง จะแถมเป็นโรคความดันโลหิตสูงอีกด้วย ลด : เหล้า-เป็นตัวปัจจัยเสริมความเสี่ยงให้เกิดโรคเร็วขึ้น แรงขึ้น ของโรคเบาหวาน ความดัน ลด : บุหรี่-เช่นกัน เป็นปัจจัยเสริมทำให้เกิดโรคเบาหวานความดันได้มากขึ้น
สถานการณ์ความดันโลหิตสูง ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่าทั่วโลกมีโรคความดันสูงเกือบ 1,000 ล้านคน 2 ใน 3 ของจำนวนนี้อยู่ประเทศกำลังพัฒนา โดยพบว่าในวัยผู้ใหญ่ของเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทย ประชาชน 1 ใน 3 จะมีความดันโลหิตสูงแต่ละปี

ประชากรในแถบนี้มีผู้เสียชีวิตจากโรคความดันโลหิตสูง 1.5 ล้านคน

Advertisement

สําหรับสถานการณ์ประเทศไทย จากข้อมูลสถิติสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข พบว่า สถานการณ์ป่วยและเข้ารับการรักษาในสถานบริการสาธารณสุขที่ผ่านมา ช่วงเวลา 10 ปี ระหว่างปี พ.ศ 2543-2553 พบว่าอัตราป่วยประชากรแสนคนจะมีอยู่ป่วยโรคความดันโลหิตสูงจาก 259 คน เป็น 1,349 คน ซึ่งถือว่ามีอัตราสูงขึ้นกว่า 5 เท่า (ข้อมูลสำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค) เบาหวาน ความดันโลหิตสูง จึงกลายเป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศไทย

โรคความดันโลหิตสูงก็เป็นโรคที่น่าห่วงมากที่สุด นับเป็นภัยเงียบฆ่าคนตายโดยเลือดเย็น โดยส่วนใหญ่คนเราไม่ค่อยใส่ใจไม่ให้ความสำคัญ ไม่เฝ้าระวังตัวเอง โดยสังเกตตัวเองทุกวันๆ อาจจะบอกได้ว่าทุกชั่วโมง ทุกนาที ของคนเป็นโรคนี้มีอาการเกิดได้ทันที เมื่อต้นปีที่ผ่านมาลงไปเยี่ยมพื้นที่ที่ยังเดินหน้าเรื่องปิงปองจราจรชีวิต 7 สี คือที่ รพ.สต.บ้านเขาดิน อ.แกลง จ.ระยอง และที่ รพ.สิงห์บุรี ผอ.ทั้ง 2 ท่าน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ที่เป็นสมาชิกปิงปองจราจรชีวิต 7 สี ได้พูดคุยกันถอดบทเรียน (KM) เล่าสู่กันฟังจากการทำงานในพื้นที่ รพ.สต. และที่โรงพยาบาล มีปัญหาพูดคุยแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจอยากเล่าสู่กันฟัง

หมอหมวย หรือคุณมัญชุสา มากสุข แห่ง รพ.สต.บ้านเขาดิน และเจ้าหน้าที่รวมทั้ง อสม.มีคำถามว่า …ทำปิงปองจราจรชีวิต 7 สี ดูแลผู้ป่วยทุกหมู่ครบทุกคน โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นรุนแรง คือ สีแดง เกาะติด กัดติด เรื่องการกินยาต้องสม่ำเสมอ ตามแพทย์สั่งโดยเคร่งครัด ควบคุมสร้างสุขภาพให้ชาวบ้านทำหน้าที่ตามที่แพทย์สั่งอบรมไปอย่างสม่ำเสมอด้วย “3อ 3ลด” แต่หมอหมวยชะงักหยุดพักหนึ่งถอนหายใจและบอก อาจารย์หมอคะทำไมยังมีคนไข้ป่วยเป็น Stroke มา รพ.สต.อยู่ทุกอาทิตย์ๆ ละ 1-2 คน ทั้งที่ดูแลดีมากๆ แต่ยังเกิดอยู่ ผู้เขียนดูอาการของเจ๊หมวยและทีม แล้วคล้ายๆ กับแปลกใจว่า ทั้งๆ ทำตามคำแนะนำจากหนังสือแล้วก็ยังมีโรคแทรกซ้อนแล้วก็ติดตามอยู่ต่อเนื่อง ผู้เขียนเองก็เครียด ตั้งสติพยายามนึกถึงว่าเมื่อ 1-2 ปีที่แล้วเราได้ถ่ายทอดกลยุทธ์การดูแลคนไข้สีแดง สีดำ สีเขียวอ่อน ว่าอย่างไร?

Advertisement

เมื่อตั้งสติได้ก็เลยถามหมอหมวยว่า ผู้ป่วยสีแดงที่ป่วยรุนแรง ความดันมากกว่า 180/110 มม.ปรอท เฝ้าระวังวัดความดันอย่างไร รวมทั้งผู้ป่วยเบาหวานด้วยที่เป็นสีแดงถ้าน้ำตาลมากกว่า 183 mg%??

หมอหมวยตอบว่า วัด & เจาะเลือด เดือนละครั้งเท่านั้นเอง ผู้เขียนเลยต้องขอโทษใหญ่เลยว่า ขอให้ปรับการดูแลใหม่ให้มีการวัดความดันทุกวัน หรืออาจจะเป็นวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น โดยเฉพาะรายที่ป่วยรุนแรงสีแดง เพื่อเฝ้าความดันโลหิตสูงจะสามารถสูงขึ้นทันทีได้แต่ละชั่วโมงหรือนาที กรณีถ้าเกิดความโกรธ ความเครียดสุดๆ ตกใจสุด ดีใจสุดๆ จากความดัน 180/110 จะพุ่งขึ้นสูงถึง 220,300 มม.ปรอทได้ ยังส่งผลให้เป็นเส้นเลือดสมองหัวใจตีบหรือแตกได้ทันที

หมอหมวยดีใจ เมื่อได้รับการชี้แจงขานไขรู้สาเหตุแล้วนำไปปรับปรุงแก้ไข ผู้ป่วยที่เป็นสีแดงได้วัดความดันทุกวัน กินยาสม่ำเสมอ 3อ 3ลด ทำเป็นปกติ ให้ความดันลดลงมาน้อยกว่า หรือเท่ากับ 140/90 หรือบางครั้งลงมาถึง 120/90 มม.ปรอทก็มี ซึ่งเป็นสีเขียวเข้ม ควบคุมความดันได้ดีที่สุดให้น้อยกว่า 140/90 แต่ต้องกินยาคุมอาการไว้ตลอดไป

เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2560 ได้มีโอกาสไปเยี่ยม รพ.สต.บ้านเขาดินอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพูดคุยถึงวัตถุประสงค์ที่มาแล้ว อยากติดตามผลการดำเนินงานและเสนอให้มี “ธนาคาร” เครื่องวัดความดันประจำ รพ.สต. คล้ายกับ รพ.สิงห์บุรี ได้ถามว่ามีปัญหาอะไรหรือไม่? ทั้งสองท่านรายงานว่าการดูแลผู้ป่วยสีแดงได้ผลดี วัดความดันทุกวัน กินยาสม่ำเสมอ ผลดีมากลดเป็นสีส้ม เหลือง เขียวเข้ม ตามลำดับ แต่ “อสม.” ก็บ่นกันเจ้าหน้าที่โดยเฉพาะหมอหมวยว่า ท้อใจมากๆ ที่พวกเราได้ดำเนินการเรื่องเฝ้าระวัง ควบคุม ป้องกันโรค เบาหวานความดันอย่างจริงจังด้วยปิงปองจราจรชีวิต 7 สี ทำไมยังมีคนตายจากโรคแทรกซ้อนนี้ทั้ง Stroke, Stemi ไตวาย เดือนละ 1-2 ราย ท้อแท้อยากจะเลิกทำแล้ว

ผู้เขียนเองได้ฟังแล้วถามว่า คนไข้ที่ตายเดือนที่แล้วมีกี่คน อายุเท่าไร ได้ความว่าตาย 2 คน อายุ 60-70 กว่าๆ ทั้ง 2 ราย แล้วเขามีปัจจัยอย่างอื่นอะไรอีกไหม เขาปฏิบัติตามที่ อสม.บอก แต่มีปัญหาทางบ้านที่หนักๆ หรือเปล่าไม่รู้ แต่เขาก็ตอบสั้นๆ ว่าทุกวันนี้การเอาใจใส่ของ อสม.ดีมาก

ผู้เขียนถามหมอหมวยและ อสม.ว่าทั้งหมดนี้เราดูแลได้อย่างสมบูรณ์ทุกอย่างๆ พอใจที่ได้ให้ทุ่มเทเอาใจใส่เต็มแล้วใช่ไหม แต่เราเสียใจว่าทำไมเขายังต้องตายอีกตั้ง 2 คน ซึ่งไม่สมควรตายเลยใช่ไหม รู้สึกเสียดาย เสียใจ ทำไมถึงต้องตายด้วย?

ผู้เขียนได้ยินคำถามเช่นนี้ก็รู้สึกได้ว่า น้องๆ หมออนามัย พยาบาล และ อสม. มีความรัก พันผูกประชาชน ใจที่ ประชาชนของเขาที่ดูแลต้องเสียชีวิต ผู้เขียนเองก็ตั้งสติในการตอบคำถาม โดยระลึกถึงหลวงพ่อแพ แห่งวัดพิกุลทอง และหลวงพ่อจรัญ แห่งวัดอัมพวัน จ.สิงห์บุรี ที่ได้รับอบรมสั่งสอนมาตลอดให้มีสัมมาทิฐิอยู่ 2 ประการ ที่ต้องคำนึงถึงเสมอ คือ 1.ทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้หนีไม่พ้น กฎแห่งกรรม ซึ่งเป็นกฎธรรมชาติว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว กล่าวคือ ถ้าผู้ป่วยดูแลสุขภาพ ปฏิบัติตัวดี ก็จะอายุยืน ถ้าละเลยก็อายุสั้น 2.มนุษย์ที่เกิดมาในโลกนี้หนีไม่พ้นกฎแห่งธรรมชาติของชีวิตเรา คือ ไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทุกอย่างที่เกิดมาหนีไม่พ้น คือ การเกิด แก่ เจ็บ ตาย ร้อยเปอร์เซ็นต์ จึงตัดสินใจพูดให้น้องๆ ร่วมอุดมการณ์ที่ทำงานเพื่อประชาชน ได้ยอมรับความจริงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ว่า “ผู้ป่วยเบาหวานความดัน” ที่เป็นสีแดงที่ยังมีการตายเสียชีวิตอยู่นั้น อยากเรียนว่า โครงการหรือกิจกรรมที่ทำเรื่อง “ปิงปองจราจรชีวิต 7 สีนี้” เป็นการเฝ้าระวัง ควบคุม ป้องกันโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูงเพื่อลดความรุนแรงของโรคและลดการตายก่อนวัยอันควร ด้วยการค้นหาผู้ป่วยที่เป็นรุนแรงที่สุด สีแดงให้ลดความรุนแรงมาป่วยระดับปานกลางและอย่างอ่อน คือ สีส้ม สีเหลือง และเป็นสีเขียวเข้มก็พอใจแล้ว และป้องกันไม่ให้เขากลายมีโรคแทรกซ้อน คือ โรคหัวใจขาดเลือด โรคอัมพาต ไตวาย และตายในที่สุด ก่อนวัยอันควรก็น่าจะพอใจแล้ว ขอให้ดูแลเขาให้เต็มที่ตามความรู้ความสามารถเรามีก็น่าจะพอใจ ถือว่าเราได้ทำหน้าที่แล้ว

และเป็นการทำบุญที่ยิ่งใหญ่แล้วว่า ได้ทำดีที่สุดแล้ว…

สิ่งหนึ่งที่น้องๆ ของ รพ.สต.บ้านเขาดินยังไม่ลดละความพยายาม ก็คือ ได้ขออนุญาตผู้เขียนได้สลักลายเซ็นบนเสื้อยืดปิงปองจราจรชีวิต 7 สี ขอมอบให้ เพื่อสนับสนุนการทอดผ้าป่าจัดตั้ง “ธนาคารเครื่องวัดความดัน และเครื่องเจาะวัดเบาหวาน” ให้ รพ.สต.บ้านเขาดิน อ.แกลง จ.ระยอง เพราะน้องๆ เขาเชื่อว่าการที่มี “เครื่องวัดความดันโลหิต” ประจำบ้านประจำครัวเรือนมีความจำเป็นของคนในครอบครัว เป็นเครื่องวัดสัญญาณชีพที่ดีที่สุด เพราะโรคความดันโลหิตสูงนั้นๆ มีโอกาสเป็นได้ทุกคน ทั้งชายหญิงหนีไม่พ้น การที่เราเริ่มต้นวัดตั้งแต่วัยรุ่น วัยเรียน วัยทำงาน จนวัยสูงอายุ จะทำให้รู้สถานการณ์ของหัวใจและหลอดเลือดสมอง ยิ่งถ้ามีคนในบ้าน เช่น พ่อหรือแม่ป่วยเป็นความดันโลหิตสูงรุนแรงสีแดง ยิ่งต้องให้ความสำคัญที่สุด นอกจากต้องกินยาสม่ำเสมอตามแพทย์สั่งแล้ว สร้างสุขภาพ 3อ 3ลด ต้องมีพฤติกรรมที่ดีปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ ออกกำลังกาย 30 นาที อาทิตย์ละ 3 วัน อาหารลดหวาน มัน เค็ม อารมณ์ต้องดีไม่เครียด ลดอ้วน ลดเหล้า ลดบุหรี่

ที่สำคัญ เราต้องวัดความดันทุกๆ วัน บางวันอาจวัด 2-3 ครั้งก็ได้ ให้ความดันโลหิตวัดลงมาให้ต่ำกว่า 140/90 มม.ปรอท จะปลอดภัยที่สุด ถ้าหากยังสูงมากกว่า 180/110 มม.ปรอท (กรณีผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นสีแดงมากกว่า 183 mg% ปฏิบัติเช่นเดียวกัน) ไม่ปลอดภัยต้องนอน รพ. เพราะถ้าเกิดภาวะเครียด ตกใจ เสียใจ หงุดหงิดที่โรคอื่นแทรก เช่น ไข้ ปอดบวม แผลที่มือเท้าอักเสบ จะกระตุ้นให้ความดันสะวิงขึ้นไปมากกว่า 200/120 มม.ปรอท และจะจบชีวิตด้วย Stroke Stemi และหรือไตวายได้

ผู้เขียนขอประชาสัมพันธ์เชิญชวนว่า การมีเครื่องวัดความดันโลหิตสูงประจำบ้านมีความจำเป็น และถึงเวลาแล้วที่พวกเราไม่ประมาทในชีวิต ควรจะมีและใช้ “เครื่องวัดความดันประจำบ้าน” ทุกหลังคาเรือน ดังเช่นที่ รพ.สิงห์บุรี โดย พญ.วนิดา สาดตระกูลวัฒนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาล ได้เริ่มมาแล้ว 2-3 ปี และในปีนี้ 2560 รพ.สต.บ้านเขาดินจะรณรงค์ด้วยการทอดผ้าป่าจัดตั้ง “ธนาคารเครื่องวัดความดัน” เพื่อประชาชน ที่เป็นโรคความดันรุนแรงสีแดงจะได้มี และใช้เครื่องมือสัญญาณชีพ เพื่อเฝ้าระวังป้องกันชีวิตและสุขภาพตนเอง

นับเป็นการทำบุญมหากุศล ขอเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาบริจาคได้ที่คุณมัญชุสา มากสุข รพ.สต.บ้านเขาดิน อ.แกลง จ.ระยอง นะครับ..

นพ.วิชัย เทียนถาวร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image