อาศรม มิวสิก แร็กเควียม บทเพลงแห่งความตาย โดย:สุกรี เจริญสุข

ในวันที่ 30 กันยายน และวันที่ 1 ตุลาคม 2560 (วันเสาร์/อาทิตย์) หน่วยงานของชาวคริสต์ในประเทศไทย 5 องค์กร คือ สภาประมุขบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทย สภาคริสตจักรในประเทศไทย สหกิจคริสเตียนแห่งประเทศไทย สหคริสตจักรแบ๊บติสต์ในประเทศไทย และมูลนิธิคริสตจักรเซเว่นธ์เดย์แอ๊ดเวนตีสแห่งประเทศไทย ร่วมด้วยวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยวงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย (ทีพีโอ) เป็นผู้ร่วมจัดงาน “Requiem for King Rama IX”

เพลงสวดแร็กเควียม (Requiem) เป็นเพลงสวดภาษาละติน ซึ่งใช้กันมาตั้งแต่โบราณ (Medieval) ในยุคกลาง ศูนย์กลางอยู่เมืองเซียน่า (Siena) ตอนกลางของอิตาลี เมื่อมีโรคห่าระบาดครั้งใหญ่ ทำให้คนตายเกือบทั้งเมือง เซียน่ากลายเป็นเมืองร้างและผู้คนต่างก็อพยพย้ายขึ้นไปทางเหนือ 200 กิโลเมตร ซึ่งก็ต้องไปฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมของยุโรป (Renaissance) ใหม่ มีศูนย์กลางที่เมืองฟลอเรนซ์ (Florence) บทเพลงสวดแห่งความตายก็ใช้แร็กเควียมเป็นเพลงสวดในโบสถ์สืบทอดกันมา

อีก 250 ปีต่อมา นักดนตรีสมัยหลังได้นำเอาบทแร็กเควียม บทสวดเดิม มาประพันธ์ใส่ดนตรีใหม่ แต่ก็ยังเรียกชื่อเดิมอยู่ เพียงแต่บรรเลงหรือแสดงเพื่อการฟัง ไม่ได้ร้องหรือสวดในโบสถ์เหมือนกับเพลงสวดทั่วไป นักดนตรีที่เริ่มแหวกประเพณี อาทิ โมสาร์ท (Mozart) แบร์ลิโอซ (Berlioz) แวร์ดี (Verdi) ลิซต์ (Liszt) แฟเร (Faure) เป็นต้น บทเพลงแห่งความตายแร็กเควียมนี้จึงได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง

แร็กเควียม จากเนื้อของบทสวดที่เป็นภาษาละติน เพื่อสวดอุทิศให้แก่ผู้ตายในรูปแบบของพิธีกรรม แต่เมื่อโมสาร์ทนำเนื้อร้องมาใส่ทำนองดนตรีและเรียบเรียงดนตรีใหม่ นำไปบรรเลงเป็นบทเพลงเพื่อการฟัง อุทิศความยิ่งใหญ่มอบเป็นที่ระลึกแก่ผู้ตาย โดยเป็นการแสดงที่ไม่ได้ร้องอยู่ในโบสถ์อีกต่อไป

Advertisement

แต่เป็นการแสดงในหอแสดงดนตรีหรือโรงโอเปร่า

 

Advertisement

อย่างไรก็ตาม เพลงสวดแร็กเควียมที่เกิดขึ้นใหม่ ใช่ว่าฝ่ายศาสนจักรจะยอมรับเสียทีเดียว ก็ยังเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่กระทั่งปัจจุบัน เพราะพวกอาณาจักรก็ไม่ได้เคร่งครัดเรื่องภาษาหรือเนื้อร้องมากนัก แต่ในทางกลับกันฝ่ายศาสนจักรก็ยังถือว่าเป็นเรื่องของโลกีย์อยู่ดี

พิธีกรรมของความตายเป็นเครื่องหมายแสดงถึงความยิ่งใหญ่ของผู้ตาย งานพิธีกรรมทุกชนิดไม่มีพิธีกรรมใดที่ยิ่งใหญ่เท่ากับพิธีกรรมของความตาย เพราะว่าความยิ่งใหญ่ที่เกิดขึ้นเป็นเครื่องหมายที่สำคัญของผู้ตาย ซึ่งสามารถตรวจสอบจากหลักฐานต่างๆ ว่าทุกพิธีกรรมที่ได้จัดขึ้น พิธีกรรมแห่งความตายถือว่าเป็นพิธีกรรมที่ยิ่งใหญ่สุด

เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 รัฐบาลได้กำหนดวันพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพขึ้นในเดือนตุลาคม 2560 ในฐานะที่ดูแลวงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย (ทีพีโอ) จึงได้หารือกับสภาคริสตจักรในประเทศไทย (ทุกฝ่าย) จะจัดการแสดงชุดพิเศษขึ้น โดยนำบทเพลงแร็กเควียมที่ยิ่งใหญ่ทั้งหลายเท่าที่มีมาในอดีตมาบรรเลง ประกอบด้วยนักร้อง 500 คน เพื่อแสดงความเคารพไว้อาลัยแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยแสดงที่อาคารมหิดลสิทธาคาร ศาลายา

เริ่มต้นด้วยพิธีอธิษฐานภาวนาถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยสภาคริสตจักรในประเทศไทย (ทุกฝ่าย) พร้อมกับนักร้อง 500 คน

รายการเพลงเริ่มจากแร็กเควียมของโมสาร์ท (Mozart) ต่อด้วยบทเพลงของแฟเร (Faure) ครึ่งหลังเริ่มด้วยแร็กเควียม บทเพลงใหม่ ประพันธ์ดนตรีโดย ณรงค์ ปรางค์เจริญ โดยใช้บทกวีของ สุจิตต์ วงษ์เทศ

ขวัญ

ขวัญมีในทุกคน
คนไร้ขวัญหามีไม่
ขวัญหลงทางกลางไพร
ประโคมใจเรียกขวัญคืนทาง
ขวัญเอยขวัญหาย
หนใดไม่อยู่กับร่าง
ระหกระเหินเดินทาง
กลางดินกลางน้ำกลางฟ้า
ขวัญเอ๋ยขวัญเมือง
เรืองรองรุ่งหล้า
ขวัญมิ่งขวัญมา
สู่ฟ้าบรรพชน
ขวัญเอ๋ยขวัญฟ้า
เจ้าแห่งฟ้าหาวหน
รวมเป็นขวัญบรรพชน
คุ้มครองคนขวัญนิรันดร

สุจิตต์ วงษ์เทศ เชื่อว่าตะวันออกไม่ได้เชื่อเรื่องความตาย เพียงแต่ขวัญหายไป จึงต้องเล่นดนตรีประโคม ขับกล่อมเพื่อเรียกขวัญคืนมา จบลงด้วยผลงานของแวร์ดี (Verdi) ซึ่งถือเป็นบทเพลงแร็กเควียมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การดนตรี

งานครั้งนี้บรรเลงโดยวงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย (ทีพีโอ) และคณะนักร้องประสานเสียงจากโบสถ์ต่างๆ ทั่วประเทศไทย โดยมี อัลฟองโซ สการาโน (Alfonso Scarano) เป็นผู้ควบคุมวงดนตรี ซึ่งเป็นความตั้งใจและรวมใจของนักร้องนักดนตรีทุกคน รวมทั้งฝ่ายของชาวคริสต์

เพื่อถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ หัว รัชกาลที่ 9 ผู้เป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย ซึ่งพระองค์ทรงเป็นนักดนตรี ทรงเป็นดุริยกวี และทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ได้เสด็จสู่สวรรคาลัย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image