‘ทรัมป์’ ฉีกข้อตกลงปารีส ‘ภาวะโลกร้อน’ž

รอลุ้นดูใจ ”โดนัลด์ ทรัมป์”Ž มาพักใหญ่ว่าจะเอาอย่างไรกับ ”ความตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”Ž

ที่สุดประชาคมโลกก็ได้คำตอบแล้วว่าสหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของนายทรัมป์จะถอนตัวออกจากความตกลงนี้ที่ก่อเกิดขึ้นในการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 21 หรือ ค็อป 21 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในปลายปี ค.ศ.2015 ซึ่งมีนานาประเทศร่วมลงนามเป็นภาคีในข้อตกลงนี้จำนวน 195 ชาติ ซึ่งรวมถึงสหรัฐในรัฐบาลนายบารัค โอบามาเองด้วย

จนถึงขณะนี้มีชาติที่ให้สัตยาบันรับรองแล้ว 148 ชาติ เกินจาก 55 ประเทศตามข้อกำหนดที่จะทำให้ข้อตกลงนี้ที่ถือเป็นเสาหลักสำคัญของโลกในการต่อสู้กับภาวะโลกร้อน มีผลบังคับใช้ได้

มีคำถามเกิดขึ้นในฉับพลันว่าเมื่อชาติอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งก่อภาวะเรือนกระจกที่ทำให้โลกร้อนในปริมาณมากที่สุดเป็นอับดับ 2 ของโลกเป็นรองเพียงแค่จีน ประกาศถอนตัวไปเช่นนี้แล้ว จะเกิดอะไรขึ้น ข้อตกลงปารีสฯนี้จะเดินหน้ากันต่อไปอย่างไรเมื่อชาติมหาอำนาจที่ควรจะเป็นหัวเรือใหญ่ในการนำพาประชาคมโลกต่อสู้กับภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลกกลับมา
สละเรืออย่างไม่ไยดีเช่นนี้

Advertisement

คำตอบหนึ่งที่ชัดเจนตอนนี้ก็คือแน่นอนว่าการถอนตัวไปของสหรัฐย่อมส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการดำเนินการเพื่อไปสู่เป้าหมายของข้อตกลงปารีส ที่หนึ่งในเป้าหมายสำคัญนั้นคือการจะควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรมให้ได้หรือทำให้ได้ดีกว่านั้นคือตั้งเป้าว่าจะควบคุมอุณหภูมิโลกให้สูงขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส

ขณะที่สหรัฐดังที่กล่าวมาว่าเป็นชาติที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนฯมากเป็นอันดับ 2 ของโลก โดยสหรัฐปล่อยก๊าซคาร์บอนฯสู่ชั้นบรรยากาศโลกคิดเป็น 15 เปอร์เซ็นต์ ของปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯในทั่วโลกทั้งหมด เท่ากับว่าสหรัฐเป็นต้นตอของการก่อปัญหาที่สำคัญ แต่การถอนตัวไปของสหรัฐเท่ากับเป็นการลอยตัวปัดความรับผิดชอบที่มีต่อพันธกิจโลกที่ประชาคมโลกจะต้องอาศัยความร่วมแรงร่วมใจกันในการต่อสู้กับปัญหาที่มวลมนุษยชาติเราต้องเผชิญ

การหันหลังให้กับข้อตกลงปารีสของสหรัฐยังจะส่งผลให้ขาดแหล่งสนับสนุนทางการเงินและทางเทคโนโลยีที่สำคัญไปในการช่วยส่งเสริมให้ประเทศกำลังพัฒนาที่ยังต้องอาศัยความสนับสนุนช่วยเหลือเหล่านี้ในการร่วมต่อสู้กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศนี้ โดยก่อนหน้าที่นายทรัมป์จะประกาศถอนตัวออกจากข้อตกลงนี้ เขายังเคยขู่ที่จะลดการให้เงินสนับสนุนในการต่อสู้รับมือกับปัญหาภาวะโลกร้อนมาแล้ว
ผลกระทบอีกประการที่เป็นข้อห่วงกังวลของหลายฝ่าย คือ การถอนตัวของสหรัฐอาจจะกระตุ้นให้ประเทศผู้ก่อมลพิษอื่นๆ เอาเยี่ยงอย่างในการฉีกข้อตกลงปารีสตามมาอีกก็เป็นได้

Advertisement

ไม่เพียงการตัดสินใจครั้งนี้ของผู้นำสหรัฐจะเผชิญกับการก่นประณามจากผู้นำนานาประเทศ ทว่าบรรดาผู้นำภาคธุรกิจชั้นนำในสหรัฐก็ยังส่งเสียงคัดค้านแสดงความผิดหวังกับการถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีสของนายทรัมป์ ไม่ว่าจะเป็น กูเกิล แอปเปิล รวมถึงบริษัทผู้ผลิตเชื้อเพลิงจากฟอสซิลรายใหญ่อย่างเอ็กซอนโมบิล ที่มีข่าวว่า ดาร์เรน วูดส์ ซีอีโอของเอ็กซอนโมบิล ลงทุนเขียนจดหมายถึงนายทรัมป์เป็นการส่วนตัวชี้ให้เห็นถึงข้อดีในการร่วมอยู่ในข้อตกลงปารีสว่าอย่างน้อยก็จะทำให้สหรัฐมี “ที่นั่งบนโต๊ะเจรจา”Ž ในการที่จะต่อรองใดๆ เพื่อผลประโยชน์ของสหรัฐ

ในการประกาศข่าวนี้ให้ชาวโลกได้รับรู้ที่ทำเนียบขาว ทรัมป์ให้เหตุผลของการตัดสินใจถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีสฯว่า ผมได้รับเลือกให้เป็นผู้แทนของพลเมืองชาวพิตส์เบิร์ก(ดินแดนอุตสาหกรรมหนักในสหรัฐ) ไม่ใช่ปารีสŽ ที่อาจเป็นการส่งนัยสำคัญถึงคำมั่นที่ทรัมป์เคยให้สัญญาไว้ในช่วงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งว่าเขาจะฟื้นอุตสาหกรรมถ่านหินในสหรัฐกลับคืนมา

ขณะที่ “ธารา บัวคำศรี”Ž ผู้อำนวยการกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประจำประเทศไทย มองว่า เป็นเพียงประเด็นทางการเมืองในเวทีเจรจาโลกเท่านั้น อาจจะเป็นแค่ข้อต่อรองข้อหนึ่ง เพื่อวันหน้าอเมริกาจะกลับมาร่วมหัวจมท้ายในข้อตกลงนี้อีกครั้ง

”อเมริกาภายใต้การนำของทรัมป์นั้น พลาดมากๆ ที่คิดว่าตัวเองยิ่งใหญ่หากไม่เข้าร่วม หรือสนับสนุนให้โลกทำอะไรแล้วเป้าหมายของสิ่งนั้นจะล้มเหลวลง ซึ่งยิ่งทรัมป์คิดอย่างนี้ก็จะยิ่งทำให้อเมริกาถูกโดดเดี่ยวมากยิ่งขึ้น กรณีการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกนั้น แม้ว่า อเมริกาจะเป็นประเทศที่ปล่อยปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากเป็นอันดับที่ 2 รองจากประเทศจีนแล้ว แต่ด้วยข้อตกลงว่าด้วยการลดปริมาณจริงๆ อเมริกาก็ไม่ได้ลดลงเองมากนัก แต่จะไปสนับสนุนประเทศอื่นๆ แล้วเอาเครดิตมาให้ตัวเองมากกว่า ในขณะที่ประเทศและกลุ่มประเทศอื่นๆ ที่ปล่อยปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากเหมือนกัน อย่างเช่น จีน อินเดีย และกลุ่มประเทศอียู เขามีความแข็งขันที่จะลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยตัวเองมากกว่า”ธารา ระบุ

การเดินหน้าของ ”ทรัมป์”Ž ครั้งนี้เป็นการตอกย้ำถึงการยึดมั่นในนโยบาย “อเมริกามาก่อน”Ž ดังที่ประกาศไว้ตอนสาบานตนรับตำแหน่ง

แต่การถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีสที่ประชาคมโลกร่วมใจกันผลักดัน จะกลายเป็นการโดดเดี่ยวอเมริกาเองหรือไม่ และเผลอๆ ยังอาจจะทำให้สหรัฐสูญเสียสถานะ ผู้นำโลกŽ ให้ชาติคู่แข่งอย่าง จีนŽ
ที่จับจ้องอยู่ก็เป็นได้…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image