กลยุทธ์ กปปส. เหล้าเก่า ใน ขวดเก่า มิใช่ นวัตกรรม

ทําไมนักการทหารอย่าง “โจโฉ” จึงสนใจ “ประวัติศาสตร์” ทำไมนักวางกลยุทธ์อย่าง “สุมาอี้” จึงเจนจบในเรื่องราวในยุคแห่ง “รณยุทธ์”

เพราะ “อดีต” คือ “บทเรียน”

คำว่า “ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย” คือ เครื่องเตือนให้สำเหนียก และเรียกร้องการเรียนรู้อย่างละเอียดลออ เรียนรู้ในกระสวนแบบ “ศึกษาเป็น ใช้เป็น”

อย่างเช่นเมื่อเห็นการตบเท้าเข้าไปในพรรคประชาธิปัตย์ของ 8 แกน กปปส.ที่นำโดย นายถาวร เสนเนียม พร้อมกับประกาศแนวทางอันเท่ากับเป็นการยอมรับในจุดต่างระหว่างหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กับเลขาธิการ กปปส.

Advertisement

นั่นก็คือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ชู “หัวหน้าพรรค” เป็น “นายกรัฐมนตรี”

นั่นก็คือ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ชูหัวหน้า คสช. หัวหน้ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็น “นายกรัฐมนตรี”

ก็อย่าเพิ่งกระดี๊กระด๊า ดีอกดีใจ

เพราะ “แนวทาง” ที่พรรคประชาธิปัตย์ กับ กปปส.ประกาศและแสดงออก มิได้เป็นเรื่องใหม่อันถือได้ว่าเป็นนวัตกรรมในทางการเมือง

ตรงกันข้าม เป็นเรื่องประเภท “เก่าเก็บ”

ในยุคแห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2521 โดยเฉพาะเมื่อ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ผงาดขึ้นมาในฐานะเป็นตัวเลือกนับแต่ปลายปี 2522 เป็นต้นมา พรรคประชาธิปัตย์ก็เคยทำแบบนี้มาแล้ว

แรกทีเดียวก็ชู พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อย่างเต็มที่

แต่เมื่อเข้าสู่ยุค นายพิชัย รัตตกุล เป็นหัวหน้าพรรค ก็ดำเนินกลยุทธ์อย่างมีการแยกจำแนกในระหว่างหาเสียงทางการเมือง

พื้นที่ กทม.และภาคกลางชู “หัวหน้าพรรค”

พื้นที่อื่นและโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคใต้และบางจังหวัดทางภาคอีสานชู พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ขึ้นสูงเด่น

ผลก็คือ สามารถ “ร่วม” รัฐบาลได้อย่างต่อเนื่อง

กระนั้น นโยบายตี 2 หน้าของพรรคประชาธิปัตย์เช่นนี้ใช่ว่าจะมีแต่ “รายรับ” อย่างด้านเดียว ตรงกันข้าม นานๆ ไปก็เริ่มมี “รายจ่าย”

เพราะว่า “สถานะ” พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ มิได้ดำรงอยู่อย่าง “สถิต”

นับแต่การเลือกตั้งเดือนกรกฎาคม 2529 เป็นต้นมา ก็เริ่มมีความขัดแย้ง แตกแยกในทางความคิดภายในพรรคประชาธิปัตย์

ในที่สุดก็เป็น “มูลเชื้อ” ให้เกิด “ยุบสภา”

จากนั้น กลุ่ม นายเฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ นายวีระ มุสิกพงศ์ ก็แยกตัวออกไปจัดตั้ง “พรรคประชาชน” และทำให้พรรคประชาธิปัตย์ระส่ำระสายระยะหนึ่ง

ปัจจัยอยู่ที่ “สถานะ” ของ “คนนอก”

จากยุค พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ในสมัยกาลแห่ง “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” มาถึงยุคหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ก็ไม่แน่ว่า “คนนอก” ที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เชียร์ จะมีสถานะเทียบเท่ากับของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ได้หรือไม่

เวลา 3 ปีและการย่างเข้าสู่ปีที่ 4 ของรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 คงพอจะเป็นคำตอบได้ในระดับแน่นอนหนึ่ง

แท้จริงแล้ว กลยุทธ์ที่พรรคประชาธิปัตย์กำลังชูขึ้นในปัจจุบันก็ดำเนินไปในแบบ “เหล้าเก่า ในขวดเก่า” เด่นชัดขึ้นเป็นลำดับ

มิได้เป็น เหล้า “ใหม่” ในขวด “ใหม่”

ผลก็คือ ทำให้เส้นทางทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ผูกติดอยู่กับเส้นทางของรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 อย่างแยกไม่ออก

ไม่แน่ว่า ในที่สุดอาจจะกลายเป็น “เตี้ยอุ้มค่อม”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image