เมื่อการกดไลค์ถูกตัดสินว่าผิดกฎหมาย โดย : ทีปกร วุฒิพิทยามงคล

เมื่อครั้งจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน ถูกจับด้วยข้อหาแชร์ข่าวจากเว็บ BBC นั้น ผมพยายามหากรณีเทียบเคียงจากต่างประเทศว่าเคยมีคนถูกจับเพียงเพราะแชร์ข่าวไหม ก็พบว่ามีกรณีแบบนี้เกิดขึ้นบ้าง แต่ไม่มาก เช่น มีหมอคนหนึ่งในอินเดียถูกจับเพราะแชร์ภาพนักบวชยืนใกล้กับแผงขายเนื้อ

หลังจากกรณีไผ่ ดาวดิน ในเดือนพฤษภาคมปีนี้ ก็มีข่าวนักกิจกรรมในสหรัฐอเมริกาถูกจับเพราะโพสต์ข้อความที่คล้ายกับจะสื่อถึงผู้ว่า (ที่มีความขัดแย้งกันในกรณีท่อขนส่งน้ำมัน) ว่า “ถ้าทุกคนพร้อมที่จะไปลากตูดของเจ้านั่น ฉันก็พร้อม ฉันมีคบเพลิงแล้ว ถุงเท้าก็เตรียมไว้แล้ว แค่รอพวกนายเท่านั้นแหละ” (so when ya’ll ready to march in and take his ass across the street, I have my torch, I got warm socks, I’m waiting on y’all.) โดยเจ้าหน้าที่พิจารณาว่านี่เป็นโพสต์ข่มขู่ ถึงแม้ว่านักกิจกรรมคนดังกล่าวจะบอกว่านี่เป็นเพียงการเปรียบเทียบเพื่อให้ผู้ว่าถูกดำเนินคดีเท่านั้น ก็ไม่เป็นผล

The Guardian รายงานข่าวดังกล่าวด้วยพาดหัวว่า “ติดคุกเพราะโพสต์เฟซบุ๊ก : ตำรวจสหรัฐเล็งเป้าไปที่พวกนักวิจารณ์ด้วยการขู่จับกุมและดำเนินคดี”

เท่านี้ก็นับว่าเป็นคดีที่ร้ายแรงแล้วนะครับ เพราะการข่มขู่กับการใช้คำเปรียบเทียบอาจมีเพียงเส้นบางๆ คั่นไว้เท่านั้นเอง เรียกว่าถ้าเราไม่ระวัง ไปล้อเล่น หรือใช้คำบางคำที่อาจถูกตีความได้ว่า “ข่มขู่” ในเฟซบุ๊ก ก็อาจโดนคดีแบบเดียวกัน

Advertisement

แน่นอนว่าไม่ใช่ว่าทุกเรื่องควรจะถูกพูดได้ทั้งหมด แต่คำถามก็คือ “เส้นแบ่ง” ที่บางๆ ที่ว่านั้นอยู่ตรงไหน

แต่เท่านั้นก็ยังไม่พอ-ไม่นานมานี้ เกิดกรณีที่ “เส้นแบ่ง” นั้นบางเฉียบจนเกือบมองไม่เห็นขึ้นอีก เมื่อ “การกดไลค์” ถูกตัดสินว่าผิดกฎหมาย!

นี่เป็นกรณีที่เกิดขึ้นในประเทศโลกที่หนึ่ง ที่ได้อันดับ “World Press Freedom” หรือสิทธิเสรีภาพสื่อสูงเป็นอันดับ 7 อย่างสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อศาลซูริกสั่งปรับชายคนหนึ่งเป็นจำนวนเงินมากถึง 4,000 ฟรังก์ หรือ 140,000 บาท หลังจากที่ชายคนนี้ไปกดไลค์หลายคอมเมนต์ที่แสดงความเห็นว่านาย Erwin Kessler นักกิจกรรมสิทธิสัตว์ เป็นคนเหยียดผิวและรังเกียจชาวยิว

Advertisement

อันที่จริงแล้วนาย Erwin Kessler นั้นเคยต้องคดีเหยียดผิวและเลือกปฏิบัติมาก่อนจริงๆ ในปี 1998 แต่ในคดีนี้ ผู้พิพากษา Catherine Gerwig ก็ตัดสินว่า ไม่สามารถเอาคดีเมื่อ 20 ปีก่อนนั้นมาเป็นฐานพิสูจน์ได้ว่าในปัจจุบันนาย Erwin ยังเหยียดผิวอยู่ และเธอยังให้เหตุผลสนับสนุนคำตัดสินว่าการกดไลค์ความเห็นที่กล่าวหานาย Erwin ก็เท่ากับว่าเป็นการ “สนับสนุน” และ “เผยแพร่” (spread) ความเห็นนั้นๆ ด้วย ซึ่งสอดคล้องกับที่นาย Kessler บอกว่าการที่จำเลยไลค์โพสต์ที่กล่าวหาตนนั้น เป็นการเผยแพร่ความเห็นดังกล่าวไปสู่คนอื่นๆ

นี่เป็นการตีความการกดไลค์ที่กว้างขวางมากในแบบที่ไม่เคยเจอมาก่อน อย่างที่ผู้ใช้เฟซบุ๊กคงทราบว่าการกดไลค์นั้นแทบจะเป็นกิจกรรม “พื้นฐาน” ของเฟซบุ๊ก (และโซเชียลเน็ตเวิร์กอื่นๆ) มันไม่ได้มีความหมายเพียง “สนับสนุน” เท่านั้น แต่มันยังมีความหมายหลากหลายตั้งแต่แค่ “กดเพื่อแสดงชื่อว่าอ่านแล้ว” ไปจน “กดพลาด” (เช่น ที่จริงจะกดโกรธ หรือจะกดไลค์คอมเมนต์อื่น)

หรือกระทั่งหากจะเอาผิดว่าผู้กดไลค์มีความคิดสนับสนุนคอมเมนต์นั้นจริงๆ ก็ยังยากที่จะพิสูจน์แรงจูงใจว่าเป็นการสนับสนุนที่ “แรงพอ” ที่จะถือว่าเป็นการหมิ่นประมาทใครคนใดคนหนึ่ง เราไม่อาจตัดสินได้เลยว่าการกดไลค์เท่ากับการกระทำระดับไหน เช่น หากมีผู้ตะโกนต่อว่าด่าทอนักการเมืองในที่สาธารณะจนถูกข้อหาหมิ่นประมาท การกดไลค์จะเท่ากับกิริยาใดตั้งแต่การเฝ้าดู, การพยักหน้าเห็นด้วยกับการต่อว่านั้น (ซึ่งไม่ควรถือเป็นความผิด), การเดินเข้าไปในบริเวณ “ประท้วง” หรือการเขียนป้ายเพื่อร่วมสนับสนุนการต่อว่านั้นด้วย

กล่าวคือการกดไลค์ลุ่นๆ ไม่สามารถตีความได้อย่างชัดเจนเลยว่าเป็นการแสดงความเห็นด้วยในระดับไหน (ถ้ามันจะเป็นการแสดงความเห็นด้วยจริงๆ)

ปัญหาก็คือ ถึงแม้ว่านี่จะเป็นศาลเมือง ไม่ใช่ศาลระดับสูง แต่ทนายด้านสื่อก็เป็นกังวลว่าคดีของศาลซูริกในครั้งนี้ อาจถูกใช้เพื่อเป็นฐานตัดสินคดีที่คล้ายกันในเมืองหรือประเทศอื่นได้ และศาลในระดับต่างๆ ก็ควรกำหนดให้ชัดเจนว่าการกดไลค์ในโซเชียลมีเดียควรจะมี “น้ำหนัก” มากน้อยแค่ไหน (และควรจะมีน้ำหนักเท่ากับการโพสต์ข้อความนั้นตรงๆ เลยหรือเปล่า) โดยเขาเป็นกังวลว่า หากศาลจะเอาผิดกับการกดไลค์ในเฟซบุ๊กจริงๆ ก็อาจต้องเพิ่มจำนวนผู้พิพากษามากขึ้นเป็นสามเท่า (เพราะจะมีคดีมาให้พิจารณากันไม่หวาดไม่ไหว) และนี่ก็จะเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ของเสรีภาพในการแสดงออกเลยทีเดียว

เพียงหวังว่าผู้มีอำนาจในประเทศไทยเอง จะไม่เอาเรื่องนี้เป็นเยี่ยงอย่าง (หรือข้ออ้าง) ในการตัดสินคดีแบบเดียวกันในประเทศ ไม่เช่นนั้น เราก็อาจจะได้ถอยหลังกันอีกหลายก้าว

ทีปกร วุฒิพิทยามงคล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image