ประวัติศาสตร์นอกตำรา สยามรัฐกับโลกตะวันตก

ขนาดประวัติศาสตร์ในตำราก็ยังเถียงกันไม่ตกฟาก ให้เรียนประวัติศาสตร์นอกตำรา หลายคนอาจยังรีๆ รอๆ แต่ตรงกันข้ามกับคนใคร่เรียนใคร่รู้อีกมาก ที่เห็นอะไรนอกตำราเมื่อไหร่เป็นวิ่งเข้าใส่

 ‘ประวัติศาสตร์นอกตำรา-สยามรัฐตามทรรศนะโลกตะวันตก’ ของ ไกรฤกษ์ นานา จึงชวนให้แม้ผู้เรียนจากตำราก็ยังต้องตาตื่น รู้เรื่องราชการลับของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯไหม, หากไม่ทำอะไร อังกฤษคงถล่มกรุงไปแล้วแต่รัชกาลที่ 4, เคยได้ยินนิราศปารีส เบาะแสใหม่มงกุฎพระจอมเกล้าหรือเปล่า, วิบากกรรมผู้นำฝรั่งเศส หยุดแผนยึดไทยเป็นเมืองขึ้น ฯลฯ

เรื่องนอกตำรา แต่ไม่นอกการสอดส่องเรียนรู้จากผู้แสวงข้อเท็จจริงเหล่านี้ นักเรียนไทย คนไทย ไม่อยากรู้ได้ไง


กลับมาอีกครั้ง สำหรับคนอีกรุ่นหรือที่ตกรุ่นและยังไม่เคยได้เรียน หนึ่งในหนังสือร้อยเล่มที่ต้องอ่าน ‘ไทยกับสงครามโลกครั้งที่ 2’ ของ ดิเรก ชัยนาม ผู้อาจเรียกได้ว่าเป็นข้าราชการต่างประเทศคนสุดท้ายของไทย ที่เชิดหน้าชูตาได้ กับงานซึ่งเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญบนเส้นทางประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ ที่บอกได้เลยว่าไม่อ่านไม่ได้ โดยเฉพาะที่เป็นนักเรียนนักศึกษา

Advertisement


และอีกชิ้นสำคัญซึ่งเป็นงานหายาก เนื่องจากเป็นงานธุรกิจศึกษาเชิงมานุษยวิทยา ‘ชาติพันธุ์ รังนก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้’ อาจารย์ เกษม จันทร์ดำ เปิดโลกธุรกิจแสนล้าน งานวิจัยที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยอุดหนุน กลายเป็นงานน่าอ่านเล่มโต เปี่ยมด้วยเนื้อหาน่ารู้พิสดาร ที่แม้คนในโลกธุรกิจก็ต้องรีบหาอ่านเพื่อเปิดสายตาให้กว้างขวางขึ้นอีก


หนังสือเล่มเล็กๆ ที่ขายได้กว่า 7 ล้านเล่ม แปลกว่า 45 ภาษาทั่วโลก และตีพิมพ์ต่อเนื่องมายาวนานกว่า 60 ปี ‘กิฟท์ ฟรอม เดอะ ซี’ หรือของฝากจากทะเล แอนน์ มอร์โรว์ ลินด์เบิร์ก ที่ใช้ชีวิตลำพังบนเกาะห่างไกล รังสรรค์งานงดงาม เรียบง่าย สั่นสะเทือนจิตใจผู้คนทุกทิศ เป็นภาษาไทยให้อ่านแล้วโดย จนัญญา เตรียมอนุรักษ์


 แท็ง หุ่นยนต์เพื่อนรัก มิตรภาพที่คาดไม่ถึงระหว่างหุ่นยนต์น้อยซึ่งเปลี่ยนชีวิตคนคนหนึ่งได้ ความบังเอิญที่กลายเป็นโชคชะตา และการผจญภัยอันซาบซึ้ง นรา สุภัคโรจน์ แปลให้อ่านเพลิน

Advertisement


อีกแล้ว นายหนุ่มกับทาสสาวตัวน้อยผู้ขโมยของสำคัญเขาไป แล้วเกิดทำหายเสียอีก ‘ตะปบรัก’ โดย พรัมพรัม จะทำให้เชื่อได้ไหมว่า ความใกล้ชิดเปลี่ยนความชังเป็นรักได้แบบไหน


โลกหนังสือมิได้มีเพียงสมาชิกที่รู้ความ เด็กแต่วัยก็มีส่วนร่วมด้วยมาก หนังสือเด็กเล็กจนถึงเด็กโตกินพื้นที่ไม่น้อยกว่างานแสดงวุฒิภาวะ ‘นิทานในน้ำ’ ของรักษิตา กับ ภัทรีดา เป็นเล่มหนึ่งที่ให้น้องๆ ฝึกระบายสี เพิ่มทักษะการสังเกตและใช้มือ แกะสติ๊กเกอร์ใส่ช่องว่างที่เว้นไว้ให้ถูกต้อง พร้อมแต้มสีได้ตามจินตนาการ ด้วยเนื้อหาที่น้อมนำมาจากพระบรมราโชวาทรัชกาลที่ 9


อีกชุดเป็นงานฝึกภาษาทั้งอ่านเขียน โดยเฉพาะการออกเสียงและการเขียนเอาเรื่อง แบบจับกุมข้อความได้ ไม่ให้ล้มเหลวเหมือนวิธีกาเครื่องหมายคำตอบโดยไม่ได้ตอบ โชติ ศรีสุวรรณ วาง ๑๒ เล่มสี่สีด้วยเรื่องใกล้ตัวต่างๆ เช่น ตา มา นา, เจ้าแต้มแสนรู้, สวนผักของลอย, นกแขกเต้ากตัญญู, กวางน้อยผู้เสียสละ, เมล็ดข้าววิเศษ, กาดำกลับใจ ฯลฯ

อ่าน สุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการของบรรณาธิการให้แตกใน เพลย์บอย ฉบับ เคนเนดี้ ซัมเมอร์ส พร้อมเรื่องอัศจรรย์จากโลกถุงยางอนามัย กับน้องๆ เพลย์เมทประจำเดือน มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับเควสชั่น แมน, อ่าน ๑๑๑ ปีพุทธทาส, โคตรอินดี้ กับพระเขี้ยวแก้วผจญภัย กับอีกนานาสาระที่มีคนคอยจ้องจะเตือน… อุ๊บบบส์
เผลอไปตีสนิทเขาอยู่เรื่อย.

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image