คุณค่า การเมือง ข้อเสนอ พิชัย รัตตกุล 4 พรรค ‘จับมือ’

การเรียกร้องให้ 4 พรรคการเมืองจับมือกันเพื่อต่อสู้กับสิ่งที่เรียกว่า “พรรคทหาร” จาก นายพิชัย รัตตกุล เหมือนกับว่าเป็นข้อเสนอในแบบ “โลกสวย”

แต่ก็มากด้วย “คุณูปการ”

คุณูปการ 1 คือ การเรียงแถวออกมาปฏิเสธจากหลายคนของพรรคประชาธิปัตย์ ไม่เว้นแม้กระทั่ง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

โดยวางเงื่อนไขอยู่ที่ “พรรคเพื่อไทย”

Advertisement

คุณูปการ 1 คือ การออกมายืนยันโดยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีที่ว่า “ไม่มีพรรคทหาร” อยู่ในความเป็นจริง

แม้กระทั่งพรรค นายไพบูลย์ นิติตะวัน ก็มิใช่ “พรรคทหาร”

ไม่ว่าคำปฏิเสธอันมาจากพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าคำปฏิเสธอันมาจากโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ล้วนมี “ความหมาย”

Advertisement

ตรงนี้ต่างหากคือ “ผลพลอยได้” ในทางการเมือง

หากเข้าใจเพียงว่าจะเป็นพรรคทหารหรือไม่เป็นพรรคทหารต้องมี “นายพล” ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าหรือเลขาธิการพรรค

พรรคทหารก็มีอยู่เพียงไม่กี่พรรค

1 คือ พรรคเสรีมนังคศิลา ที่มี จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นหัวหน้า 1 คือ พรรคชาติสังคม ที่มี จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นหัวหน้า 1 คือ พรรคสหประชาไทย ที่มี จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นหัวหน้า 1 คือ พรรคชาติไทย ที่มี พล.ต.ประมาณ อดิเรกสาร เป็นหัวหน้า

และ 1 คือพรรคราษฎร ที่มี พล.อ.เทียนชัย ศิริสัมพันธ์ เป็นหัวหน้า

และ 1 คือ พรรคปวงชนชาวไทย ที่มี พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก เป็นหัวหน้า และ 1 คือพรรคความหวังใหม่ ที่มี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นหัวหน้า

หากถือบรรทัดนี้จะมองพรรคประชาธิปัตย์อย่างไร

เพราะหัวหน้าพรรคต่อจาก ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ก็คือ พ.อ.ถนัด คอมันตร์

ยิ่งกว่านั้น พรรคประชาธิปัตย์ไม่เพียงแต่ยินยอมเป็นรัฐบาลหลังรัฐประหาร 2490 หากแต่หลังรัฐประหาร 2549 ก็ยังยอมรับเป็นรัฐบาล โดยการจัดการของคนในเครื่องแบบ

การปฏิเสธข้อเสนอของ นายพิชัย รัตตกุล โดยพรรคประชาธิปัตย์ ยังเป็นหมุดหมายอย่างสำคัญสะท้อนความต้องการลึกๆ ของพรรคประชาธิปัตย์

พลันที่ 8 แกนนำ กปปส.ตบเท้าเข้าพรรค

ความหมายของสถานการณ์นี้ยืนยันอย่างเป็นรูปธรรมถึงความเป็นเนื้อเดียวระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับ กปปส.

ไมว่าจะเป็นเมื่อปลายปี 2556 กับ กลางปี 2560

ยิ่ง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แสดงความมั่นใจมากเพียงใดว่านายกรัฐมนตรีคนต่อไปคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ยิ่งยิ้มเห็นแก้ม แย้มเห็นไรฟัน

เส้นทางของพรรคประชาธิปัตย์ต่อไปเป็นเส้นทาง 2 สาย 1 คือ การเข้าไปมีส่วนร่วมในการเป็นอะไหล่ให้กับ คสช.

อีกสาย 1 ก็คือ รอ “ส้มหล่น” ทางการเมือง

เหมือนกับที่พรรคประชาธิปัตย์รับส้มหล่นเมื่อมีการยุบพรรคพลังประชาชนและ ส.ส.กลุ่ม 1 แยกตัวออกมาตามเทียบเชิญของทหาร

การปรองดองที่เคยเป่าปี๊ดตีกลองดังกระหึ่มในห้วงแห่งวันวาเลนไทน์จึงกลายเป็นความเงียบเชียบ

ทั้งๆ ที่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ คึกคักอย่างยิ่ง พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท คึกคักอย่างยิ่ง

ผ่านเดือนพฤษภาคมมายังเดือนมิถุนายน กลับมีแต่ความเงียบ

เป็นความเงียบในทางการเมือง แต่กลับอึกทึกด้วยเสียงระเบิด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image