“ฟินเทค”-นวัตกรรม จิ๊กซอว์”การเงิน” สู่ยุค”ปฏิวัติดิจิทัล”

โลกทุกวันนี้ได้ถูกหลอมรวมกับเทคโนโลยี และทำให้คนทุกรุ่น ไม่ว่าจะเป็น เจนบี หรือเบบี้บูม เจนเอ็กซ์ เจนวาย แม้แต่ เจนซี รวมทั้ง เจนเอ็ม หรือมิลลิเนียม (millennium) กลายเป็นคนในรุ่นเดียวกัน คือ เฮด ดาวน์ เจน (Head Down Gen) หรือสังคมก้มหน้า โดยตัวกลางนั้นก็คือสมาร์ทโฟน ช่องทางการใช้อินเตอร์เน็ต ปัจจุบันการใช้งานอินเตอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟนได้แซงหน้าการใช้อินเตอร์เน็ตผ่านทางคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ รวมทั้งแล็ปท็อปไปแล้ว

สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่การเดินก้มหน้าเท่านั้น แต่วิถีชีวิตและพฤติกรรมการบริโภคของคนในเจนนี้ได้เปลี่ยนแล้ว จากการใช้แค่นิ้ว อย่างสมัยก่อนนั้น หากจะชวนเพื่อไปชมภาพยนตร์สักเรื่อง ก็ต้องโทรนัดหมายและนัดแนะจุดนัดพบ ต้องไปซื้อตั๋วที่หน้าโรงภาพยนตร์ ได้ตั๋วกระดาษ แต่ขณะนี้ไม่จำเป็น เพราะสามารถแชตผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ เพื่อนัดหมาย ในจังหวะเดียวกัน อาจจะเสิร์ชหาร้านอาหารไปด้วย รวมทั้งสามารถจองตั๋วภาพยนตร์ พร้อมจ่ายเงินผ่านระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ และใช้ตั๋วที่ได้รับในรูปแบบ คิวอาร์โค้ด ให้พนักงานสแกนได้เลย

ดังนั้น บริษัททั้งหลายต้องเข้าใจว่าพฤติกรรมการบริโภคของลูกค้าเปลี่ยนไปแล้วอย่างแท้จริง ทำให้ทุกธุรกิจต้องเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจ ไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจธนาคารพาณิชย์

นี่คือ สิ่งที่ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือเอสซีบี (SCB) มองเห็น และตั้งโจทย์หลักว่า อุตสาหกรรมธนาคารพาณิชย์มีอะไรเปลี่ยนแปลงและ SCB จะเปลี่ยนอย่างไร

Advertisement

SCB ได้ดึงตัวผู้บริหารมือหนึ่งที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีอย่าง อรพงศ์ เทียนเงิน ก่อนหน้านี้ดำรงตำแหน่งเป็น กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด และยังมีประสบการณ์การทำงานกับองค์กร

ระดับโลกในต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำงานให้กับบริษัทที่ปรึกษาระดับโลกอย่างเอคเซนเชอร์เป็นระยะเวลากว่า 16 ปี เข้ามานั่งตำแหน่ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด บริษัทในเครือของธนาคารไทยพาณิชย์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2559 ตามกลยุทธ์ในการก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล (Digital Transformation) ของธนาคาร และมีเงินทุนกว่า 1,750 ล้านบาท สำหรับลงทุนใน ไฟแนนเชียล เทคโนโลยี (Financial Technology) หรือฟินเทค (FinTech) เพื่อนำเทคโนโลยีมาใช้กับกิจกรรมทางการเงิน ค้นคว้านวัตกรรม รวมถึงการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยทั้งสตาร์ตอัพ และฟินเทคให้เติบโต

“อรพงศ์” ได้ฉายภาพให้เห็นว่าขณะนี้โลกกำลังอยู่ในช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งใหญ่อีกครั้ง หรือเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 โดยหยิบยกเนื้อหาจากหนังสือ เดอะ โฟร์ธ อินดัสเทรียล เรฟโวลูชั่น (The Fourth Industrial Revolution) เขียนโดย เคลาส์ ชวาบ (Klaus Schwab) ผู้ก่อตั้งและประธาน เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม (World Economic Forum)

Advertisement

ระบุว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรมก่อนหน้านี้ ทั้ง 3 ครั้ง ได้แก่ การสร้างเครื่องจักรไอน้ำ ของ เจมส์ วัตต์ ต่อมาคือ โทมัส เอดิสัน สามารถผลิตไฟฟ้าได้ และการเกิดขึ้นของคอมพิวเตอร์ ทำให้มีอุตสาหกรรมใหม่ขึ้นและก็มีอุตสาหกรรมที่สูญพันธุ์ไปเช่นกัน หากไม่ปรับตัวหรือปรับตัวไม่ทัน

สำหรับการปฏิวัติครั้งล่าสุด ที่เรียกกันว่า “การปฏิวัติด้านดิจิทัล” จากโลกเดิมเป็นโลกแบบที่มีตัวตนหรือกายภาพ (Physical) เพิ่มตัวตนบนโลกดิจิทัลขึ้นมา สามารถพิสูจน์ความมีตัวตนโดยใช้ลักษณะทางชีวภาพ ทั้งนี้ การพัฒนายังไปถึงคอมพิวเตอร์มีความนึกคิด เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ทำให้เกิด คอกนิทีฟ เซอร์วิส (Cognitive Services) เป็นการวิเคราะห์ข้อมูล และบิ๊ก ดาต้า (Big data) โดยคอมพิวเตอร์

รูปแบบของ คอกนิทีฟ เซอร์วิส ที่เห็นกันในปัจจุบัน คือ แชตบอต (Chatbot) โดยริงเอ็มดี (RingMD) ของสิงคโปร์ มีการทำแชตบอต เพื่อซักถามอาการของผู้ป่วยและให้คำแนะนำได้ รูปแบบคล้ายกับที่หมอให้การรักษาคนไข้ที่จะถามอาการเจ็บป่วยและวินิจฉัยในการรักษา เป็นต้น และต่อไป แชตบอต จะยิ่งฉลาดขึ้น

การปฏิวัติด้านดิจิทัล ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงกับหลายธุรกิจแล้ว และกว่าจะรู้ตัวอาจจะกลายเป็นเหมือนเรือไททานิคที่ชนภูเขาน้ำแข็ง ภาพนี้สะท้อนได้จากหลายธุรกิจ เช่น โนเกียที่ไม่สนใจการเข้ามาในตลาดของสมาร์ทโฟน หรือการเข้ามาของ แบล๊กเบอร์รี่ เพราะเชื่อว่าคนจะยังใช้โทรศัพท์เพื่อโทรมากกว่าการใช้ส่งข้อมูล

กว่าจะรู้ตัวก็เมื่อธุรกิจเจ๊งไปแล้ว

ยกตัวอย่าง เช่น ธุรกิจโรงแรมแม้มองโอกาสจากอีคอมเมิร์ซ มีการทำเว็บไซต์ให้คนจองห้องพัก แต่ปัจจุบันลูกค้าจองผ่าน Hotel.com Agoda Booking.com และ Expedia เป็นธุรกิจไม่ต้องมีการลงทุนและแบกรับความเสี่ยง ทั้งยังมีกำไรกว่า 30% ส่วนธุรกิจโรงแรมเอง มีกำไรไม่ถึง 10%

ธุรกิจค้าปลีกก็ได้รับผลกระทบ อย่างเมซี ห้างใหญ่ในสหรัฐมีการเร่งปิดห้าง เพราะผู้บริโภคเลือกการช้อปออนไลน์มากขึ้นเช่นเดียวกัน รวมทั้งธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเมนต์ ร้านบล็อกบัสเตอร์ร้านเช่าวิดีโอชื่อดัง ก็ปิดสาขาและย้ายแพลตฟอร์มไปอยู่บนออนไลน์

“เอสซีบีไม่ได้กลัวธนาคารอื่น เพราะธุรกิจธนาคารพาณิชย์แข่งขันกันมาอย่างดุเดือดตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา เขายกมือซ้ายมาเราก็รู้ว่าเขากำลังจะต่อยหมัดซ้าย แต่ที่เรากลัวคือ แอปเปิล ซัมซุง อเมซอน กูเกิล อาลีบาบา วีแชต จะกลายมาเป็นคู่แข่ง” อรพงศ์ให้ความเห็น

พร้อมบอกว่า ตอนนี้ธุรกิจธนาคารกำลังชนภูเขาน้ำแข็งที่ชื่อว่าบล็อกเชน อาจจะมาเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกรรมการเงินและรูปแบบธุรกิจของธนาคารไปเลย นอกจากนี้ยังมีคราวด์ฟันดิ้ง (crowdfunding) หรือเพียร์ ทู เพียร์ (peer to peer) ต่อไปผู้บริโภคจะสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้โดยไม่จำเป็นต้องผ่านธนาคาร

ดังนั้น ดิจิทัล เวนเจอร์ส จึงต้องติดตามพัฒนาการของฟินเทคทั่วโลก และต้องเร็ว เมื่อเห็นว่าเขากำลังทำอะไร ต้องรีบคิดต่อยอดธุรกิจในสิ่งที่มีความเป็นไปได้ และรูปแบบธุรกิจของธนาคารต่อไปคืออะไร จากเดิมเน้นการประชุมหารือ แต่ตอนนี้ทดลองลงมือทำเลย ดิจิทัล เวนเจอร์ส จึงเป็นห้องทดลองของธนาคาร อาจจะทำในวงจำกัดก่อนนำไปใช้จริงในวงกว้าง ปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทยมีวิสัยทัศน์ทันสมัยและเห็นความจำเป็นว่าธุรกิจธนาคารจะต้องมีการปฏิวัติ จึงเปิดกว้างให้ธนาคารทดลองทำสิ่งใหม่ๆ ผ่านศูนย์ทดสอบและพัฒนานวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีใหม่มาสนับสนุนการให้บริการทางการเงิน (Regulatory Sandbox)

อย่างไรก็ตาม ฟินเทคที่มีการคิดค้นพัฒนาขณะนี้ยังเป็นเหมือนชิ้นส่วนจิ๊กซอว์กระจัดกระจายอยู่ จะต้องมีผู้นำจิ๊กซอว์เหล่านี้มาต่อเป็นภาพ คนต่อจิ๊กซอว์อาจจะเป็นธนาคารใดธนาคารหนึ่งก็ได้ หรือจะเป็นฟินเทค

แต่เชื่อว่าหากชิ้นส่วนเหล่านี้มาประกอบกันสำเร็จจะทำให้เห็นการเปลี่ยน แปลงธุรกิจการเงินมากมาย ตอนนี้เอสซีบีเริ่มต่อจิ๊กซอว์แล้วเพื่อพัฒนารูปแบบธุรกิจใหม่ คาดว่าจะเกิดขึ้นภายใน 3 ปีข้างหน้านี้แน่นอน

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความคิดเห็นจาก คุณอรพงศ์ เทียนเงิน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส หนึ่งในวิทยากรที่จะมาบอกเล่าไอเดียดีๆ ในงานสัมมนาพิเศษ เนื่องในโอกาสก้าวสู่ 40 ปีหนังสือพิมพ์มติชน หัวข้อ “FINTECH : นวัตกรรมการเงินเรื่องใกล้ตัวที่ต้องรู้” จัดขึ้นในวันที่ 14 มิถุนายน 2560 ณ ห้องบอลรูม ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ในงานยังได้รับฟังมุมมองภาครัฐจาก นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

รวมทั้งนายธนาคารอีกหลายท่านจะมาแชร์ประสบการณ์ ถ้าไม่อยากตกเทรนด์ พลาดไม่ได้เลยทีเดียว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image