สุจิตต์ วงษ์เทศ: กระรอกรู้โพรงดี แต่ชี้โพรงที่เหมาะสมให้กระรอก

วิธีใส่ถุงยางอนามัยในวิชาเพศศึกษา (ภาพจาก https://www.matichon.co.th/news

“ชี้โพรงที่เหมาะสมให้กระรอก”

ผมได้ยินแว่วๆ จากโทรทัศน์ช่องอะไรก็ไม่รู้ (เพราะไม่ลืมตาดู) ที่เสนอข่าวเกี่ยวกับการสอนเพศวิถีศึกษาของสถานศึกษาในไทย

ได้ยินแล้วชอบมากๆ เลยจำไว้ใช้ตอบโต้พวกผู้ใหญ่ไก่เขี่ยทั้งหลายที่มักกล่าวโทษการสอนเรื่องเพศในโรงเรียนว่า “ชี้โพรงให้กระรอก” ในความหมายเชิงลบว่าชี้ช่องทางให้นักเรียนมีเซ็กซ์

นักเรียนยุคนี้ตั้งแต่ชั้นประถม เห็นโพรงทะลุปรุโปร่งแล้วในโซเชียลนานาประเภท ไม่ต้องรอใครชี้ ของพรรค์นี้ไม่ต้องบอกและไม่ต้องสอน

Advertisement

แต่จำเป็นต้องชี้โพรง “ที่เหมาะสม” ให้นักเรียนทุกระดับ  เพราะความหิวกระหายจนไม่ทันเลือกสรร อาจจะเป็นภาระพ่อแม่ผู้ปกครองจนถึงสังคมโดยรวม

เพราะโพรงที่รู้จักทั่วไปอาจไม่เหมาะ หรืออาจมีโรคร้ายอยู่ด้วย ซึ่งหลีกเลี่ยงหรือป้องกันได้ โดยไม่ต้องหลีกเลี่ยงหรือเลิกมีเซ็กซ์ก่อนแต่งงานเพื่อความหฤหรรษ์

ทัศนคติทางเพศเชิงลบของเด็กไทย

Advertisement

เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพฯ ศธ.ร่วมกับศูนย์ศึกษานโยบายสาธารณสุข สวัสดิการและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) และองค์การยูนิเซฟ จัดแถลงข่าวผลการวิจัยเพื่อทบทวนการสอนเพศวิถีศึกษาในสถานศึกษาในไทย

นายติโหมะ ทีโอเจนิน หนึ่งในทีมวิจัยจากศูนย์ศึกษาฯ มม. พบผลวิจัยที่สำคัญว่า นักเรียนชายอาชีวศึกษาร้อยละ 41 เชื่อว่าสามีมีสิทธิทุบตีภรรยาได้หากพบว่าภรรยาไม่ซื่อสัตย์ ขณะที่นักเรียนชายชั้น ม.1-3 ประมาณครึ่งหนึ่ง เชื่อว่าการมีความสัมพันธ์ทางเพศกับผู้ที่มีเพศเดียวกันเป็นสิ่งผิด

กระรอกรู้ดี คำถามเรื่องเพศศึกษาที่วัยรุ่นสงสัย แสดงออกผ่านโลกโซเชียล (ภาพจาก https://pantip.com

มีนักเรียนเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ตอบคำถามเกี่ยวกับการมีประจำเดือนและรอบเดือนได้อย่างถูกต้อง ส่วนนักเรียนหญิงที่เคยมีเพศสัมพันธ์แล้วหลายคนบอกว่า ยาคุมฉุกเฉินเป็นวิธีหลักในการคุมกำเนิด เช่นเดียวกับนักเรียนชายจำนวนมากไม่ต้องการใช้ถุงยางอนามัย

“แม้ ศธ.จะสอนเพศศึกษามาตั้งแต่ปี 2521 แต่สถานศึกษาไทยแทบทุกแห่งยังสอนเพศวิถีศึกษาที่ไม่รอบด้าน โดยมักเน้นย้ำเพียงหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับสรีระ พัฒนาการทางเพศ การหลีกเลี่ยงมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน และการป้องกันตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ นอกจากนี้ยังพบว่าครูเกินครึ่งหนึ่งไม่ได้รับการอบรมในการสอนเพศวิถีศึกษา ทำให้การสอนมักใช้การบรรยายแทนการจัดกิจกรรมที่จะเอื้อให้เด็กได้คิด วิเคราะห์และตั้งคำถามเชิงลึก” นายติโหมะกล่าว

นางวาเลรี ตาตอน รองผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า รายงานวิจัยดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าการสอนเพศศึกษาในโรงเรียนไทยยังไม่ให้ความสำคัญกับประเด็นที่สำคัญต่างๆ เช่น สิทธิทางเพศ ความเสมอภาคทางเพศ ความหลากหลายทางเพศ และการเคารพสิทธิของผู้อื่น ส่งผลให้นักเรียนจำนวนมากมีทัศนคติเชิงลบ โดยนักเรียนยังคงไม่เห็นด้วยกับความเท่าเทียมกันทางเพศและสิทธิทางเพศ แต่กลับยอมรับความรุนแรงในครอบครัวในบางกรณี

[มติชนรายวัน วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2560 หน้า 12]

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image